6 ก.พ. เวลา 04:27 • หนังสือ

หนังสือชุดคุยกับประภาส (เล่ม ๒) ศรัทธามหาสมุทร โดย ประภาส ชลศรานนท์

ผมไม่เคยเห็นมนุษย์ต่างดาวครับ ถามว่าเชื่อไหม ตอบได้เลยว่าเชื่อ เป็นการเชื่อแบบไม่มีเหตุผล เป็นการเชื่อแบบคาดเดา คาดเดาว่าหนึ่งในดาวล้านล้านดวงในเอกภพ น่าจะมีสักดวงที่โป๊ะเชะลงตัวจนเกิดสิ่งมีชีวิตแบบโลกเราได้ มีคำตอบตลกๆอันหนึ่งในหนังฝรั่ง ... ตัวละครผู้หญิงเขาถามตัวละครผู้ชายว่า คุณเชื่อว่าพระเจ้ามีจริงไหม ผู้ชายก็บอกว่าเชื่อ ผู้หญิงก็ถามว่าคุณเคยเห็นหรือ ผู้ชายก็เลยย้อนถามว่า คุณเคยเห็นเงินร้อยล้านดอลลาร์ไหม ผู้หญิงบอกว่าไม่เคยเห็น ผู้ชายจึงบอกว่าเงินร้อยล้านดอลลาร์มีจริงนะ
ถ้าแถกๆสีข้างเอาคำตอบนี้มาตอบเรื่องมนุษย์ต่างดาวมีจริงไหม ก็คงพออนุโลมได้ ... ถ้าคุณเจอมนุษย์ต่างดาวคุณจะถามอะไรเขา ... ผมก็เลยลองคิดคำถามดู
คำถามแรกผมจะถามว่า ๑+๑ เป็นเท่าไร ไม่ได้แกล้งนะครับ ถามอย่างนี้จริงๆ ถ้าเขาตอบว่า ๑+๑ เป็น ๒ นั่นหมายความว่า ตรรกะของเขาตรงกับโลกของเรา เราจะได้มั่นใจว่าจักรวาลนี้อยู่บน "ความจริง" เดียวกัน
จากนั้นผมจะขอดูนิ้วมือของเขาว่ามีกี่นิ้ว ถ้าเขาไม่ได้มี ๑๐ นิ้ว สมมุติว่าเขามี ๘ นิ้ว ผมจะขอให้เขานับเลข ถ้าเขานับ ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๖, ๗ ก็ดูว่าเขานับเลขอะไรต่อไป
ถ้าเขาขึ้นเลขสองหลัก ผมจะได้คำตอบของคำถามที่ผมสงสัยเสียทีว่า ทำไมมนุษย์ทุกประเทศพอนับ ๑-๙ แล้วก็ต้องขึ้น ๑๐ ทำไมไม่นับถึง ๗ แล้วขึ้น ๑๐ เลย คำตอบก็คือ เพราะเรามี ๑๐ นิ้วนั่นเอง ทางคณิตศาสตร์เรียกว่า เราใช้เลขฐาน ๑๐
นั่นก็หมายความว่า ถ้ามนุษย์ต่างดาวมี ๘ นิ้วมนุษย์ต่างดาวก็ใช้เลขฐาน ๘ ทำให้ชวนคิดต่อไปว่า ถ้าไดโนเสาร์ที.เร็กซ์ครองโลกถึงทุกวันนี้ โลกนี้คงใช้เลขฐาน ๔ เพราะที.เร็กซ์มีนิ้วข้างละ ๒ นิ้ว
คำถามต่อไปที่ผมจะถามก็คือ คำถามเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิด บางทีเขาอาจจะวิวัฒนาการไปจนถึงเข้าใจในการเวียนว่ายตายเกิด เข้าใจเรื่องวิญญาณและชีวิตหลังความตาย เพราะผมก็เคยสงสัยเหมือนกันว่า การเวียนว่ายตายเกิดนั้นเกิดขึ้นข้ามประเทศได้ แล้วจะเกิดขึ้นข้ามดวงดาวได้ไหม ...
