27 ม.ค. เวลา 23:38 • ความคิดเห็น

Outlive ตอนที่ 3 - ความหวังของการรักษามะเร็งให้หายขาด

ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา พัฒนาการด้านการแพทย์ช่วยให้การเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจของคนอเมริกันลดลงถึง 2 ใน 3 แต่กับโรคมะเร็งกลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น
แม้ประธานาธิบดี Richard Dixon จะเคยประกาศสงครามกับมะเร็ง (War on cancer) เมื่อปี 1971 โดยทุ่มงบประมาณไปมากมายและตั้งเป้าไว้ว่าจะปราบโรคร้ายนี้ภายใน 5 ปี แต่ผลก็ชัดเจนแล้วว่าสงครามครั้งนั้นแทบทำอะไรมะเร็งไม่ได้เลย เพราะนอกจากโรคลูคิเมียแล้ว อัตราความสำเร็จในการรักษาโรคมะเร็งของเราแทบไม่ได้ดีขึ้นเลยในครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา
แม้โอกาสการเป็นโรคมะเร็งจะมีความเสี่ยงสูงกว่าในผู้สูงอายุ แต่ปรากฎว่าอัตราการตรวจพบ และอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งของคนวัยหนุ่มสาวนั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ
ในปี 2017 มีคนวัย 45-64 ที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากกว่าคนที่เสียชีวิตจากหัวใจวาย สโตรค และโรคตับรวมกันเสียอีก
Peter Attia ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ บอกว่าอาวุธสำคัญที่สุดที่เราจะใช้สู้กับมะเร็งได้ คือการตรวจมันให้พบตั้งแต่เนิ่นๆ
มะเร็งที่เป็นก้อนเนื้องอกนั้นมีอันตรายก็จริง แต่ยังพอผ่าตัดออกมาได้ และไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต
เวลาเราได้ยินว่ามีคนเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก แท้จริงแล้วเขามักจะเสียชีวิตเพราะว่ามะเร็งมันลุกลามไปยังอวัยวะสำคัญอื่นๆ ที่ร่างกายขาดไม่ได้ เช่นตับ ปอด สมอง และกระดูก
เมื่อมะเร็งถึงขั้นระยะลุกลามเมื่อไหร่ หมอจะไม่กล้าใช้คำว่ารักษาจนหายดี (cured) แค่มักจะใช้คำว่า “มะเร็งสงบลง” (remission) ซึ่งส่วนใหญ่ก็ตั้งเป้าไว้แค่ 5 ปีหรือ 10 ปีเท่านั้น และมีไม่น้อยที่จะกลับมาเป็นอีก
ดังนั้น หากเราตรวจเจอมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น โอกาสในการรักษาหายนั้นจะสูงขึ้นมาก เพราะเซลล์มะเร็งยังมีไม่เยอะและยังไม่ได้กลายพันธุ์ไปมากนัก
มะเร็งที่เราสามารถตรวจเจอตั้งแต่เนิ่นๆ ก็เช่น
มะเร็งปากมดลูก ด้วยการทำ pap smear
มะเร็งเต้านม ด้วยการทำ mammogram/MRI/Ultrasound
มะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยการทำ colonoscopy ตั้งแต่อายุ 45 ปีซึ่งถ้าตรวจเจอติ่งเนื้อ (polyp) ก็สามารถตัดออกมาได้เลย เพราะมะเร็งลำไส้ทุกชิ้นเริ่มต้นจากติ่งเนื้อทั้งนั้น
.
