30 ม.ค. เวลา 16:18 • สุขภาพ

วันนี้มาพูดถึงตำรับยาใช้ภายนอกกันบ้างนะครับ

เป็นตำรับที่เกี่ยวกับโรคผิวหนัง
ซึ่ง "หนัง" โบราณเรียกว่า "ตะโจ"
และในตำรับยาแผนโบราณ
ก็มียาในหมวดรักษา ตะโจ อยู่ด้วยครับ
ยกตัวอย่างเช่น ในคัมภีร์โรคนิทาน
มีตำรับยาแก้ตะโจพิการ ทั้งแบบใช้กินและใช้ทา
ซึ่งก่อนที่จะไปเข้าสู่ตำรับยา
เรามาดูเนื้อความในคัมภีร์โรคนิทานกันก่อนว่า
ตะโจพิการ มีลักษณะอย่างไร?
"หนัง เมื่อแตกพิการ ให้หนังชาซ่าน
ไปดังหนึ่งมดและแมลงวันจะจับไชอยู่บนนั้นก็ไม่รู้ตัว
ให้ร้อนแสบเป็นกำลังเรียกว่ามีโทษ"
ลองตีความดู ก็มีอยู่หลายอาการ
มีทั้งชาผิวหนัง คันเหมือนมดแมลงไต่ไชใต้ผิวหนัง
และแสบร้อน
และถ้าเป็น คัมภีร์เวชศึกษา
จะเรียกโรคนี้ว่า พหิธโรโคโรค
คืออาการที่เกิดขึ้นสำแดงออกภายในนอกกาย นั่นเอง
เอาล่ะ กลับมาที่ โรคนิทาน
อย่างที่บอกไป ยาแก้ตะโจ มีทั้งกินและทา
วันนี้ ขอยกตัวอย่าง "ยาทา" นะครับ
เอาเครื่องยามาให้ดู สำหรับเป็นความรู้
ให้แก่แพทย์แผนไทยที่สนใจเรื่องนี้ครับ
#ตำรับยาทาแก้ตะโจ
มีตัวยาได้แก่ ลูกแป้งข้าวหมาก รงทอง
เปลือกเฉียงพร้านางแอ โกฐสอ โกฐหัวบัว
ดอกสารภี ดอกพิกุล ดอกบุนนาค เกสรบัวหลวง
นำเครื่องยาทั้งหมดนี้บดเป็นผง
เวลาจะใช้ให้ละลายกับน้ำดอกไม้เทศ
แล้วประพรมหรือชโลมทาทั้งตัว
แก้ตะโจพิการดีนักแล
#ตำรับยาทาแก้ตะโจ
โฆษณา