คำถามต่อมาผมจะถามเขาว่าพวกเขามีอารมณ์ขันกันไหม คืออย่างนี้ ผมเคยคิดเองเล่นๆว่าบนโลกของเรานี้มีสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่หัวเราะเป็น นั่นคือมนุษย์ สัตว์อื่นๆมีอารมณ์ครบถ้วนไม่ต่างจากมนุษย์แต่หัวเราะไม่เป็น เราจึงเห็นหมูร้องด้วยความเจ็บปวด เคยเห็นช้างร้องไห้น้ำตาไหลหาลูก เคยเห็นแมวโกรธจนขนฟู เคยเห็นลูกหมากลัวจนหางจุกตูด แต่เราไม่เคยเห็นสัตว์ชนิดใดๆหัวเราะ ตั้งแต่อะมีบายันลิงชิมแปนซี เราอาจเคยได้ยินนกขุนทองหรือลิงหัวเราะในภาพยนตร์ แต่นั่นเป็นเพียงการเลียนแบบมนุษย์เท่านั้น ไม่ได้หัวเราะจากอารมณ์ขัน
ผมเลยวิเคราะห์ว่าที่มนุษย์หัวเราะนั้นเพราะมนุษย์คิดมากกว่าหนึ่งชั้น นึกออกไหมครับ เรื่องตลกของทุกประเทศเกิดจากการคิดตั้งแต่สองชั้นขึ้นไป และที่พวกสัตว์ไม่มีอารมณ์ขันก็แสดงว่าพวกสัตว์ต่างๆคิดมากกว่าหนึ่งชั้นไม่เป็น หมู หมา กา ไก่ คิดอะไรตรงไปตรงมา ผมเลยอยากรู้ว่ามนุษย์ดาวดวงอื่นคิดมากกว่าหนึ่งชั้นไหม หรือคิดได้มากกว่าร้อยชั้นด้วยซ้ำ พวกเขาอาจจะมีอารมณ์ขันมากมาย
คำถามสุดท้ายที่ผมอยากถามเขามากที่สุดก็คือ พวกเขาวิวัฒนาการผ่านยุคเทคโนโลยีรุ่งเรืองจนถึงขีดสุดได้อย่างไรโดยไม่ทำลายตัวเอง (หน้า ๑๔-๑๗)
ตอนที่ผมแต่งเพลง "หนึ่งต่อหนึ่ง" โดยมีคุณเกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ กับคุณฉัตรชัยดุริยประณีต เป็นผู้ร้องและบรรเลงเผยแพร่ออกไปนั้น ผมเคยได้ยินว่ามีผู้วิจารณ์ถึงเนื้อเพลงในความหมายเช่นเดียวกับที่คุณนพพรกำลังพูดถึง
ผมขออนุญาตนำบางส่วนของเนื้อเพลง "หนึ่งต่อหนึ่ง" มาลงไว้หน่อย เผื่อว่าวงสนทนาของเราบางคนไม่เคยได้ยินเพลงนี้
"สร้างอะไรขึ้นมาชิ้นหนึ่ง
ก็ถูกทำลายลงไปชิ้นหนึ่ง
ทำโต๊ะประชุมตัวใหญ่
มีต้นไม้เพิ่มหนึ่งตอ
รองเท้าหนังช้างหุ้มข้อ
พ่อพลายหนึ่งตัวต้องตายหายไป
ต้องการไฟฟ้ามาเปิดไฟ
สร้างเขื่อนทันใดให้อันหนึ่ง
แล้วเราก็เสียไปป่าหนึ่ง
หนึ่งหนึ่งเท่ากันใช่ไหม"
ผู้วิจารณ์กล่าวว่า การสร้างอะไรขึ้นมาหนึ่งอย่างนั้น มันไม่ได้ทำลายของอย่างอื่นไปเพียงหนึ่งอย่างเท่านั้น บางครั้งทำลายมากกว่าหนึ่งอย่าง เอามาเทียบกันไม่ได้
ผมก็เลยบอกไปว่า ผมเข้าใจและยอมรับว่าเรื่องแบบนี้มันเทียบกันเป็น ๑ ต่อ ๑ ไม่ได้ แต่ในทางกาพย์โคลงกลอนเราก็ต้องเล่นคำอย่างนั้น และผมก็อยากชวนให้คิดต่อว่า เลข ๑ ที่เห็นนั้นตัวแรกกับตัวหลังอาจจะไม่เท่ากันในเชิงคุณค่า
ผมอาจจะเขียนเพลงนี้ขึ้นใหม่โดยใช้คำว่า "หนึ่งต่อหนึ่ง" เหมือนเดิมว่า สร้างโรงแรมหนึ่งโรงแรม ทำลายจังหวัดหนึ่งจังหวัด สร้างเขื่อนหนึ่งเขื่อน ทำลายทวีปหนึ่งทวีป รู้สึกดีขึ้นไหมครับ