=====
ทำความรู้จักกับมะเร็ง
=====
สิ่งที่ทำให้มะเร็งเป็นโรคที่น่ากลัว ก็คือการแพทย์ของเรายังความรู้ไม่มากนักว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไรและมันลุกลามได้อย่างไร
เซลล์มะเร็งนั้นแตกต่างจากเซลล์ปกติอยู่สองอย่าง
คนมักจะคิดว่าเซลล์มะเร็งโตเร็วกว่าเซลล์ปกติ แต่ความจริงแล้วเซลล์มะเร็งไม่ได้โตเร็วกว่าเซลล์อื่นๆ เพียงแต่ว่ามันไม่ยอมหยุดโตต่างหาก
ในเซลล์ปกติยีนส์ที่มีชื่อว่า PTEN จะสั่งให้เซลล์หยุดการเติบโตหรือหยุดการแบ่งตัว แต่ในเซลล์มะเร็งยีนส์ตัวนี้กลับหายไปหรือกลายพันธุ์ไป
ความแตกต่างที่สำคัญอีกข้อก็คือเซลล์ปกติจะอยู่ในที่ของมัน เซลล์ตับก็จะอยูเฉพาะที่ตับ เซลล์ปอดก็จะอยู่เฉพาะที่ปอด แต่เซลล์มะเร็งนั้นกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้ เราเรียกสิ่งนี้ว่า metastasis การแพร่กระจายตัวไปยังอวัยวะที่ร่างกายขาดไม่ได้อย่างสมองหรือปอดนี่แหละที่ทำให้เซลล์มะเร็งอันตรายยิ่งนัก
1
เนื่องจากมะเร็งเกิดจากการกลายพันธุ์ของเซลล์ จึงเคยมีความเชื่อว่าหากเราศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรมของมะเร็งก็น่าจะช่วยให้เรารับมือกับมันได้ เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วจึงเกิดโครงการ The Cancer Genome Atlas ที่แกะรหัสพันธุกรรมหรือการเปลี่ยนแปลงในยีนส์ในโรคมะเร็งทั้งหลาย
แต่เมื่อมีการตีพิมพ์ผลลัพธ์เบื้องต้นออกมาเมื่อปี 2008 มันกลับไม่ได้ช่วยให้เรารู้จักมะเร็งมากขึ้นแต่อย่างใด เพราะเนื้อร้ายแต่ละก้อนมีการกลายพันธุ์ของยีนส์นับร้อยรูปแบบ ไม่สามารถบอกได้เลยว่าการกลายพันธุ์ในรูปแบบใดที่จะนำไปสู่โรคมะเร็ง
1
ผู้หญิงสองคนที่เป็นมะเร็งเต้านมในระยะเดียวกัน เมื่อตรวจสอบรหัสพันธุกรรมของก้อนมะเร็งแล้วกลับแทบไม่มีอะไรเหมือนกันเลย การจะหาสูตรยาที่จะรักษาผู้หญิงทั้งสองคนนี้จึงเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้
1
.
=====
เคมีบำบัด
=====
วิธีการรักษามะเร็งระยะเริ่มต้น ก็คือการผ่าตัดเนื้อร้ายออกไป แต่หากมะเร็งเข้าสู่ระยะลุกลาม ก็ต้องอาศัยเคมีบำบัด (Chemotherapy) เข้ามาช่วย
จริงๆ แล้วเซลล์มะเร็งนั้นฆ่าไม่ยาก ผู้เขียนบอกว่าสารเคมีที่อยู่ในบ้านเราอย่างน้ำยาล้างกระจกหรือน้ำยาล้างท่อตันก็ฆ่าเซลล์มะเร็งได้แล้ว แต่สารเคมีเหล่านี้ก็สามารถฆ่าเซลล์อื่นๆ ได้เช่นกัน หลักการสำคัญก็คือเราจะใช้สารเคมีฆ่าเซลล์มะเร็งอย่างแยกแยะ (selective killing) ได้อย่างไร
2
การทำเคมีบำบัด ก็คือการฉีด “ยาพิษ” เข้าไปจัดการวงจรการแยกตัวของเซลล์ และเนื่องจากเซลล์มะเร็งนั้นแยกตัวบ่อยกว่าเซลล์ทั่วไป มันจึงได้รับผลกระทบจากยาคีโมมากกว่าเซลล์ปกติ แต่ก็มีเซลล์บางชนิดที่แยกตัวบ่อยเหมือนกัน เช่นเซลล์ที่อยู่ในกระเพาะอาหารและเซลล์ในรูขุมขนบนศีรษะ นี่คือเหตุผลที่คนทำคีโมแล้วผมร่วง ท้องผูก หรือท้องเสีย
1
แต่เซลล์มะเร็งที่รอดชีวิตจากคีโมหนแรกไปได้ ก็มีแนวโน้มที่จะกลายพันธุ์และดื้อยา ไม่ต่างอะไรจากแมลงสาบที่อยู่ยงคงกระพัน
มะเร็งจึงเป็นเหมือนโรคที่ฆ่าไม่ตาย แต่ในปี 2011 นักวิจัยด้านมะเร็งชั้นแนวหน้าอย่าง Douglas Hanahan และ Robert Weinberg ก็ชี้ให้เห็นถึงจุดเด่น (ซึ่งจะกลายมาเป็นจุดอ่อน) ของมะเร็งอยู่สองอย่าง
หนึ่งคือเซลล์มะเร็งนั้นใช้กลูโคสสิ้นเปลือง
1
และสองคือเซลล์มะเร็งมักจะมีความสามารถหลบหลีกระบบภูมิคุ้มกัน
.
