28 ม.ค. เวลา 10:27 • ธุรกิจ

ตระบัดสัตย์ของผู้นำ สู่ต้นกำเนิด Instagram Stories

ช่วงปี 2015 ประมาณ 3 ปีหลัง Instagram ขายให้กับ Facebook แม้จำนวนผู้ใช้งานของ Instagram จะคงยังเติบโตต่อเนื่องทั่วโลก แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นความท้าทายหลักของ Instagram คือ ผู้ใช้งานโพสต์กันน้อยมากๆ ถ้าไม่ใช่มืออาชีพแล้วมักจะโพสต์กันแค่เดือนละไม่กี่ครั้ง
แถมกลุ่มเป้าหมายหลักซึ่งคือกลุ่มวัยรุ่น ยังมีพฤติกรรมการใช้งานที่ถือว่าเป็นกฎที่รู้กันโดยไม่ต้องบอก (unwritten rules) เช่น ไม่ควรโพสต์เกินวันละหนึ่งครั้ง ทุกรูปที่โพสต์ต้องเป็นรูปที่คัดสรรแล้วจริงๆ และถ้ารูปไหนมีคนกด like น้อยกว่า 10 ไม่ควรอยู่ใน feed ต่อเป็นต้น ที่สำคัญยังมีการสร้าง “แอคหลุม” ใช้ควบคู่กับบัญชีหลักอีกด้วย
ทั้งหมดทั้งมวลคือ ความเป็น Instagram รูปต้องสวยและคราฟท์มากพอที่ควรค่าจะโพสต์ หรือเรียกอีกอย่างว่า Instagramable ถ้าในชีวิตประจำวัน ไม่ได้มีรูปภาพที่ควรค่าพอ ผู้ใช้งานก็จะไม่โพสต์รูปกันเลย
จะว่าไปเรื่องนี้ก็มีข้อดีอยู่มาก เพราะเท่ากับคุณภาพของรูปที่โพสต์ต้องควรค่าจริงกับ Instagram เท่านั้น ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่ CEO และ Cofounder Kevin Systrom ยึดถือมานาน
ในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากการออก Boomerang มา ก็มีทีมงานอยู่กลุ่มหนึ่งที่พยายามโน้มน้าวให้ Systrom อนุมัติฟีเจอร์ใหม่ที่ทำให้ผู้ใช้งานอยากโพสต์กันมากขึ้นและใช้เวลากับ IG นานขึ้นในแต่ละวัน เป็นคอนเทนท์ที่เมื่ออัพแล้วจะอยู่ได้แค่ 24 ชั่วโมง กระตุ้นต่อม FOMO ของเหล่าวัยรุ่นที่กลัวจะตกข่าวของเพื่อนๆ และศิลปินที่ชื่นชอบ
ปัญหาเดียวของฟีเจอร์นี้คือ มันไปเหมือนแป๊ะกับอีก app ที่มาแรงมากๆ ในช่วงนั้น ซึ่งก็คือ Snapchat
Systrom พูดหลายครั้งในที่ประชุมและตัดสินใจไปแล้วว่า จะไม่ทำฟีเจอร์ Stories แบบ Snapchat เด็ดขาด เพราะมันขัดกับความเป็น Instagram ที่ทุกรูปที่ถูกโพสต์ ต้องเป็นรูปที่สวยงาม คัดสรร ปรับแต่งมาแล้ว ไม่ใช่รูปหรือวิดีโอที่ถ่ายแบบง่ายๆ สนใจแค่เล่าเรื่องไม่ใส่ใจความสวยงาม มัน real เกินไปสำหรับความเป็น Instagram
อย่างไรก็ดี กลุ่มที่เชื่อว่าการทำ Stories ออกมา น่าจะช่วยหลายๆ ปัญหาที่ Instagram เผชิญอยู่ จึงไม่ลดละที่จะหาวิธีโนมน้าว Systrom ให้ได้ ถึงกับเคยมีครั้งหนึ่งที่หนี่งในทีมงานกลุ่มนี้ ไปนั่งคุยกับ Krieger ผู้เป็น cofounder อีกคนเกี่ยวกับเรื่องนี้อีก ซึ่งตัว Krieger เองก็ฟังมาหลายครั้งมากแล้ว
ครั้งนี้ด้วยความที่เริ่มรำคาญเลยบอกว่า งั้นโทรหา Systrom เดี๋ยวนี้เลย พอ Systrom รับโทรศัพท์ขึ้นมา ฟังสักพักนึงแล้วตอบกลับมาว่า “กูโครตเบื่อที่ต้องมาฟังเรื่องนี้เลย” (I’m tired of hearing this shit.) เราจะไม่มีวันทำ Stories ทุกคนควรจะ agree to disagree ได้แล้ว เราจะไม่คุยเรื่องนี้กันอีก!