จะเอาหนักกว่านี้ก็ได้ หนึ่งดอกไม้ถูกเด็ด หนึ่งดวงดาวเป็นจุณ หรือ "เด็ด ดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว" ชื่ออัลบั้มที่เพลง "หนึ่งต่อหนึ่ง" บรรจุอยู่นั่นเอง ผมได้บอกเป็นนัยไว้แล้วครับ ยังคงเป็น "หนึ่งต่อหนึ่ง" เลข ๑ ที่เท่ากันในตัวเลข แต่ต่างกันทาง"ค่า" เช่นเดียวกับ ๑ + ๑ = ๒ คุณนพพรอาจจะเคยพบว่าบางครั้ง ๑ + ๑ ไม่เท่ากับ ๒ อาจจะมากกว่า ๒ บ้าง น้อยกว่า ๒ บ้าง ความจริงคุณนพพรกับผมพูดเรื่องเดียวกัน
เราคงยืนยันว่า ๑ + ๑ = ๒ เป็นตรรกะของโลกเราเมื่อมองในเชิงปริมาณ แต่เมื่อมองในเชิงคุณค่า ยาปฏิชีวนะ ๒ ตัวใช้ร่วมกันมันได้ประสิทธิภาพมากกว่า ๒ เท่า นั่นหมายความว่า เครื่องหมายบวกในนั้นมันไม่ได้เป็นเครื่องหมายบวกอีกต่อไป แล้วมันได้กลายเป็นเครื่องหมายอื่นไป มันอาจจะเป็น "คูณ" ไปแล้วก็ได้
ในทางกลับกัน คุณนพพรเคยพบว่ายาปฏิชีวนะ ๒ ตัวบางครั้งใช้ร่วมกัน ๑ + ๑ ผลที่ได้บางครั้งน้อยกว่า ๒ เครื่องหมายตรงที่บอกว่าใช้ร่วมกันมันอาจจะเป็น "ลบ" ก็ได้
ผมชอบความคิดในการมองเชิงคุณค่าของคุณนพพรมาก เคยได้ยินเขาโฆษณาบริษัทนำเที่ยวไหมครับ "เที่ยวยุโรป ๕ วัน ๗ ประเทศ" แค่ฟังก็ท้องป่วนแล้ว ปริมาณล้วนๆครับ
ลองเอาความคิดนี้ไปใช้กับการจัดตั้งรัฐบาลผสมหลายๆพรรคของรัฐบาลที่ผ่านๆมาสิครับ เราอาจจะรวมจำนวน ส.ส.ไม่ครบเสียงรัฐบาลเสียอีก เพราะผลบวกมันจะเป็นอย่างนี้
๖๘ +๓๕+๒๓+๑๒+๔+๑ = ๐
(หน้า ๒๐-๒๒)
ก่อนมีเต๋า ก่อนมีเซ็น กระบี่ดีอยู่ที่เนื้อเหล็ก
เมื่อมีเต๋า... กระบี่อยู่ที่ใจ
และเมื่อมีเซน... ไม่มีทั้งกระบี่ ไม่มีทั้งใจ (หน้า ๘๘)
ส่วนความหมายของเครื่องหมายนี้ นอกจากในความหมายของคำว่า "สวัสดี" ในแง่ของภาษาสันสกฤตแล้ว ยังมีความหมายนัยๆที่มีคำอธิบายไว้อีกด้วยตามตำแหน่งที่สวัสติกะประทับอยู่ (หน้า ๑๑๘)
ตราสวัสติกะปรากฏอยู่ตามหน้าประตูบ้านของชนชาวฮินดูในเกาะบาหลี ตามความเชื่อที่ว่าเป็นเครื่องหมายและตัวแทนขององค์พระวิษณุ เทพเจ้าที่ปกปักคุ้มครอง ในยุโรปมีการอธิบายเครื่องหมายของสวัสติกะว่าคือตัวแอล (L) ในภาษาอังกฤษสี่ตัวมาต่อกัน อันมีความหมายว่า โชค ชีวิต ความรัก และแสงสว่าง นั่นคือ Good Luck Life Love Light
2
ในรูปและรูปปั้นของฮินดู บางปางของพระศิวะมีรูปของสวัสติกะอยู่ที่ฝ่าพระหัตถ์ โดยอธิบายว่านั่นคือกงจักรอาวุธของพระองค์
ในรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมปางสหัสกร หัตถ์ที่สี่ของพระองค์ถือเครื่องหมายสวัสติกะ ถามผู้รู้ว่าหมายถึงสิ่งใด คำตอบคือเป็นเครื่องทำลายความโลภ ...
อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับเครื่องหมายสวัสติกะในงานเสวนาครั้งหนึ่งว่า สวัสติกะคือเครื่องหมายของดวงอาทิตย์ เป็นเครื่องหมายของวงล้ออันเป็นพาหนะของพระอาทิตย์ที่ทำหน้าที่ในการให้แสงสว่าง ชาวอารยันนับถือพระอาทิตย์เพราะพวกเขาเป็นนักเดินทาง การที่พวกเขาเดินทางอยู่ตลอดเวลาทำให้ไม่สามารถเคารพเทพเจ้าซึ่งอยู่ติดที่ได้ หากว่าพวกเขาเคารพเทพเจ้าที่อยู่ติดที่ เมื่อต้องเดินทางต่อไป เทพเจ้าก็จะไม่ตามพวกเขาไป ชาวอารยันจึงนับถือเทพเจ้าที่มีอยู่ทุกแห่งหน นั่นคือสุริยเทพ
เริ่มสนุกกับสมมติฐานต่างๆแล้วใช่ไหมครับ ใจผมนั้นเอนเอียงไปทางความเห็นว่าสวัสติกะน่าจะมาจากรูปดวงอาทิตย์มากที่สุด แต่นั่งพินิจหนักๆเข้าผมชักเห็นสวัสติกะเป็นอีกรูปหนึ่งแล้วสิครับ จำได้ใช่ไหมครับว่ารูปอะไร รูปภาพที่ผมมักพูดถึงบ่อยๆ จักรวาลนั่นอย่างไร (หน้า ๑๒๑-๑๒๓)
หมู่นี้ได้ยินคำว่า "อนัตตา" บ่อยเหลือเกินครับ บ่อยจนดูราวกับว่าผู้คนในยุคนี้เต็มไปด้วย "อัตตา" กันเต็มกำลัง หรือไม่ก็มีกันจนล้น และอยากจะสลายให้กลายเป็น "สุญญตา" กันเสียให้หมด (หน้า ๑๕๑)
ครั้งหนึ่งหลวงปู่เคยบอกว่า การอยากรู้เรื่องนิพพานก็เหมือนปลาถามเต่า มรรค ผล นิพพาน เป็นสิ่งปัจจัตตังคือรู้เห็นได้ จำเพาะตนโดยแท้ ผู้ใดปฏิบัติเข้าถึง ผู้นั้นเห็นเอง แจ่มแจ้งเอง หมดสงสัยในพระศาสนาได้โดยสิ้นเชิง มิฉะนั้นแล้วจะต้องเดาเอาอยู่ร่ำไป แม้จะมีผู้สามารถอธิบายให้ลึกซึ้งอย่างไร ก็รู้ได้แบบเดา สิ่งใดยังเดาอยู่ สิ่งนั้นก็ยังไม่แน่นอน
และหลวงปู่ก็ว่า ที่อุปมาอย่างปลาถามเต่าก็คือ เต่าอยู่ได้สองโลกคือ โลกบนบกกับโลกในน้ำ ส่วนปลาอยู่ได้โลกเดียวคือในน้ำ ขืนมาบนบกก็ตายหมด
"วันหนึ่ง เต่าลงไปในน้ำแล้วก็พรรณนาความสุขสบายบนบกให้ปลาฟัง ว่ามันมีแต่ความสุขสบาย แสงสีสวยงาม ไม่ต้องลำบากเหมือนอยู่ในน้ำ
"ปลาพากันฟังด้วยความสนใจและ อยากเห็นบก จึงถามเต่าว่าบนบกนั้นลึกมากไหม เต่าว่ามันจะลึกอะไร ก็มันบก
"เอ..
บนบกนั้นมีคลื่นมากไหม มันจะคลื่นอะไรก็มันบก
"เอ... บนบกนั้นมีเปือกตมมากไหม มันจะมีเปือกตมอะไร ก็มันบก
"ให้สังเกตดูคำที่ปลาถาม เอาแต่ความรู้ที่มีอยู่ในน้ำมาถามเต่า เต่าก็ได้แต่ปฏิเสธ จิตปุถุชนที่เดามรรคผลนิพพาน ก็ไม่ต่างอะไรกับปลา"
... หลวงปู่ที่ผมเล่าให้ฟังนี้ ท่านคือหลวงปู่ดูลย์ อตุโล แห่งวัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ (หน้า ๑๘๐ - ๑๘๑)
2
โฆษณา