=====
การเผาผลาญของมะเร็ง
=====
ATP (Adenosine triphosphate) คือหน่วยพลังงานของเซลล์
1
โดยปกติ เซลล์จะใช้ออกซิเจนและ mitochondria (ไมโทคอนเดรีย) เพื่อเผาผลาญกลูโคส 1 โมเลกุลให้เป็น ATP 36 หน่วย กระบวนการนี้เรียกว่า OxPhos (Oxidative Phosphorylation) ซึ่งถือว่าเป็นการหายใจของเซลล์แบบแอโรบิก
แต่ในสภาวะที่ออกซิเจนมีไม่พอ เซลล์จะใช้ไม่ใช้ออกซิเจนและไม่ได้ใช้ไมโทคอนเดรีย แต่จะใช้กระบวนการ glycolysis (ไกลโคไลซิส) เพื่อเผาผลาญกลูโคส 1 โมเลกุลให้เป็น ATP 2 หน่วย
สังเกตว่า กระบวนการ OxPhos นั้นมีประสิทธิภาพสูงว่า glycolysis เพราะสร้าง ATP ได้มากกว่าถึง 18 เท่า ดังนั้นเซลล์ปกติจะใช้กระบวนการ OxPhos ในการเผาผลาญเสมอ ยกเว้นในตอนที่ออกซิเจนมีไม่พอ เช่นในช่วงที่ออกกำลังกายหนักๆ หรือที่เราเรียกว่า anaerobic นั่นเอง
2
แต่เซลล์มะเร็งไม่ได้เผาผลาญแบบนั้น ต่อให้เรานั่งอยู่เฉยๆ และมีออกซิเจนมากเกินพอ เซลล์มะเร็งก็ยังเผาผลาญผ่านกระบวนการ glycolysis ที่ได้ ATP เพียงน้อยนิดอยู่ดี
เมื่อเซลล์มะเร็งมีพฤติกรรมเช่นนี้ จึงต้องใช้กลูโคสสิ้นเปลืองกว่าเซลล์ปกติ ซึ่งคนที่ค้นพบพฤติกรรมนี้เป็นคนแรกคือนักสรีรวิทยาชาวเยอรมันชื่อ Otto Warburg และพฤติกรรมการเผาผลาญของเซลล์มะเร็งแบบนี้ก็ได้ชื่อว่า Warburg effect (ปรากฎการณ์วาร์บูร์ก)
หนึ่งในวิธีตรวจหามะเร็ง ก็คือการฉีดน้ำตาลกลูโคสที่เคลือบกัมมันตภาพรังสี (radioactively labeled glucose) เข้าไปในร่างกายของคนไข้ แล้วใช้เครื่อง PET Scan เพื่อดูว่ากลูโคสที่ฉีดเข้าไปนี้มันวิ่งไปที่ส่วนไหนในร่างกายเป็นพิเศษรึเปล่า (ซึ่งก็อาจจะเป็นจุดที่มีเซลล์มะเร็งนั่นเอง)
หนึ่งในสมมติฐานที่อธิบายว่าทำไมมะเร็งถึงใช้ glycolysis ก็คือ แม้กระบวนการนี้จะสร้างพลังงานเพียงน้อยนิด แต่มันก็จะสร้าง lactate (แลคเตท) และโมเลกุลเพิ่มขึ้นมาอีกหลายตัวที่เซลล์มะเร็งสามารถใช้เป็น building blocks ในการสร้างเซลล์ใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ส่วนพลังงาน ATP ที่ได้มานั้นเป็นแค่ของแถม
ผู้เขียนบอกว่า เมื่อเซลล์มะเร็งโปรดปรานกลูโคส ดังนั้นการเป็นเบาหวาน (น้ำตาลในเลือดสูง) จึงเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับและมะเร็งตับอ่อน