จากเหตุการณ์วันนั้นและหลายๆ เหตุการณ์คล้ายๆ กัน ทำให้หัวข้อ Stories กลายเป็นเรื่องต้องห้ามที่จะคุยกับ Systrom ไปแล้ว
จนกระทั่งวันหนึ่ง Systrom ได้ถูกเชิญไปร่วมงาน Oscar ตัวเค้าภูมิใจที่เห็นดาราดังๆ ทุกคนอัพรูปตัวเองลง Instagram แต่ดาราเหล่านั้นกลับใช้เวลาอัพรูปและวิดีโอสั้นหลายต่อหลายรูปทั้งก่อนงาน ในงาน และหลังงาน ลง Snapchat ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศตอนแต่งหน้าแต่งตัว บรรยากาศในงาน และพวกงาน after party มากมาย แต่ใน Instagram กลับมีเพียงไม่กี่รูปเท่านั้น
ซึ่งพฤติกรรมการใช้งานแบบนี้เกิดขึ้นในหลายๆ งานใหญ่ๆ และในชีวิตประจำวันของเหล่าคนดัง ยังไม่ต้องกล่าวถึงกลุ่มวัยรุ่นที่ทุก research ยืนยันแล้วว่าผู้ใช้งานอัพรูปบ้านๆ ลง Snapchat หลายต่อหลายรูปต่อวัน แต่อัพลง IG แค่ไม่กี่รูปต่อสัปดาห์ เพราะความเป็น Instagram มันทำให้คนไม่อยากอัพรูปชีวิตประจำวันที่ไม่สวยงามลง จุดแข็งของ IG กลับกลายเป็นจุดอ่อนสะแล้ว
ถึงจุดนั้นทั้ง Systrom และ Krieger คิดได้แล้วว่าพวกเขากำลังยืนอยู่บนทางแยก พวกเขาจะยืนอยู่ที่เดิมเพื่อยืนหยัดความเป็น Instagram จนถึงที่สุด หรือพวกเขาจะลองเสี่ยงเปลี่ยนแปลงดู ตัว Systrom รู้ดีว่า การเสี่ยงครั้งนี้มีโอกาสที่จะล้มเหลวสูงมาก แต่ ณ ตอนนั้น ความล้มเหลวที่แน่นอนที่สุดคือการตัดสินใจไม่ทำอะไรกับมันเลย
และในที่สุดในเดือนตุลาคม 2016 Instagram เปิดตัว Stories
ที่สำคัญตัว Systrom เอง ถึงกับแจ้งทีม PR ให้ออกข่าวไปเลยว่า Instagram ก๊อปปี้ไอเดีย Stories ของ Snapchat เพราะยังไงสำนักข่าวต่างๆ ก็ต้องล้อเลียนว่า Instagram ทำ copycat ฟีเจอร์ของ Snapchat อยู่ดี
ไม่นานหลังเปิดตัว แม้ผู้ใช้งานในสหรัฐอเมริกาจะมีเหน็บแนมว่า IG ก๊อป Snapchat แต่จาก data พบว่า พวกเขาก็ใช้งานกันเยอะขึ้น และในประเทศอื่นๆ อย่างบราซิลและอินเดีย Snapchat ยังไม่เป็นที่นิยมมากพอ และ IG ก็สามารถเก็บผู้ใช้งานในประเทศเหล่านั้นให้หันมาเล่น Stories กันมากขึ้น เช่นเดียวกับเหล่าดารา ศิลปิน คนดัง นักกีฬา แบรนด์ต่างๆ
แม้ตอนนี้ Systrom จะไม่ได้อยู่บริหาร Instagram แล้ว แต่ต้องยอมรับว่า การเปลี่ยนการตัดสินใจครั้งนั้นถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ Instagram ยังคงเป็นที่นิยมจนถึงปัจจุบัน เป็นบทเรียนให้กับผู้นำองค์กรทั้งหลายว่า แม้เราอาจจะตัดสินใจอะไรไปแล้ว และออกตัวแรงยืนยันการตัดสินใจครั้งนั้น แต่ถ้ามีข้อมูลใหม่หรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ไม่มีประโยชน์เลยที่จะมัวยึดติดกับการตัดสินใจนั้นไปตลอด
หากจะต้องกลับคำจากสิ่งที่เคยพูดไปแล้วแล้วทำให้องค์กรเดินต่อไปได้ จะมีประโยชน์อะไรถ้าการตัดสินของผู้นำศักดิ์สิทธิ์จนเปลี่ยนแปลงไม่ได้แต่องค์กรล้มเหลวพังทลายไปกับสายลมของอัตตา

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา