22 ม.ค. เวลา 10:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เปิดปมฉาวฝังใจ 'JPMorgan' ถูกหลอกซื้อกิจการลวงโลก กว่า 6 พันล้าน

175 ล้านดอลลาร์ หรือราว 6,200 ล้านบาท คือเงินที่ “JPMorgan Chase” ธนาคารใหญ่ที่สุดของสหรัฐ สูญเสียไปกับการซื้อกิจการลวงโลกเมื่อปี 2564 ที่ชื่อว่า “Frank” แพลตฟอร์มให้บริการด้านการศึกษาของ “ชาร์ลี เจวิซ” (Charlie Javice) หญิงสาวที่ขณะนั้นยังอายุไม่ถึง 30 ปี
1
หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องราวของ “เอลิซาเบธ โฮล์มส” ผู้ก่อตั้งบริษัท Theranos ที่ผลิตเครื่องตรวจเลือดโดยอ้างว่าตรวจโรคได้สารพัด แต่ผลปรากฏว่าใช้ไม่ได้จริง และทำให้เหล่านักลงทุนสูญเงินไปเป็นจำนวนมาก ไม่นึกว่าเรื่องราวดังกล่าวดูเหมือนจะซ้ำรอย และเกิดขึ้นกับธนาคารยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง JPMorgan
2
อะไรทำให้ธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของสหรัฐและมีนักวิเคราะห์ระดับเทพจำนวนมาก ตัดสินใจซื้อกิจการลวงโลกของเจวิซได้
เรื่องราวเริ่มต้นจาก “เจวิซ” ที่เพิ่งจบสาขาการเงิน จาก Wharton School ของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐ ได้เห็นปัญหาของเหล่านักศึกษาอเมริกัน ใฝ่ฝันเรียนต่อในมหาวิทยาลัย แต่ติดปัญหาเรื่องเงิน อีกทั้งขั้นตอนการขอเงินทุนต่าง ๆ ก็ยุ่งยากด้วย
ด้วยเหตุนี้ เจวิซจึงก่อตั้งสตาร์ทอัพที่ชื่อ “Frank” ขึ้นมา แพลตฟอร์มที่ช่วยให้นักศึกษาเข้าถึงทุนการศึกษาจากภาครัฐและเอกชนได้ง่ายขึ้น พร้อมมีคอร์สสอนออนไลน์ที่เป็นประโยชน์ต่าง ๆ Frank เริ่มให้บริการตั้งแต่ปี 2560 ไม่นึกว่าเวลาผ่านไปเกือบ 4 ปีจนถึงปี 2564 สตาร์ทอัพนี้จะมีลูกค้ามากถึง 4 ล้านคน จากกว่า 6,000 สถาบันการศึกษา
นิตยสารด้านธุรกิจชื่อดังอย่าง Forbes ถึงขั้นจัดให้ “เจวิซ” ติดอันดับ “นักธุรกิจอายุน้อยกว่า 30 ปีที่มาแรง” รวมถึงสำนักข่าวต่าง ๆ ต่างพากันสัมภาษณ์เธอถึงความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย
1
จนกระทั่งความโด่งดังของเจวิซไปเข้าตาธนาคาร JPMorgan ที่ต้องการขยายการเติบโต โดยมองว่า เจวิซมีฐานข้อมูลนักศึกษาหลายล้านคน ถ้าทำให้นักศึกษาและผู้ปกครองเหล่านี้กลายเป็นลูกค้าใหม่ของธนาคาร ก็จะช่วยสร้างกำไรให้ธนาคารไม่น้อย
1
ดังนั้น JPMorgan จึงเข้าเจรจากับเจวิซ เพื่อขอซื้อกิจการ โดยดีลนี้จะทำให้บริษัท Frank อยู่ภายใต้เครือธนาคารรายนี้ แต่เจวิซยังคงเป็นหัวหน้างานดูแลแพลตฟอร์มดังกล่าว สุดท้ายปรากฏว่าดีลนี้สำเร็จ JPMorgan ตกลงซื้อกิจการ Frank ในเดือน ก.ย. 2564 ด้วยราคา 6,200 ล้านบาท ส่งผลให้เจวิซเป็นเศรษฐีในชั่วข้ามคืน
3
📌​ความแตก! กลายเป็นสตาร์ทอัพลวงโลก
เวลาผ่านไปเป็นเดือน เรื่องก็แดงขึ้นเมื่อธนาคารทดสอบระบบ Frank โดยลองส่งข้อมูลประชาสัมพันธ์ไปถึงอีเมลลูกค้า 4 แสนคน ปรากฏว่า 70% ของอีเมลที่ส่งไปนั้นถูกตีกลับ นั่นหมายความว่า กรอกที่อยู่อีเมลผิด หรืออีกข้อหนึ่งคือ อีเมลเหล่านั้นไม่มีอยู่จริง!
