3 ก.พ. เวลา 02:21 • ปรัชญา
หนานจิง

ถอดความหมายทางวัฒนธรรมจากตุ้ยเหลียน|春联一字亦映文化

เนื่องจากใกล้เทศกาลตรุตจีนแล้ว เราเลยมาเตรียมเขียนตุ้ยเหลียนติดห้องกับแจกให้คนในหอซะหน่อย ระหว่างที่กำลังคัดประโยคอยู่ก็พบกับประโยคนี้ที่มันทัชใจมาก เราเลยจะมาวิเคราะห์กับแชร์ความรู้ให้ทุกคนกันนะครับ
.
横批:大开眼界(大開眼界)
Dàkāi yǎnjiè:เปิดหูเปิดตา
上联:学如黄鹤习如鹊(學如黃鶴習如鵲),
Xué rú huánghèxí rú què:ร่ำเรียนดั่งกระเรียนเหลือง ฝึกฝนดั่งนกกางเขน
下联:勤似羽翼奋似翅(勤似羽翼奮似翅)。
Qín shì yǔyì fèn shì chì;มุมานะเหมือนผู้ช่วย ความทุ่มเทเหมือนปีก
Table of content · 内容
1、บทนำ · 引言
2、บทวิเคราะห์ · 赏析
2.1 บาทส่ง(横批)
2.2 บาทรับ(上联)
2.3 บาทรอง(下联)
2.4 กระเรียนเหลือง นกกางเขนและปีก · “黄鹤、喜鹊、羽翼、翅膀”
2.5 การเรียนรู้และการทบทวน · “学与习”
2.6 ความขยันและการทุ่มเท · “勤与奋”
3、บทสรุป · 总结
1、บทนำ · 引言
“ตุ้ยเหลียน(对联;duìlián)” หรือที่เรียกว่า “โคลงคู่” เป็นหนึ่งในศิลปะดั้งเดิมของจีน เป็นการผสมผสานระหว่างความงามด้านกวีนิพนธ์กับวิถีชีวิตของชาวบ้าน และวรรณกรรมรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมในกลุ่มชนชั้นที่มีฐานะดี
เนื่องจากส่วนใหญ่ตุ้ยเหลียนจะนิยมจารึกตามเสาต่าง ๆ จึงมีชื่อเพื่อใช้เรียกรวม ๆ ว่า “อิ๋งเหลียน(楹联;yínglián)” หมายถึง โคลงที่ประดับเสา ส่วนตุ้ยเหลียนที่ใช้ในเทศกาลตรุษจีนเรียกว่า "ชุนเหลียน(春联;chūnlián)" หมายถึง โคลงในยามวสันตฤดู
ตุ้ยเหลียนจะใช้ลักษณามเป็น “คู่/ชุด(副)” เพราะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนได้แก่
  • ​บาทระนาบ(横批)หรือบาทส่ง เป็นบาทที่เริ่มต้นและสรุปเนื้อหาทั้งหมดของโคลงคู่
  • ​บาทบน(上联)หรือบาทรับ(出句)
  • ​บาทล่าง(下联)หรือบาทรอง(对句)
ซึ่งเรียกรวมกันว่า “โคลงสมบูรณ์(全联)”
เนื้อหาส่วนใหญ่จะมักจะเป็นการบรรยาย อุปมาอุปไมย คติข้อคิดหรือเกี่ยวกับการค้า ความโชคดี ความสิริมงคล การอวยพรเป็นต้น โดยเขียนด้วยถ้อยคำที่ลึกซึ้งและประณีต ซึ่งต้องอาศัยการตีความเพื่อทำความเข้าใจ
2、บทวิเคราะห์ · 赏析
2.1 บาทส่ง(横批):大开眼界
คำว่า “大开眼界(dàkāiyánjiè)” เป็นสำนวนสี่อักษร(成语)หมายถึง การเปิดหูเปิดตา, เปิดโลกทัศน์ ซึ่งใช้อธิบายการได้พบเห็นในสิ่งที่ตนไม่เคยเห็น ได้ลองในสิ่งที่ไม่เคยลองมาก่อนและเป็นการเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ตน
ในบาทส่ง(横批)ใช้สำนวนนี้เพื่อเป็นเริ่มต้นและการสรุปความทั้งสองบาท กล่าวคือ หากร่ำเรียนและขยันหมั่นเพียร คนผู้นั้นสามารถขยายขอบเขตวิสัยทัศน์ได้กว้างไกล วิสัยทัศน์ที่ว่าไม่เพียงช่วยให้เราทำความเข้าใจโลกได้มากขึ้นแล้ว แต่ยังกระตุ้นกระบวนการคิดที่สร้างสรรค์และจินตนาการและการพัฒนาตนเองได้อีกด้วย
สำนวนดังกล่าวนั้นเรียบง่าย ชัดเจนในตัวและลึกซึ้ง ซึ่งสามารถใช้บรรยายได้ในหลายสถานการณ์ เช่น การไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ การท่องเที่ยว การอ่านหนังสือ เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ทำให้เราได้เห็นสิ่งใหม่ ๆ และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในตัวนั่นเอง
