29 ม.ค. เวลา 06:09 • ประวัติศาสตร์

“ปีศาจ 21 หน้า (Monster with 21 Faces)” อาชญากรรมที่ส่งผลกระทบต่อวงการขนมหวานญี่ปุ่น

คดีของ “ปีศาจ 21 หน้า (Monster with 21 Faces)” เป็นคดีที่โด่งดังอย่างมากในญี่ปุ่นและกระทบต่ออุตสาหกรรมขนมหวานในญี่ปุ่น
1
ในยุค 80 (พ.ศ.2523-2532) ได้เกิดกลุ่มอาชญากรรมที่คุกคามบริษัทขนมหวานในญี่ปุ่น นั่นคือ “Ezaki Glico” และ “Morinaga” รวมทั้งบริษัทอาหารอื่นๆ
1
อาชญากรกลุ่มนี้ข่มขู่เรียกร้องเงิน มีการลักพาตัวผู้บริหาร และเหิมเกริมถึงขั้นที่แอบผสมไซยาไนด์เข้าไปในขนมที่ส่งไปวางจำหน่ายในร้านขนม
1
เมื่อคดีนี้จบลง ก็ปรากฎว่าบริษัทขนมต่างเสียหาย สูญเสียรายได้และกำไรมากมาย และยังสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าแก่ตำรวจ
และจนถึงทุกวันนี้ คดีนี้ก็ยังไม่สามารถปิดได้
เรื่องราวนี้เป็นอย่างไร ลองมาดูกันครับ
1
บริษัท “Ezaki Glico” หรือที่คนไทยจะคุ้นเคยในนามของ “กูลิโกะ” เป็นบริษัทขนมชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่น เจ้าของขนมหลายแบรนด์ รวมทั้งแบรนด์ที่เราน่าจะคุ้นเคยกันดีอย่าง “ป๊อกกี้ (Pocky)”
1
สำนักงานใหญ่ Ezaki Glico ที่โอซาก้า
ในวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ.1984 (พ.ศ.2527) บริษัทนี้ก็ได้กลายเป็นเป้าความสนใจของสื่อ ไม่ใช่จากขนมชนิดใหม่ที่ทำ แต่มาจากคดีอาชญากรรมที่เป็นที่จับตามอง
ในค่ำคืนนั้น ได้มีชายใส่หน้ากากสองคนบุกเข้าไปในบ้านพักของ “คัทสึฮิสะ เอซากิ (Katsuhisa Ezaki)” ประธานบริษัท Glico และได้ทำการมัดตัวภรรยาและลูกสาวของเอซากิ ก่อนจะลากตัวเอซากิในสภาพเปลือยเปล่าออกมาจากห้องอาบน้ำ โดยในขณะนั้นเอซากิกำลังอาบน้ำ ก่อนจะนำตัวเอซากิไปไว้หลังรถ และขับรถหายไปในความมืด
1
ผู้ที่ลักพาตัวได้เรียกค่าไถ่เป็นจำนวนสูงถึง 1,000 ล้านเยน (ประมาณ 240 ล้านบาท) และทองคำแท่งหนัก 100 กิโลกรัม ซึ่งในภายหลัง เอซากิสามารถหลบหนีออกมาได้ก่อนที่จะมีการจ่ายค่าไถ่ แต่อาชญากรรมของโจรกลุ่มนี้เพิ่งจะเริ่มขึ้นเท่านั้น
คัทสึฮิสะ เอซากิ (Katsuhisa Ezaki)
หลังจากนั้นไม่นาน มีการวางเพลิงรถยนต์ของโรงงาน Glico จำนวนหกคัน ก่อนที่จะมีบุคคลปริศนาส่งกรดไฮโดรคลอริกจำนวนหนึ่งตู้คอนเทนเนอร์มาให้แก่บริษัท รวมทั้งมีจดหมายข่มขู่ส่งมาอีกจำนวนหนึ่ง และสื่อมวลชนก็ได้นำจดหมายนี้ออกเผยแพร่
2
“ถึงเหล่าตำรวจหน้าโง่ พวกแก่นั้นโง่จริงๆ หรือ? พวกแกมีกำลังคนตั้งเยอะแยะแต่มัวทำอะไรอยู่”
นี่คือเนื้อความในจดหมายที่ถูกส่งมาในวันที่ 8 เมษายน ค.ศ.1984 (พ.ศ.2527) และในจดหมายยังมีการทิ้งท้ายด้วยประโยคที่ว่า
“หรือว่าพวกเราควรจะลักพาตัวผู้บัญชาการตำรวจด้วยดีนะ?”