American Cancer Society ระบุว่าน้ำหนักตัวที่มากเกินไปนั้นเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญสำหรับโรคมะเร็ง เป็นรองแค่การสูบบุหรี่เท่านั้น
Lew Cantley ค้นพบว่า เอ็นไซม์ตัวหนึ่งที่ชื่อ PI3K (PI3-kinases) จะทำให้ปรากฎการณ์วาร์บูร์กเกิดได้ง่ายดายยิ่งขึ้นด้วยการ “เปิดประตูเซลล์” ให้กลูโคสเข้ามาหล่อเลี้ยงเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น ดังนั้นจึงมีการผลิตยาที่ใช้ระงับเอ็นไซม์ PI3K (PI3K inhibitors) เพื่อรักษาผู้ป่วยที่อาการกำเริบในมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและลูคิเมีย
และเนื่องจากมะเร็งชอบน้ำตาล ดังนั้นหากเรากินอาหารที่ไม่มีแป้งหรือน้ำตาล ก็น่าจะช่วยให้เราต่อสู้กับมะเร็งได้ดีขึ้น ในปี 2018 Lew Cantley และ Siddhartha Mukherjee ผู้เขียนหนังสือ The Emperor of All Maladies ได้ตีพิมพ์งานวิจัยที่ระบุว่า เมื่อนำหนูทดลองที่เป็นมะเร็งมาให้ยา PI3K inhibitor และให้กินอาหารแบบ ketogenic diet หนูเหล่านั้นมีผลตอบสนองต่อการรักษาที่ดีขึ้น
ยังมีการค้นพบด้วยว่า การให้อดอาหาร หรือทานอาหารแบบ fasting-like diet จะทำให้เซลล์ปกติทนทานกับการรักษาแบบคีโมได้ดียิ่งขึ้น และทำให้เซลล์มะเร็งอ่อนแอลง โดยในงานวิจัยของ de Groot และคณะในปี 2020 พบว่า จากการทดลองกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง 131 คน การให้อาหารแบบเลียนแบบการอดอาหาร (fasting-mimicking diet คือให้อาหารที่แคลอรีต่ำ แต่มีสารอาหารให้เพียงพอต่อร่างกาย) จะช่วยให้ผู้ป่วยตอบสนองต่อการคีโมได้ดี และรู้สึกดีกว่าทั้งทางร่างกายและจิตใจเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่กินอาหารตามปกติ
9
ซึ่งการค้นพบนี้ตรงข้ามกันเลยกับสิ่งที่แพทย์ปัจจุบันทำกัน คือให้กินอาหารให้เยอะๆ [ผมลองกูเกิ้ลดูในเว็บภาษาไทยก็ล้วนแต่แนะนำให้ “บำรุงร่างกายให้แข็งแรง” ก่อนทำคีโม ดังนั้นก็คงต้องแล้วแต่เราแล้วว่าเราจะเชื่อ conventional wisdom ที่ทำกันมานาน หรือจะเชื่องานวิจัยในหนังสือเล่มนี้]
.
