28 ม.ค. เวลา 13:49 • ความคิดเห็น

เทพีเสรีภาพที่หายไปกับจุดบอดของมนุษย์

นักมายากลระดับเทพของโลกมักจะมีท่าไม้ตายที่เป็นตำนานให้คนจดจำเสมอ ตั้งแต่กลสะเดาะกุญแจของฮูดินี่ ความอึดใต้น้ำสิบกว่านาทีของเดวิด เบน และถ้านึกถึงเดวิด คอปเปอร์ฟิลด์ (david copperfield) นักมายากลที่กลายเป็นตำนานจากการเล่นกลระดับโลกในรายการสดถ่ายทอดทีวีที่คนดูเป็นล้านและมีคนดูในห้องส่งหลายสิบคนในปี 1983 ด้วยการเสกเทพีเสรีภาพ (statue of liberty) ให้หายไปต่อหน้าต่อตาผู้ชมในห้องส่งและในทีวี ทำเอาทั้งโลกตะลึงงัน ไม่รู้ว่าเดวิดทำได้อย่างไร และกว่าจะรู้ความลับของกลนี้ก็อีกเป็นสิบปีต่อมา
เมื่อวานฟังคุณกระทิง พูนผลเล่าสรุปหนังสือปรัชญาชีวิตและการลงทุนของชาร์ลี มังเกอร์ ชาร์ลี มังเกอร์ผู้เป็นคู่หูคู่บุญของวอร์เรน บัฟเฟต์เพิ่งเสียชีวิตในวัย 99 ปี ชาร์ลีได้รับการยกย่องว่าเป็นนักคิด และผู้ที่เข้าใจโลก เข้าใจชีวิตอย่างลึกซึ้ง กระทิงเอาหนังสือ Poor charlie Almanack ที่เป็นเรื่องหลักการคิดของชาร์ลี มังเกอร์มาสรุปให้ฟังอย่างเมามันที่ HOW Club เมื่อวาน
จากหลักคิดเป็นร้อยๆข้อที่กระทิงเรียกว่า mental model ที่ชาร์ลี มังเกอร์ใช้จากวิชาการแขนงต่างๆมาร้อยเป็นหลักคิดรวม มีข้อหนึ่งที่ผมชอบมากที่กระทิงเรียกว่า Contrast-misreaction tendency เป็นการอธิบายจุดบอดของมนุษย์ที่ชาร์ลี
มังเกอร์บอกว่า ระบบประสาทของมนุษย์เราโดยธรรมชาตินั้นจะไม่สามารถวัดอะไรที่เป็นจำนวนได้ตรงๆ (absolute scientific units) แต่จะต้องอิงกับอะไรบางอย่างเป็นจุดอ้างอิงที่มีความต่างกันจึงจะรับรู้ได้ (contrast) เช่นถูกกว่าหรือแพงกว่า ร้อนกว่าหรือหนาวกว่า ดังกว่าหรือสว่างกว่าอะไรทำนองนี้
2
ในทางการเงิน คนเราก็เลยมักจะให้วัดมูลค่าจากอะไรที่เราเทียบได้เป็นหลัก ไม่ใช่มูลค่าโดยตรงของตัวมันเองซึ่งทำให้เกิดความ bias และผิดพลาดได้ง่าย เราถึงมักจะยอมแต่งเบาะหนังรถแพงๆ เป็นแสนเพราะเมื่อเทียบกับราคารถ 5 ล้านแล้วถูกมาก หรือเราซื้อของแต่งไอโฟนเป็นพันหรือหลายๆ พันโดยไม่รู้สึกแพงเพราะไอโฟนเครื่องละหลายหมื่น เป็นต้น
นักการตลาดเก่งๆ จึงใช้จุดบอดนี้ของมนุษย์เร่งการตัดสินใจได้ไม่ยากนัก เช่นนายหน้าขายบ้านที่เก่งๆถ้าอยากขายบ้านที่ไม่ได้ดูดีอะไรนัก ก็มักจะใช้วิธีเอาบ้านที่ห่วยกว่าบ้านหลังนั้นหลายๆหลังมาโชว์ก่อน พอเอาบ้านที่อยากขายมาโชว์ก็จะดูดีขึ้นมาทันที
1
หรือแม้กระทั่งลูกเล่นการขายแบบป้าย sale แล้วขีดฆ่าราคาออกก็เป็นการใช้จุดบอดของมนุษย์ที่ต้องหาอะไรเปรียบเทียบมากระตุ้นเช่นกัน พอเห็นขีดราคาเดิมออกแล้วใส่ราคาใหม่ลดลง 50% แทบทุกคนก็จะกระโจนใส่ เพราะเราไม่สามารถประเมินราคาเสื้อผ้าตรงๆจากประสาทเราได้
2
ในทางกลับกัน ถ้ามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงน้อยมากโดยที่ไม่มี contrast ที่ทำให้รู้สึกได้ มนุษย์เราก็จะไม่สังเกตเห็นเช่นกันจนอาจจะสายเกินไป จุดอ่อนนี้ก็คล้ายๆ กับทฤษฏีกบต้มที่เอากบลงไปในน้ำที่ค่อยๆเดือด กว่ากบจะรู้ตัวก็สายเกินไปเพราะการเปลี่ยนแปลงนั้นมันค่อยๆ เปลี่ยนจนเราไม่รู้สึกนั่นเอง
ชาร์ลี มังเกอร์กับวอร์เรน บัฟเฟต์จึงเฝ้าระวังและสังเกตธุรกิจที่ค่อยๆตกต่ำลงทีละนิด และรีบหนีหรือขายออกก่อนที่การตกต่ำจะสะสมจนกลายเป็นหายนะ หลายครั้งที่การเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆจนไม่มี contrast ให้เรารู้สึกและมองไม่เห็น พอรู้ตัวก็สายเกินแก้
ลองนึกครึ้มๆถึงการล่มสลายโกดักจากจุดเริ่มที่เสียยอดขายให้กับกล้องดิจิตอลทีละนิดก็อาจจะเห็นภาพชัดขึ้น หรือการมาถึงของไลน์ในระหว่างที่เครือข่ายมือถือค่อยๆเห็นการลดลงของรายได้จาก SMS อย่างช้าๆจนแทบไม่รู้สึกจนพอรู้ตัวก็ถูกไลน์ วอดซแอพยึดช่องสื่อสารไปเกือบหมด แต่ในทางกลับกัน การตัดสินใจของธนาคารพาณิชย์ที่ยกเลิกค่าธรรมเนียมธนาคารในจุดที่ fintech กำลังก่อตัวและรายได้เริ่มลดแค่นิดหน่อยก็เป็นการตัดสินใจที่เอาชนะจุดบอดนี้ได้เช่นกัน
1
ความลับของกลเสกเทพีเสรีภาพหายไปของเดวิด คอปเปอร์ฟิลด์ก็ใช้หลักการ contrast- mispreaction tendency นี้ ก่อนเริ่มโชว์ (search ดูใน youtube ดูได้นะครับ) เดวิดให้คนดูในห้องส่งนั่งอยู่ริมน้ำ เห็นเทพีเสรีภาพอยู่ตรงหน้าชัดเจน ข้างๆมีเสาใหญ่สองเสาขนาบ เดวิดปิดผ้าคลุมผืนใหญ่ ก่อนที่จะใช้เวลานิดหน่อยแล้วกระชากผ้าลงมา เทพีเสรีภาพตรงหน้าก็หายไป สร้างความตื่นตะลึงให้กับคนดูในห้องส่งและทางบ้านเป็นอย่างมาก
วิธีที่เดวิดใช้ก็คือ ในตอนที่ปล่อยผ้าคลุมลงมา เดวิดหลอกล่อความสนใจด้วยการเปิดเพลงเสียงดังมาก ก่อนที่สเตจจะหมุนอย่างช้ามากๆ ช้าจนคนที่นั่งอยู่ไม่รู้สึก จนเสามาบังเทพีเสรีภาพในสายตาคนดูพอดี พอเปิดผ้ามาอีกทีคนดูก็เลยเห็นแต่ท้องฟ้ากับทะเลว่างเปล่า เพราะความ contrast มันน้อยจนรู้สึกไม่ได้นั่นเอง….
เข้าใจจุดบอดของมนุษย์อย่างเราๆไว้ เวลาตัดสินใจอะไรก็อาจจะทำให้เรารอบคอบขึ้นบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ
โฆษณา