2.2 บาทรับ(上联):学如黄鹤习如鹊
บาทรับ(上联)ความว่า “ร่ำเรียนดั่งกระเรียนเหลือง ฝึกฝนดั่งนกกางเขน(学如黄鹤习如鹊;xué rú huánghè xí rú què)” ประโยคนี้หมายถึง ต้องขยันร่ำเรียนให้เหมือนนกกระเรียนเหลือง(黄鹤)และนกกางเขน(喜鹊)
ในตำนานจีนและวัฒนธรรมดั้งเดิมกล่าวว่า นกกระเรียนเหลือง(黄鹤)มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ของความสูงส่ง ความสง่างามและความถือดี ส่วนนกกางเขน(喜鹊)เป็นสัญลักษณ์แห่งความมงคลและความสุข กล่าวคือ เสียงร้องของมันมีความไพเราะ เหมือนเป็นการส่งเสียงร้องแห่งความสุขมาสู่ผู้คน
ดังนั้น ประโยคในบาทนี้เป็นการส่งเสริมให้คนมีพฤติกรรมเหมือนนกสองชนิดนี้ รักษาอุปนิสัยอันสูงส่ง มีทัศนคติในเชิงบวก ตั้งใจเล่าเรียนและพัฒนาความรู้ความสามารถของตัวเอง เพื่อให้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของชีวิต ในขณะเดียวกัน ก็อย่ามองข้ามทัศนคติเชิงบวกต่อชีวิต พึงมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายและความสำเร็จของตัวเองในอนาคต
2.3 บาทรอง(下联):勤似羽翼奋似翅
บาทรอง(下联)ความว่า “มุมานะเหมือนผู้ช่วย ความทุ่มเทเหมือนปีก(勤似羽翼奋似翅;qín shì yǔyì fèn shì chì)” ประโยคนี้หมายถึง ความขยันหมั่นเพียรเปรียบเสมือนปีกที่ช่วยให้เราบินได้สูงขึ้น ส่วนความตั้งใจเสมือนปีกที่ทำให้เราบินได้ไกลขึ้น ซึ่งเน้นย้ำว่าต้องมีทั้ง “ความขยัน” และ “ความตั้งใจ” จึงสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตนตั้งไว้ได้
กล่าวคือ ปีกเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อสัตว์ปีกทุกชนิด เพราะเป็นส่วนที่สามารถให้โบยบินได้อย่างอิสระ ยิ่งกระพือปีกยิ่งบินได้ไกลขึ้น ด้วยเหตุนี้เองจึงถูกนำมาเปรียบเปรยว่า ความขยันเป็นเสมือนผู้ช่วยในการฝึกฝนให้เราเรียนรู้ที่จะโบยบินอย่างมั่นคงในเส้นทางของตน และหากมีความตั้งใจแล้วก็เสมือนปีกที่สามารถทำให้เราพุ่งทะยานไปยังเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว
ดังนั้น ประโยคในบาทนี้จึงเป็นทัศนคติเชิงบวกต่อชีวิต กระตุ้นให้ผู้คนรักษาจิตวิญญาณแห่งความขยันและก้าวไปข้างหน้า และพัฒนาความสามารถและค่านิยมของตนอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมายในชีวิต
2.4 กระเรียนเหลือง นกกางเขนและปีก|“黄鹤、喜鹊、羽翼、翅膀”
  • ​กระเรียนเหลือง(黄鹤;huánghè)
เป็นหนึ่งในนกศักดิ์สิทธิ์ในวัฒนธรรมจีน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความสง่างาม อิรสภาพและความลึกลับ ในศาสนาเต๋ากล่าวว่า นกชนิดนี้มักปรากฏเป็นพาหนะของเหล่าเทพเซียนต่าง ๆ นอกจากนี้ยังแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นสิริมงคลได้อีกด้วย กระเรียนเหลืองมักถูกนำมาใช้แพร่หลายในกวีนิพนธ์และงานศิลปะจนกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของจีน เช่น บทกวีสมัยราชวงศ์ถังอย่าง “หอกระเรียนเหลือง《黄鹤楼》” ของชุยฮ่าว(崔颢)เป็นต้น