=====
ภูมิคุ้มกันบำบัด
=====
ภูมิคุ้มกันนั้นมีระบบในการตรวจหาสิ่งแปลกปลอมในร่างกายอยู่แล้ว ถ้าเจอผู้รุกรานเมื่อไหร่ก็พร้อมส่งเม็ดเลือดขาวที่มีชื่อว่า T cell เข้าไปทำลายให้ราบคาบ
ปัญหาก็คือเซลล์มะเร็งไม่ใช่สิ่งแปลกปลอม เพราะมันก็คือสิ่งที่ร่างกายเราสร้างขึ้นเอง ดังนั้นเราต้องหาทางสอน T cell ให้แยกแยะได้ระหว่างเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็ง
Steve Rosenberg ใช้เวลาอยู่หลายสิบปี กว่าจะค้นพบวิธีที่ได้ผล นั่นคือการคัด T cell จากเลือดของผู้ป่วยโรคมะเร็ง แล้วนำมาเพิ่มยีนสำหรับตัวรับแอนติเจน (เรียกว่า chimeric antigen receptor หรือ CAR) โดย T Cell ที่ได้รับการติดตัวรับแอนติเจนแล้วจะเรียกว่า CAR-T
ในมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด จะมีแอนติเจนที่เรียกว่า CD19 ดังนั้น CAR-T จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อจับกับแอนติเจน CD19 แล้วนำฉีดกลับเข้าไปในผู้ป่วยเพื่อไปทำลายมะเร็งเป้าหมาย
การรักษาแบบ CAR-T นี้มีข้อจำกัดตรงที่เรายังไม่สามารถหาแอนติเจนที่เป็นเอกลักษณ์ของมะเร็งชนิดอื่นๆ ได้ การักษาแบบ CAR-T จึงยังจำกัดแค่ในมะเร็งที่มี CD19 เป็นแอนติเจนเท่านั้น
อีกการรักษาหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือกาารรักษาแบบ Checkpoint inhibitor
ธรรมดาเวลา T Cell ทำงาน จะมีตัว checkpoint ที่ทำหน้าที่เหมือนผู้คุมกฎ เพราะหาก T Cell ทำงานแบบไม่มีใครคุมเลย มันก็อาจยิงไม่เลือกเป้าจนอาจทำให้เซลล์ปกติตายเป็นเบือไปด้วย
เซลล์มะเร็งก็ฉลาดโดยการปลอมตัวเป็น checkpoint ทำให้ T Cell “มองไม่เห็น” เซลล์มะเร็ง
แต่นักวิทยาศาสตร์นาม James Allison ก็ได้ค้นพบว่าถ้าเราหยุดตัว checkpoint ที่ชื่อว่า CTLA-4 ได้ เซลล์มะเร็งก็จะถูก “กระชากหน้ากาก” และโดน T Cell จดจำได้ว่านี่คือศัตรู
และ Tasuku Honjo ก็พบอีกว่า ถ้าเราหยุด checkpoint ที่ชื่อว่า PD-1 ก็จะเอื้อให้ T Cell จัดการเซลล์มะเร็งได้เช่นกัน
ทั้งสองคนได้รางวัลโนเบลร่วมกัน และการค้นพบของทั้งคู่ก็นำไปสู่การคิดค้นยารักษามะเร็งที่ชื่อว่า Yervoy (CTLA-4 inhibitor) และ Keytruda (PD-1 inhibitor)
Keytruda ถูกใช้อย่างได้ผลในการรักษาอดีตประธานาธิบดี Jimmy Carter ที่ป่วยเป็นมะเร็งผิวหนังระยะลุกลามในปี 2015
และเพื่อนของผู้เขียนที่ชื่อว่า Michael ที่ป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อนระยะลุกลาม และหมอบอกว่าจะอยู่ได้ไม่เกิน 12 เดือน ก็ได้รับการรักษาจนหายดีจาก Keytruda เช่นกัน แม้ว่า T Cell จะจัดหนักไปหน่อยจนตับอ่อนของไมเคิลจะถูกทำลายไปด้วยก็ตาม แต่ก็ถือว่าคุ้มที่เขายังรักษาชีวิตเอาไว้ได้
เทคนิคภูมิคุ้มกันบำบัดอันสุดท้ายที่หนังสือพูดถึง คือ Adoptive Cell Transfer (ACT) ด้วยการเจาะเลือดคนไข้ นำ T Cell ที่จดจำ (recognize) เนื้อร้ายได้ ซึ่งอาจจะมีจำนวนไม่มากนัก และนำมา “เพาะ” ให้มีจำนวนมากขึ้นเป็นพันเท่า ก่อนฉีดกลับเข้าไปยังร่างกายของคนไข้อีกครั้ง หลักการก็คือการเพิ่มจำนวน T Cell ให้มากพอที่จะถล่มเซลล์มะเร็งให้ราบเป็นหน้ากลองนั่นเอง
ความเจ๋งที่สุดของภูมิคุ้มกันบำบัด หรือ immunotherapy นั้นก็คือถ้ามันเวิร์คแล้วมันมักจะเวิร์คเลย
เวลาคนไข้ที่เป็นมะเร็งระยะลุกลามได้รับการรักษาด้วยคีโมจน “หาย” เราก็อาจจะเบาใจได้แค่ 5 ปีเท่านั้น มะเร็งส่วนใหญ่จะกลับมาเสมอและมักดื้อยากว่าเดิม
แต่สำหรับการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดนั้น มะเร็งมักจะไม่กลับมาอีกแม้ว่าเวลาจะผ่านไป 15 ปีแล้วก็ตาม
สำหรับผู้เขียน นี่คือความหวังที่ยิ่งใหญ่มาก เขาบอกว่าตั้งแต่เกิดมาห้าสิบปี นี่เป็นครั้งแรกที่เขาเห็นว่าเรากำลังสร้างความคืบหน้าในสงครามต่อต้านมะเร็ง
1
เมื่อ 20 ปีที่แล้ว คนที่เป็นมะเร็งผิวหนังระยะลุกลามนั้นมักจะอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือนเท่านั้น ตอนนี้ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 2 ปี และประมาณ 20% ของคนกลุ่มนี้อาจจะหายขาดและไม่กลับมาเป็นอีกเลย
.
