3 ก.พ. เวลา 02:00 • ธุรกิจ

บริษัทโฮลดิ้งลดทุน..เลี่ยงภาษีหรือไม่

“บริษัทโฮลดิ้ง” มีกำไรสะสมหลายร้อยล้านบาท เลือกไม่จ่ายเงินปันผลแต่ใช้วิธีลดทุนบริษัทเพื่อคืนกำไรกับผู้ถือหุ้น...ไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย...ผู้ถือหุ้นเสียภาษีเพิ่มขึ้น...เบื้องหลังคือ “ไม่รู้” หรือ “เจตนา”
เงินปันผล...มาจาก “กำไรบริษัท” หลังจาก “บริษัทเสียภาษี” ให้แก่กรมสรรพากรแล้ว และกำไรนี้เป็น “ส่วนของผู้ถือหุ้น” อยู่ใน “งบดุล” (Balance Sheet) ของบริษัท...เงินปันผลจึงเป็น “ส่วนหนึ่งของกำไร” ที่อยู่ในส่วนของ “ทุนบริษัท” หากไม่จ่ายออกมาจะเป็น “กำไรสะสม” ส่งผลให้ “มูลค่าบริษัท” สูงขึ้น
ก่อนเป็นเงินปันผล บริษัทได้สะสมกำไรไว้ใน “กำไรสะสม” (Retain Earning) มาจาก “งบกำไรขาดทุน” (Profit & Loss Account) แต่ละปี บริษัทจำนวนมากสะสมกำไรไว้ยังไม่จ่ายเงินปันผล อาจมีหลายสาเหตุ เช่น เงินสดไม่พอจ่ายเงินปันผลเพราะใช้ซื้อทรัพย์สิน หรือ ใช้ผลิตสินค้าแล้วกลายเป็น “สินค้าคงเหลือ” (Inventory) จำนวนมาก หรือ ต้องการเก็บกำไรสะสมไว้เพื่อลงทุนต่อ (Reinvestment) เกรงว่ากระแสเงินสดไม่เพียงพอจึงไม่ยอมจ่ายเงินปันผล
ธุรกิจครอบครัวที่ใช้ “บริษัทโฮลดิ้งครอบครัว”​ เพื่อรับเงินปันผลจากบริษัทในเครือทั้งหลาย “สันนิษฐาน” ได้ว่า “ธุรกิจครอบครัว” นั้นอยู่ใน “กลุ่มผู้เสียภาษีถูกต้อง” เพราะบริษัทในเครือ “มีกำไร” ต้องจ่ายภาษีก่อน หลังจากนั้น บริษัทในเครือจึงจ่ายเงินปันผลให้แก่บริษัทโฮลดิ้ง (ผู้ถือหุ้น)
“ธุรกิจครอบครัว ที่ต้องการ “สะสมความมั่งคั่ง” (Wealth Integration) ไว้ใน “ที่เดียวกัน”​ เลือกใช้บริษัทโฮลดิ้งเป็นเครื่องมือหนึ่งในการจัดการ “ความมั่งคั่งของครอบครัว”​ (Family Wealth) นอกจากนั้น บริษัทโฮลดิ้งครอบครัวที่ถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถใช้เป็น “เครื่องมือป้องกันการถูกฮุบกิจการ” (Anti-Take Over) ในตลาดทุนที่หุ้นมีสภาพคล่องสูงกว่าหุ้นทั่วไปและหุ้นอาจถูกสมาชิกครอบครัวขายออกไปได้โดยเสรี
กรณีศึกษาที่น่าสนใจ “บริษัทโฮลดิ้งครอบครัว” รายหนึ่งใน “ธุรกิจอาหาร” มีกำไรสะสมหลายร้อยล้านบาทไม่จ่ายเงินปันผลให้แก่ “ผู้ถือหุ้นสมาชิกครอบครัว” ติดต่อกันหลายปี ส่งผลให้ “มูลค่าตามบัญชีของหุ้น” (Book Value of Share) มีมูลค่าสูงมาก
ต่อมาบริษัทโฮลดิ้งครอบครัวรายนี้ต้องการนำเงิน “กำไรสะสม” หลายร้อยล้านบาทจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นโดยไม่จ่ายเงินปันผลเพราะไม่ต้องการหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% (Dividend Tax) จำนวนหลายสิบล้านบาท บริษัทโฮลดิ้งรายนี้จึงใช้การ “ลดทุนบริษัท” เพื่อนำ “กำไรสะสม” และ “เงินสำรองตามกฎหมาย (Legal Reserve) จ่ายคืนให้แก่ผู้ถือหุ้น ทั้งที่ เงินสำรองตามกฎหมายนี้ไม่สามารถนำออกจากบริษัทเอกชนได้ด้วยการลดทุน แต่ต้องรอเมื่อ “เลิกบริษัท” เท่านั้น