  • ​นกกางเขน(喜鹊;xǐquè)
เป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี ความสุขและการเฉลิมฉลองในวัฒนธรรมจีน กล่าวกันว่าตามธรรมเนียมจีน นกชนิดนี้มักจะบินมายังบ้านเรือนในวันสำคัญต่าง ๆ ดังนั้น รูปนกกางเขนจึงมักปรากฎตามงานศิลปะต่าง ๆ เช่น ภาพวาด “นกกางเขนเกาะกิ่งบ๊วย《喜鹊登梅》” ของฉีป๋ายสือ(齐白石)เป็นต้น
  • ​ปีก(羽翼;yǔyì)
ตามความหมายเดิมหมายถึง ปีกของสัตว์จำพวกนกหรือแมลง แต่ยุคหลังนิยมใช้ความหมายในเชิงนามธรรม คือ ปกป้องหรือผู้ช่วย ดังนั้นในที่นี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพ การมีพลังและความใฝ่ฝันในวัฒนธรรมจีน ซึ่งอุปมาถึงความสามารถและความทะเยอทะยาน
  • ​ปีก(翅膀;chìbǎng)
หมายถึง อวัยวะสำหรับใช้บินของสัตว์จำพวกนกหรือแมลง ซึ่งเป็นความหมายจริง ๆ ของคำนี้ แต่ในวัฒนธรรมจีนก็เป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพ การมีพลังและความเร็วเช่นกัน ในขณะเดียวกันก็อุปลักษณ์ถึงความกล้าหาญและความมุ่งมั่น เพราะหากมีสองสิ่งนี้จะทำให้เราสามารถบินได้อย่างมั่นคงจนบรรลุเป้าหมายของตนเอง
2.5 การเรียนรู้และการทบทวน|“学”与“习”
อักษร “学/學(xué)” ตามความหมายในภาษาจีนโบราณหมายถึง การศึกษาเล่าเรียน ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งให้ได้มาซึ่งความรู้หรือข้อมูลใหม่ ๆ ครอบคลุมการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การพูด การฟัง การอ่าน การเขียน การปฏิบัติ เป็นต้น ผู้คนสามารถรับรู้ข้อมูลและทักษะใหม่ ๆ ผ่าน “การเรียนรู้” ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญในการเติบโตและการพัฒนาตนเอง
อักษร “习/習(xí)” ตามความหมายในภาษาจีนโบราณหมายถึง นกทบทวนการใช้ปีกบิน ดังปรากฏในอักษรจีนตัวเต็มที่ประกอบด้วย “羽(yǔ)” หมายถึงปีก “日(rì)” หมายถึงพระอาทิตย์ ดังนั้น นกจะฝึกบินได้จะบินช่วงกลางวัน ตื่นเช้าขึ้นมาฝึกฝนเพื่อที่จะบินให้ได้ ต่อมามีการใช้ความหมายว่า “ทบทวน(温习)”
“习/習(xí)” ต่างจาก “学/學(xué)” ตรงที่มุ่งเน้นการทบทวนบทเรียนและประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้เรียนมา ผ่านการฝึกฝนซ้ำ ๆ จนเกิดความชำนาญ ดังปรากฏในคัมภีร์หลุนอฺวี่ บรรพเสฺวียเอ๋อร์《论语 · 学而》: “การได้ร่ำเรียนความรู้ แล้วได้ทบทวนเป็นนิจ มิใช่มีความสุขหรอกหรือ「学而时习之,不亦说乎?」”
ดังนั้น ในกระบวนการเรียนรู้ “การเรียน” และ “การทบทวน” เป็นส่วนเสริมซึ่งกันและกัน ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งมิได้ การเรียนรู้สามารถเพิ่มพูนข้อมมูลข่าวสารและความรู้แก่ผู้ตนได้ แต่หากได้ทบทวนสิ่งที่ตนเรียนมาอยู่เสมอ ย่อมสามารถทำให้เรามีความเชี่ยวชาญในสายความรู้นั้นได้อย่างถ่องแท้
2.6 ความขยันและการทุ่มเท|“勤”与“奋”
อักษร “勤(qín)” ตามความหมายในภาษาจีนโบราณหมายถึง การออกแรง, ความขยัน หมายความว่าใช้ความขยันหมั่นเพียรในการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ (ทั้งด้านการเรียนและการทำงาน) โดยไม่กลัวอุปสรรคหรือความยากลำบาก