 
=====
ตรวจเลือดหามะเร็ง
=====
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า มะเร็งระยะลุกลามนั้นแทบไม่มีโอกาสในการรักษาให้หายดี แม้ว่าเทคนิคภูมิคุ้มกันบำบัดจะทำให้เรามีความหวังแต่ก็ยังราคาแพงมากๆ และยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น
วิธีเพิ่มความน่าจะเป็นที่เราจะเอาชนะมะเร็งได้คือการหมั่นตรวจคัดกรองมะเร็งตั้งแต่เนิ่นๆ และทำเป็นประจำทุกปีหรือทุก 2-3 ปี
การตรวจมะเร็งบางชนิดก็อาจจะยุ่งยากหรือต้องเจ็บตัว เช่นมะเร็งลำไส้ที่ต้องทำ colonoscopy [ลองไปเปิด Youtube ดูเอาเองนะครับ] หรือบางครั้งก็ต้องผ่าตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ที่เรียกว่า biopsy
แต่ตอนนี้ กำลังมีศาสตร์ใหม่ที่เรียกว่า liquid biopsy นั่นก็คือการตรวจหามะเร็งจากเลือดนั่นเอง
หลักการก็คือเมื่อมะเร็งโตขึ้นเรื่อยๆ มันมักจะมีดีเอ็นเอที่เรียกว่า cell-free DNA (cfDNA) ที่หลุดมาจากเซลล์มะเร็งและลอยเข้ามาอยู่ในกระแสเลือด
ซึ่งวิธีการตรวจหามะเร็งแบบนี้นั้นยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร เพราะ cell-free DNA เหล่านี้มีปริมาณน้อยมาก ต้องใช้ระบบการประมวลผลระดับสูงและต้องใช้ AI ช่วยวิเคราะห์
หนึ่งในบริษัทที่กำลังบุกเบิกเรื่องนี้อยู่มีชื่อว่า Illumina และเทสต์ของพวกเขามีชื่อว่า Galleri
จากการทดลองกับตัวอย่างเลือดของคน 15,000 คน ซึ่งมีทั้งคนที่ป่วยเป็นมะเร็งและไม่ได้ป่วยนั้น พบว่า Galleri มีความแม่นยำถึง 99.5% หมายความว่า ถ้าตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง ก็มักจะไม่ค่อยพลาด มี false positives แค่ 0.5% แต่ถ้าตรวจไม่พบก็ไม่ได้การันตีว่าจะไม่เป็นมะเร็งนะครับ
ถ้าเทคโนโลยีตรวจมะเร็งจากเลือดรุดหน้ามากกว่านี้และราคาย่อมเยาลง เราก็มีสิทธิ์จะรู้ตัวเร็วขึ้น และเพิ่มโอกาสรักษามะเร็งให้หายดีนั่นเอง
ในตอนหน้า เราจะมาทำความรู้จักกับพญามารตัวสุดท้าย พญามารที่ยังไม่มีหนทางรักษา
นั่นคือโรคสมองเสื่อมครับ (Neurodegenerative diseases)
โฆษณา