ในจดหมายนั้นลงชื่อผู้เขียนว่า “ปีศาจ 21 หน้า (Monster with 21 Faces)”
1
ภาพสเก็ตช์ผู้ต้องสงสัยว่าคือ ปีศาจ 21 หน้า (Monster with 21 Faces)
ตำรวจยังไม่สามารถจับตัวผู้กระทำผิดได้ และในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมของปีนั้น ปีศาจ 21 หน้าก็ยิ่งเหิมเกริม โดยปีศาจ 21 หน้าได้อ้างว่าตนนั้นได้ใส่ไซยาไนด์เข้าไปยังขนมของ Glico ที่ถูกส่งไปยังร้านค้าต่างๆ จำนวนหนึ่ง
2
เมื่อเป็นเช่นนี้ ความโกลาหลก็ตามมา เกิดความตื่นกลัวไปทั่วญี่ปุ่น ปีศาจ 21 หน้าก็ไม่ได้ระบุว่าใส่ไซยาไนด์ไปในขนมอันไหน ทำให้ Glico ต้องเรียกคืนสินค้าทั้งหมด
Glico ขาดทุนและเสียรายได้ไปมหาศาล หนักถึงขั้นที่ต้องปลดคนงานออกกว่า 1,000 คน และตัวของเอซากิก็ออกมาเปิดเผยในภายหลังว่าปีศาจ 21 หน้านี้ทำให้บริษัทต้องเสียรายได้ไปมหาศาล หากคิดเป็นเงินไทยจะอยู่ที่ประมาณ 4,600 ล้านบาท
1
ตำรวจก็เร่งทำงานอย่างหนัก แต่ก็ยังไม่สามารถจับตัวปีศาจ 21 หน้าได้
มิถุนายน ค.ศ.1984 (พ.ศ.2527) ดูเหมือนอาชญากรกลุ่มนี้คิดจะวางมือ โดยในจดหมายของปีศาจ 21 หน้า ได้เขียนมาว่า
“ประธานบริษัท Glico ก็เดือดร้อนมานานพอแล้ว และในกลุ่มของเราก็มีเด็กอายุสี่ขวบ และทุกๆ วัน เขาก็จะร้องอยากกินขนม Glico เป็นเรื่องน่าเศร้าที่จะต้องทำให้เด็กร้องไห้เพราะไม่ได้กินขนมที่ชอบ”
ดูเหมือนผู้ประกอบการธุรกิจขนมในญี่ปุ่นจะกลับมาทำงานได้อย่างปกติสุขซะที แต่ปีศาจ 21 หน้าก็ยังไม่ได้วางมือซะทีเดียว หากแต่เปลี่ยนเป้าหมายไปยังบริษัทอื่น
กันยายน ค.ศ.1984 (พ.ศ.2527) บริษัท “Morinaga” อีกหนึ่งบริษัทขนมยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น ก็ได้รับจดหมายข่มขู่เรียกเงินจากปีศาจ 21 หน้า หากแต่บริษัท Morinaga ก็ไม่ยอมจ่าย ทำให้ปีศาจ 21 หน้าข่มขู่หนักกว่าเดิม
1
มีจดหมายอีกฉบับส่งมาถึงบริษัท เนื้อความว่า
“เราได้ผสมส่วนผสมพิเศษลงไป รสชาติของโพแทสเซียมไซยาไนด์อาจจะขมซักหน่อยนะ”
ในจดหมายนั้นยังอ้างว่าพวกตนได้ผสมสารพิษนี้ลงไปในขนมกว่า 20 กล่องซึ่งวางขายตั้งแต่ที่ฮาคาตะถึงโตเกียว แต่ไม่ต้องห่วง พวกตนได้แปะโน้ตไว้บนกล่องให้รู้