1
เมื่อ JPMorgan รู้แล้วว่าตัวเองถูกหลอก จึงเข้าตรวจสอบเชิงลึกก็พบว่า บริษัท Frank ของเจวิซที่อ้างว่ามีลูกค้า 4 ล้านราย แท้ที่จริงแล้วมีไม่ถึง 3 แสนราย ธนาคารจึงปิดแพลตฟอร์ม Frank แม้จะเสียเงินซื้อไปแล้ว 6,200 ล้านบาท และยื่นฟ้องเจวิซในฐานฉ้อโกงธนาคาร
4
JPMorgan ระบุอีกว่า เจวิซจ่ายเงินให้นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) เพื่อปลอมแปลงรายละเอียดข้อมูลลูกค้า ซึ่งสิ่งนี้ก็กลายเป็นคำถามของใครหลาย ๆ คนว่า ธนาคารมีทีมตรวจสอบมูลค่าและสถานะกิจการ (Due Diligence Team) แต่เหตุใดถึงปล่อยให้หลุดรอดไปได้จนกระทั่งซื้อขายกิจการกันสำเร็จ
3
เจมี ไดมอน (Jamie Dimon) ซีอีโอของ JPMorgan เอ่ยถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า การซื้อกิจการ Frank นับเป็น “ข้อผิดพลาดครั้งใหญ่” ของธนาคาร
2
ด้านเจวิซ ปฏิเสธข้อกล่าวหาและได้จ้างทนายฟ้องกลับธนาคาร JPMorgan โดยอ้างว่า ธนาคารปั้นเรื่องเพื่อไล่เธอออก และทำให้เธอเสียชื่อเสียง
2
สำหรับตอนนี้ นอกจากธนาคาร JPMorgan เป็นโจทก์ฟ้องเจวิซแล้ว ยังมีอัยการสหรัฐร่วมยื่นฟ้องด้วย ซึ่งเมื่อรวมคดีทั้งหมดของเธอแล้ว มี 4 ข้อหาดังนี้
1
1. การฉ้อโกงหลักทรัพย์ (Securities Fraud)
2. การฉ้อโกงผ่านการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ (Wire Fraud)
3. การฉ้อโกงธนาคาร (Bank Fraud)
4. การสมรู้ร่วมคิดเพื่อก่ออาชญากรรม (Conspiracy)
ขณะนี้คดีกำลังอยู่ในช่วงการต่อสู้กัน ถ้าเจวิซถูกตัดสินว่ามีความผิดตามข้อกล่าวหาทั้งหมด จะต้องโทษจำคุกนานสูงสุดถึง 30 ปี
เรื่องราวทั้งหมดนี้กลายเป็นอุทาหรณ์ว่า การลงทุนในบริษัทใด ๆ ก็ตาม ต่อให้บริษัทนั้นมีนวัตกรรมสุดวิเศษ เป็นที่รู้จักจากผู้มีชื่อเสียงอย่าง เอลิซาเบธ โฮล์มส เคยนั่งเสวนาร่วมกับบิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ, เจวิซเคยติดอันดับนักธุรกิจอายุน้อยมาแรงของ Forbes หรือมีนักวิเคราะห์ที่น่าเชื่อถือมาชี้เป้าหมายราคาสินทรัพย์เสี่ยงต่าง ๆ ก็อย่าเพิ่งรีบลงทุนตาม แต่ควรศึกษาด้วยตัวเองอย่างรอบคอบก่อน
เพราะหากเกิดความเสี่ยงหรือกรณีอื้อฉาวขึ้นมา คนที่จะเสียหายอาจไม่ใช่คนที่ชี้แนะ แต่เป็นตัวนักลงทุนเอง
โฆษณา