ผลที่ตามมา คือ “เงินลดทุน” นั้นไม่ได้คืนให้แก่ผู้ถือหุ้นเฉพาะ “เงินทุน” (Capital) หรือ “เงินลงทุน” แต่รวมไปถึง “เงินส่วนเกิน” (Surplus Fund) คือ กำไรสะสมและเงินสำรองตามกฎหมายด้วยในที่สุด บริษัทโฮลดิ้งรายนี้ถูกประเมินภาษีและมี “คดีภาษี” กับกรมสรรพากร
กรมสรรพากรประเมินภาษีบริษัทโฮลดิ้งรายนี้ตามมาตรา 40 (4) (ง) ประมวลรัษฎากร เพราะ “เงินลดทุน” ส่วนนี้เป็น “เงินได้” ที่ต้องเสียภาษี
(ง) เงินลดทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกัน
กรมสรรพากรประเมินภาษีบริษัทโฮลดิ้งรายนี้จากเหตุที่บริษัทโฮลดิ้งไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายจาก “เงินลดทุน” ในส่วนที่ไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกัน กล่าวคือ “ไม่เกินกว่ากำไร” เป็นการนำกำไรออกจากบริษัทผ่านการลดทุน และ “เงินที่กันไว้รวมกัน” เป็นการนำส่วนหนึ่งของกำไรออกจากบริษัท เพราะบริษัทโฮลดิ้งมี “กำไรสะสม” (ไม่ได้จ่ายเงินปันผล) และมี “เงินสำรองตามกฎหมาย” (ส่วนหนึ่งของกำไร)
กรณีนี้ ภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากเงินลดทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นบุคคลธรรมดาอยู่ใน “อัตราภาษีก้าวหน้า” 5-35% ไม่ใช่ 10% แบบภาษีเงินปันผล ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นบุคคลธรรมดา “มีหน้าที่” ต้องนำเงินได้จาก “เงินลดทุน” นี้ไปรวมคำนวณกับ “เงินได้อื่น” ที่ได้มาใน “ปีภาษี” เดียวกันไม่สามารถ “เลือก” ให้ “ภาษีเงินลดทุน” นี้เป็น “ภาษีสุดท้าย” (Final Tax) ได้แบบ “ภาษีเงินปันผล”
คดีภาษีนี้ ศาลฎีกาตัดสินในปี 2564 อาศัย “กฎหมายภาษี” แบบตรงไปตรงมา ไม่ได้ตีความกฎหมายภาษีที่ซับซ้อนแต่อย่างใด อีกทั้ง “ธุรกิจครอบครัว” รายนี้ประกอบธุรกิจอาหารมีชื่อเสียงมานานหลายสิบปี จึงไม่ควรพลาดเรื่องพื้นฐานแต่มีความสำคัญมากทั้ง “กฎหมายบริษัท” และ “กฎหมายภาษี” เช่นกรณีนี้
ดังนั้น “บริษัทโฮลดิ้งครอบครัว” ทั้งหลาย ที่สนใจใช้บริษัทโฮลดิ้งเพื่อการวางแผนทรัพย์สินของครอบครัว (Family Asset Planning) และวางแผนภาษีให้แก่ “สมาชิกครอบครัว” พึงระมัดระวังในการใช้งานบริษัทโฮลดิ้งให้ละเอียดรอบคอบ มิฉะนั้น “ความไม่รู้เรื่องภาษี” อาจไม่สามารถใช้เป็นเหตุผล แต่อาจถูกมองได้ว่า “เจตนาเลี่ยงภาษี”
บทความห้องเรียนผู้ประกอบการ
โดย ชินภัทร วิสุทธิแพทย์
โฆษณา