ในเวลาไม่นาน ตำรวจก็พบกล่องขนมผสมยาพิษซึ่งมีโน้ตแปะอยู่จริงๆ โดยในโน้ตนั้นเขียนว่า
1
“อันตราย มียาพิษ คุณจะตายหากคุณกินมัน ชายลึกลับที่มี 21 หน้า”
ในช่วงเวลาหลายเดือนที่ปีศาจ 21 หน้าออกอาละวาด ตำรวจก็ทำงานอย่างหนักเพื่อหาทางเปิดโปงและลากคอปีศาจ 21 หน้ามาลงโทษให้ได้ มีการตรวจสอบกล้องวงจรปิดในหลายสถานที่
ในวงจรปิดหนึ่ง พบชายคนหนึ่งเอาขนม Glico ขึ้นไปวางบนชั้น ก่อนที่ในเวลาต่อมา ตำรวจจะสังเกตเห็นชายน่าสงสัยในช่วงเวลาที่ปีศาจ 21 ข่มขู่เรียกเงิน หากแต่ก็ไม่สามารถตามตัวทั้งคู่ได้
คดีลากยาวมาถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ.1985 (พ.ศ.2528) และความกดดันต่างๆ ก็ถาโถมสู่ตำรวจ และหนักซะจนทำให้ “โชจิ ยามาโมโตะ (Shoji Yamamoto)” ผู้บัญชาการตำรวจจังหวัดชิงะ ทนความกดดันไม่ไหว เอาน้ำมันก๊าดราดตนเองและจุดไฟเผา ฆ่าตัวตาย
1
หลังการเสียชีวิตของยามาโมโตะ ก็ได้มีจดหมายจากปีศาจ 21 หน้าส่งมา โดยปีศาจ 21 หน้ากล่าวถึงการเสียชีวิตของยามาโมโตะว่า
“เขาช่างโง่เขลาซะจริง”
และเนื้อความในจดหมายก็กล่าวอีกว่า
“พวกเราตัดสินใจที่จะแสดงความเสียใจ เราตัดสินใจที่จะเลิกการทรมานเหล่าบริษัทอาหาร หากมีใครข่มขู่บริษัทอาหารที่ใดอีก นั่นไม่ใช่พวกเราแต่คือคนที่ลอกเลียนแบบ”
นั่นคือครั้งสุดท้ายที่ตำรวจได้รับเบาะแสเรื่องปีศาจ 21 หน้า และก็ไม่มีใครได้รับพิษดังคำขู่ อีกทั้งคณะผู้ก่อการก็ไม่เคยออกมารับเงินค่าไถ่ที่ข่มขู่จริงๆ
ถึงแม้ว่าตำรวจจะทำการสอบปากคำผู้ต้องสงสัยไปกว่า 125,000 คน ไล่ตั้งแต่ยากูซ่าไปจนถึงชาวเกาหลีเหนือ สืบจากเบาะแสอีกนับพัน แต่จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าใครคือปีศาจ 21 หน้ากันแน่
และในทุกวันนี้ คดีนี้ก็หมดอายุความไปแล้ว นั่นหมายความว่าต่อให้ปีศาจ 21 หน้าออกมาเปิดเผยตัว ตำรวจก็ไม่สามารถจับตัวไปลงโทษได้อีกแล้ว
1
และคดีปีศาจ 21 หน้าก็ได้กลายเป็นหนึ่งในคดีปริศนาในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมาจนถึงทุกวันนี้
3
โฆษณา