คนขยันมักโฟกัสกับเวลา ไม่พลาดโอกาสเมื่อมาถึง และมักตระหนักถึงคุณค่าของตนเองผ่านความพยายามอย่างต่อเนื่อง เช่น บทกวีสมัยราชวงศ์ถัง “หยงสื่อ《咏史》” ของหลี่ซางอิ่น(李商隐)ความวว่า “เมื่อมองประวัติศาสตร์ในทุกด้าน ไม่ว่าแว่นแคว้นหรือครอบครัว ล้วนเจริญรุ่งเรืองด้วยความขยันหมั่นเพียรและอดออม แต่ล่มจมด้วยการใช้อย่างฟุ่มเฟือย「历览前贤国与家,成由勤俭败由奢。」”
อักษร “奋/奮(fèn)” ตามความหมายในภาษาจีนโบราณหมายถึง นกกระพือปีก ดังปรากฏในอักษรจีนตัวเต็มที่ประกอบด้วย “衣(yī)” หมายถึงเสื้อผ้า “隹(zhuī)” หมายถึงนก “田(tián)”หมายถึงทุ่งนา ดังนั้น นกกระพือปีกบินเหนือผืนทุ่งนา เหมือนคนกำลังสบัดผ้า ยิ่งกระพือยิ่งบินได้ไกล ยิ่งสบัดผ้ายิ่งแห้ง ต่อมามีการใช้ความหมายว่า “ทุ่มเท(奋勉)”
“奋/奮(fèn)” ต่างจาก “勤(qín)” ตรงที่เน้นสภาพจิตใจที่ฮึกเหิมและตั้งอกตั้งใจ กล่าวคือ มีความสามารถในรักษาทัศนคติในเชิงบวก รวบรวมความกล้าหาญและความมั่นใจในการเผชิญหน้ากับความยากลำบากและความท้าทาย
ดังนั้น การผสานระหว่าง “ความขยัน” กับ “การทุ่มเท” เป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายทั้งการทำงานและการเรียน การมีความขยันหมั่นเพียรคือรากฐานในการสั่งสมประสบการณ์และทักษะที่มั่นคง แต่หากมีการทุ่มเทด้วยสภาพจิตที่ฮึกเหิมที่กล้าได้กล้าเสีย ย่อมสามารถคว้าโอกาสและเผชิญความท้าทายเบื้องหน้าได้อย่างไม่สั่นคลอน
3、บทสรุป · 总结
จากตุ้ยเหลียนคู่นี้ เราจะเห็นความหมายแฝงทางวัฒนธรรมที่ลึกซึ้งและความหมายเชิงสัญลักษณ์ในด้านปรัชญาจีน ผ่านการอุปมาองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น นกกระเรียนเหลือง นกกางเขนและปีก ตลอดจนการเรียนรู้และความขยัน ซึ่งตุ้ยเหลียนคู่นี้เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของความก้าวหน้าและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในชีวิต นอกจากนี้ โคลงนี้ยังสะท้อนความกว้างและความลึกของวัฒนธรรมจีนผ่านการใช้ภาษาอย่างชาญฉลาด
ในท้ายที่สุดนี้ โคลงนี้ไม่เพียงเหมาะสำหรับการบรรยายถึงการเรียนรู้และการเติบโตแล้ว ยังสามารถใช้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาองค์กรได้อีกด้วย กล่าวคือ เตือนให้เรารักษาการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและความพยายามเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จและการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้น ยิ่งในยุคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ จะมีเพียงการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและความขยันอย่างสม่ำเสมอที่จะช่วยให้เราตามทันยุคสมัยและประสบความสำเร็จได้ในไม่ช้า
สามารถสนับสนุนเพจเพื่อเป็นทุนการศึกษาได้ที่
💵PromptPay: 0954289757
ติดตามและอ่านเพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา