5 ก.พ. เวลา 07:32 • การเมือง

มิเชลล์ โอนีลล์ “หัวหน้ารัฐบาลคนใหม่” ของไอร์แลนด์เหนือ

ผู้มีแนวคิดที่ต้องการ “แยกตัวจากสหราชอาณาจักร” หลังสังคมแตกแยกและเสียหายจาก Brexit
อย่างแรกที่เราต้องเข้าใจก่อนคือ “เกาะไอร์แลนด์” ที่อยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะใหญ่อังกฤษซึ่งมีทะเลไอร์แลนด์กั้นอยู่ แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ “ไอร์แลนด์เหนือ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร (UK) และ “ประเทศไอร์แลนด์” คือดินแดนส่วนใหญ่ทางตอนใต้ของเกาะซึ่งเป็นเอกเทศ มีการปกครองตนเอง ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของ UK
ดังนั้นบนเกาะไอร์แลนด์นี้จึงมีส่วนทางตอนเหนือหรือ “ไอร์แลนด์เหนือ” (ไม่ถือว่าเป็นประเทศ) ศูนย์กลางคือเมืองเบลฟาสต์ และไม่ได้อยู่ในสหภาพยุโรป หลังจากการ Brexit ของอังกฤษใหญ่ และส่วนทางตอนใต้หรือ “ประเทศสาธารณรัฐไอร์แลนด์” เมืองหลวงคือดับลิน ซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป
เครดิตภาพ: WorldAtlas
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา 3 กุมภาพันธ์ “มิเชลล์ โอนีลล์” จากพรรคการเมือง Sinn Féin ของชาวไอริช ที่มีสำนักงานใหญ่พรรคอยู่ที่ดับลินในไอร์แลนด์ และยังมีเครือข่ายของพรรคชื่อเดียวกันในไอร์แลนด์เหนือที่นับเป็นภูมิภาคหนึ่งของสหราชอาณาจักรอีกด้วย ได้รับการโหวตให้ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลท้องถิ่นคนใหม่ของไอร์แลนด์เหนือหลังจากการต่อสู้นานถึงสองปี เหตุที่ไม่ลงตัวตั้งกันไม่ได้เพราะ “เธอเป็นผู้นำของพรรคฝ่ายนิกายคาทอลิก” (คนละความเชื่อกับนิกายที่เกาะอังกฤษใหญ่)
1
เธอประกาศตัวว่าจะเป็น “นายกรัฐมนตรี (ไอร์แลนด์เหนือ) ของทุกคน” ไม่ว่าเป็นชาวไอริชหรือกลุ่มที่เรียกว่า Unionist หรือกลุ่มของผู้ที่ต้องการให้ไอร์แลนด์เหนือยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร หรือจะเรียกอีกอย่างว่า “ผู้รักชาติชาวไอริช” กับ “สหภาพนิยมอังกฤษ”
เครดิตภาพ: CHARLES MCQUILLAN / GETTY IMAGES
เล่าย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์เล็กน้อย มีเหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่ชัยชนะในปี 1690 ของพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 ผู้เลื่อมใสในนิกายโปรเตสแตนต์ (นิกายปัจจุบันในเกาะอังกฤษใหญ่) เหนือคู่แข่งหลักของพระองค์ พระเจ้าเจมส์ที่ 2 ผู้เลื่อมใสในนิกายคาทอลิก
ในช่วง 1690s ไอร์แลนด์อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษมานานหลายทศวรรษ พระเจ้าเจมส์ที่ 2 กษัตริย์คาทอลิกแห่งเกาะอังกฤษที่ถูกโค่นล้มอำนาจ ตั้งใจแน่วแน่ที่จะฟื้นฟูอำนาจของพระองค์ และได้รวบรวมกองทัพที่ประกอบด้วยทหารเกณฑ์คาทอลิกเป็นหลัก และปะทะกับกองกำลังที่กำลังรุกคืบของพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 ที่ริมฝั่งแม่น้ำบอยน์ แต่ทว่าฝ่ายคาทอลิกพ่ายแพ้ ทำให้การควบคุมไอร์แลนด์ของฝ่ายโปรเตสแตนต์อังกฤษแข็งแกร่งขึ้นตลอดหลายศตวรรษถัดมา
“ไอร์แลนด์เหนือ” จึงกลายเป็นดินแดนที่ถูกกำหนดตั้งขึ้นมาเมื่อกว่าศตวรรษก่อน เพื่อรวบรวมสร้างกลุ่มนิกายโปรเตสแตนต์แบบอังกฤษที่มีความมั่นคงปลอดภัยภายในอาณาเขตใหม่บนเกาะอีกฝั่งของทะเล
สงครามประกาศอิสรภาพในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ตามมาด้วยการแบ่งเกาะไอร์แลนด์ นำไปสู่การก่อตั้งรัฐอิสระชาวไอริช “สาธารณรัฐไอร์แลนด์” ซึ่งมีอำนาจอธิปไตยมากขึ้นในทศวรรษต่อๆ มา และไอร์แลนด์เหนือซึ่งยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์เหนือยังพบกับเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองมากมายตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1960 จนถึงทศวรรษ 1990 (ความขัดแย้งระหว่างชาวไอริชกับกลุ่ม Unionist)
แต่ก็เริ่มสถานการณ์ดีขึ้นหลังจากทำข้อตกลงที่เรียกว่า Good Friday Agreement ในปี 1998 โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้หนุนหลัง และคนที่อยู่เบื้องหลังการทำข้อตกลงสงบศึกระหว่างชาวไอริชกับอังกฤษคือ “โจ ไบเดน” ซึ่งตอนนั้นเขาอยู่ในตำแหน่งวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ
1
Good Friday Agreement 1998 เครดิตภาพ: holdthefrontpage.co.uk
เกิดปัญหาวุ่นวายมาโดยตลอดในสภาท้องถิ่นของไอร์แลนด์เหนือนับตั้งแต่การลงคะแนนเสียง Brexit ในปี 2016 ซึ่งสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นเรื่องพื้นที่ทับซ้อนในดินแดนที่มีสมาชิกสหภาพยุโรปร่วมกันได้สร้างความคลุมเครือของพรมแดนกับส่วนที่เป็นไอร์แลนด์เหนือ และที่ซึ่งมีการแก่งแย่งชิงสิทธิของกลุ่มนิยมอังกฤษและกลุ่มรักชาติไอริชแข่งขันกันในตอนเหนือของเกาะ
พรรค Sinn Féin ของชาวไอริชมีความนิยมแซงหน้าพรรค Democratic Unionist Party (DUP) ของกลุ่มสหภาพนิยมอังกฤษในปี 2017 ทำให้ฝ่ายนิยมอังกฤษไม่พอใจ ประจวบกับช่วงนั้นมีการเปิดตัวกฎการค้าใหม่หลัง Brexit ซึ่งทำให้การค้าขายกับไอร์แลนด์ซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปง่ายกว่าการค้าขายไปยังกลุ่มประเทศอื่นในสหราชอาณาจักรรวมถึงไอร์แลนด์เหนือ
เรื่องนี้สร้างความช็อกให้กับกลุ่มนิยมอังกฤษที่สนับสนุน Brexit ในไอร์แลนด์เหนือ เพราะพรมแดนฝั่งติดกับไอร์แลนด์เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น (กลัวการรวมกันเป็นหนึ่งเดียว) อย่างไรก็ตามสินค้าที่จะถูกนำเข้าจัดส่งมาให้กับประเทศไอร์แลนด์ต้องมาขึ้นผ่านพิธีการตรงท่าเรือที่ไอร์แลนด์เหนือก่อน ดังนั้นรัฐบาลของ DUP จากฝ่ายนิยมอังกฤษเลยทำข้อตกลงในการตรวจสอบสินค้าและมีข้อจำกัดมากมายสำหรับสินค้าที่มาถึงท่าเรือในไอร์แลนด์เหนือเพื่อส่งต่อไปยังไอร์แลนด์
ในที่สุดเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาผู้นำรัฐบาลไอร์แลนด์เหนือจาก DUP ฝ่ายนิยมอังกฤษได้ถอนตัวจากตำแหน่งซึ่งนั่งมาได้ 2 ปี และถือว่าเป็นช่วงสุญญากาศทางการเมืองในไอร์แลนด์เหนืออีกด้วยเพราะความนิยมในพรรคฝ่ายไอริชมีเหนือกว่า สมัชชาไอร์แลนด์เหนือได้ร่วมกันโหวตเลือก “โอนีลล์” จากฝ่ายพรรคไอริชมาเป็นหัวหน้ารัฐบาลแทน ส่วนในตำแหน่งรองเป็นของพรรค DUP ฝ่ายนิยมอังกฤษ และจะได้มีการผ่อนปรนหรือยกเลิกข้อจำกัดและตรวจสอบสินค้าที่ท่าเรือในไอร์แลนด์เหนืออีกด้วย
มิเชลล์ โอนีลล์ หัวหน้ารัฐบาลคนใหม่ของไอร์แลนด์เหนือ เครดิตภาพ: Getty Images
ดังนั้นแน่นอนว่าพรรค Sinn Féin ที่โอนีลล์สังกัดอยู่นั้นเป็นของชาวไอริช จึงต้องการสนับสนุนการแยกตัวของไอร์แลนด์เหนือจากอังกฤษใหญ่และรวมตัวเข้ากับสาธารณรัฐไอร์แลนด์อีกครั้ง
เห็นได้ชัดจากคำพูดของเธอในการแสดงความคิดเห็นต่อแนวคิดของรัฐบาลอังกฤษที่ว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะมีการดำเนินการสำรวจชายแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือกับไอร์แลนด์อีกแล้วในสิบปีข้างหน้า (บอกเป็นนัยยะว่าไอร์แลนด์เหนือจะรวมกับไอร์แลนด์ภายในอีกสิบปี)
1
“ฉันขอโต้แย้งอย่างเด็ดขาดถึงสิ่งที่รัฐบาลอังกฤษกล่าวไว้ในเอกสารฉบับหนึ่ง เนื่องจากการเลือกตั้งเข้ามาในสภาของฉันในฐานะนายกรัฐมนตรี (ของไอร์แลนด์เหนือ) จะแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นบนเกาะแห่งนี้” Sky News อ้างคำพูดของเธอ
โอนีลล์กล่าวว่า “เบลฟาสต์” และ “ลอนดอน” สามารถแชร์อำนาจหน้าที่และทำงานร่วมกันในแง่ด้านระบบสาธารณะ ดังที่เธอได้ระบุไว้ “ไอร์แลนด์เหนือกำลังดำเนินตามปณิธานอันชอบด้วยกฎหมาย”
เครดิตภาพ: Vox
เรียบเรียงโดย Right Style
5th Feb 2024
  • แหล่งข่าวและข้อมูลอ้างอิง:
<เครดิตภาพปก: (พื้นหลัง) - Peter Morrison / AP (แผนที่) – Emily Embarks>
โฆษณา