6 ก.พ. เวลา 11:13 • ศิลปะ & ออกแบบ

บันทึก วัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพฯ

ว่ากันว่า วัดนี้มีมาตั้งแต่ก่อนเสียกรุงศรีฯ (ก่อน พ.ศ.๒๓๑๐) เล็กน้อย อย่างไรก็ดี หลักฐานที่ยังคงพบส่วนใหญ่มาจากการบันทึกและจากศิลปะ-สถาปัตยกรรม ซึ่งล้วนอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯให้ “พระพิเรนทรเทพ” (ขำ อินทรกำแหง ณ ราชสีมา) เป็นแม่กองในการซ่อม-สร้าง ให้ใหญ่โต และมีความทันสมัยมากในสมัยนั้น
1
จากระบบผังของ โบสถ์ กับ วิหาร ที่ตั้งเคียงกัน อาจเป็นไปได้ว่าเมื่อแรกสร้างคงมีแต่โบสถ์ ด้วยที่เป็นวัดศูนย์กลางของชาวบ้านและค่อนข้างอยู่ไกลจากเมืองหลวง (ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยของ อยุธยา ธนบุรี หรือแม้กระทั่งกรุงเทพฯในสมัย รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๒) โดยสมัยรัชกาลที่ ๓ เริ่มมีการขยายเมือง ผ่านกำแพงเมืองออกมาทางตะวันออกอย่างมีนัยสำคัญ
สมัยรัชกาลที่ ๓ คงมีการสร้างโบสถ์ขึ้นมาใหม่ โดยกลายสภาพโบสถ์เดิมให้เป็นวิหาร รวมถึงคงความนิยมระบบผังที่อยู่เคียงกันของโบสถ์และวิหารซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย
ซ้ายของภาพ: โบสถ์ในรูปแบบไทยพระราชนิยม,  ขวาของภาพ: วิหาร ที่มีรูปแบบไทยประเพณี  โดยทั้งสองอาคารตั้งอยู่เคียงกัน
นอกจากนี้ หน้าบรรพของโบสถ์ปัจจุบันยังเป็นแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๓ คือมีการก่ออิฐถือปูนถึง อกไก่ (โครงสร้างสันหลังคา) ทำให้หน้าบรรพสามารถปั้นปูนร่วมกับปูนครอบหลังคาเพื่อกันฝนไม่ให้ถูกโครงสร้างไม้ที่อยู่ภายใน
เทคนิคการสร้างแบบนี้ ทำให้ไม่ต้องมีการยื่นแผงของชุดหลังคา (ไขราหน้าจั่ว) ออกมาจากหน้าบรรพเหมือนรูปแบบโบสถ์-วิหารตามแบบพระราชประเพณีทั่วไป รวมถึงมีการออกแบบผนังระหว่างเสา (Spacing) ให้เป็นแผงผนังยอดแหลมรูปกลีบบัว ซึ่งแลดูเหมือนแผงผนังโค้งยอดแหลม (Pointed Arch) ในศิลปะกอธิค
รูปแบบโบสถ์ มีเครื่องบนแบบพระราชนิยม เช่น ช่อฟ้าออกแบบเป็นรูปพญานาค หนึ่งในพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๔,  หน้าบรรพแบบผนังหุ้มกลอง (ไม่มีไขราหน้าจั่ว)  หนึ่งในพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๓  รวมถึงแผงผนังที่พาไล (เสาร่วมนอก) ที่เป็นครีบแบบซุ้มกลีบบัวซึ่งเป็นหนึ่งในพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๕  ฯลฯ
สรุปได้ว่า รูปแบบโบสถ์ของวัดพระพิเรนทร์ มีการผสมผสานรูปแบบศิลปะที่เด่นๆในยุคสมัยของรัชกาลที่ ๓ ถึงต้นสมัยรัชกาลที่ ๕ เช่น การใช้ช่อฟ้าเป็นรูปพญานาคเป็นพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๔ (เช่น วัดมกุฏกษัตริยาราม) การแต่งผนังเป็นซุ้มโค้งยอดแหลมเป็นพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๕ (เช่น วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)
เดินไป วาดไป: วัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพฯ
บันทึกด้วยลายเส้น บนกระดาษ
แต่งแต้มสีสัน ตามช่วงเวลาบันทึกในบรรยากาศพลบค่ำ
โฆษณา