9 ก.พ. 2024 เวลา 04:13 • ประวัติศาสตร์

“การประท้วงของเด็กส่งหนังสือพิมพ์ปีค.ศ.1899” เมื่อเด็กส่งหนังสือพิมพ์กล้างัดข้อยักษ์ใหญ่หนังสือพิมพ์

ในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 นั้น ได้เกิดเหตุการณ์ที่น่าสนใจเหตุการณ์หนึ่งในสหรัฐอเมริกา และสามารถนำมาเป็นบทเรียนในโลกธุรกิจได้ในทุกวันนี้
นั่นคือเหตุการณ์ที่เด็กส่งหนังสือพิมพ์จำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นเด็ก เป็นเยาวชน บางรายมีอายุเพียงแค่เจ็ดขวบ แต่กล้าจะลุกขึ้นมางัดข้อกับยักษ์ใหญ่หนังสือพิมพ์ และจบลงด้วยชัยชนะอีกต่างหาก
เรื่องราวนี้เป็นอย่างไร ลองมาดูกันครับ
ในอดีตนั้น ที่สหรัฐอเมริกา ในเมืองใหญ่ๆ เช่น นิวยอร์ก ล้วนแต่มีเด็กส่งหนังสือพิมพ์อยู่ตามย่านต่างๆ วิ่งวุ่นไปทั่วเมืองเพื่อส่งหนังสือพิมพ์
แต่ในปีค.ศ.1899 (พ.ศ.2442) ก็ได้เกิดเหตุการณ์ “การประท้วงของเด็กส่งหนังสือพิมพ์ปีค.ศ.1899” และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นกรณีศึกษาเรื่องหนึ่งของสังคมและวงการธุรกิจเลยก็ว่าได้
ที่ผ่านมาก่อนหน้านั้น เหล่าเด็กส่งหนังสือพิมพ์นั้นล้วนแต่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บริหารหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่าง “วิลเลียม แรนโดล์ฟ เฮิร์สต์ (William Randolph Hearst)” ผู้บริหารหนังสือพิมพ์ “New York Evening Journal” และ “โจเซฟ พูลิตเซอร์ (Joseph Pulitzer)” ผู้บริหารหนังสือพิมพ์ “New York World” ซึ่งล้วนแต่เป็นหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ทั้งคู่
วิลเลียม แรนโดล์ฟ เฮิร์สต์ (William Randolph Hearst)
โดยปกตินั้น เด็กส่งหนังสือพิมพ์จะต้องเหมาซื้อหนังสือพิมพ์จำนวน 100 ฉบับในราคา 50 เซนต์ และนำไปขายฉบับละ 1 เซนต์ และเมื่อขายหมด 100 ฉบับก็จะได้เงินทั้งหมด 1 ดอลลาร์ เท่ากับได้กำไร 50 เซนต์หรือ 50%
แต่แล้วทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อเกิด “สงครามสเปน-อเมริกา (Spanish-American War)” ขึ้นในปีค.ศ.1898 (พ.ศ.2441) จากนั้น สำนักพิมพ์ก็เริ่มจะขึ้นราคาจาก 100 ฉบับ 50 เซนต์ ขึ้นเป็น 100 ฉบับ 60 เซนต์
และนี่แหละ คือจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง
สงครามสเปน-อเมริกา (Spanish-American War)
ในทีแรก เหล่าเด็กส่งหนังสือพิมพ์ก็ยังไม่ได้ว่าอะไร ถึงแม้จะขึ้นราคาเล็กน้อย แต่หนังสือพิมพ์ก็ขายได้หมดและยังขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เนื่องจากผู้คนต่างสนใจข่าวสงคราม ทำให้ยอดขายนั้นถล่มทลาย
แต่เมื่อสงครามจบลง หนังสือพิมพ์หลายแห่งก็ลดราคาลงเหลือ 50 เซนต์เท่าเดิม หากแต่สองผู้บริหารยักษ์ใหญ่หนังสือพิมพ์อย่าง “วิลเลียม แรนโดล์ฟ เฮิร์สต์ (William Randolph Hearst)” และ “โจเซฟ พูลิตเซอร์ (Joseph Pulitzer)” ไม่ยอมลดราคา ยังคงขายที่ราคาเดิมคือ 100 ฉบับ 60 เซนต์
เมื่อไม่มีข่าวสงครามอีกแล้ว ผู้คนจึงไม่ได้สนใจซื้อหนังสือพิมพ์มากเท่าเดิม ยอดขายเริ่มลด เหล่าเด็กส่งหนังสือพิมพ์ก็เริ่มจะไม่พอใจที่ต้องจ่ายในราคาเพิ่มแต่ยอดขายกลับลดลง และฟางเส้นสุดท้ายก็ขาดผึงลงเมื่อกลุ่มเด็กส่งหนังสือพิมพ์ในย่านหนึ่ง พบว่าตนนั้นต้องจ่ายเงินค่าหนังสือพิมพ์ 60 เซนต์ แต่หนังสือพิมพ์ที่มาส่งให้พวกตนนำไปขายนั้นกลับมีไม่ถึง 100 ฉบับ
โจเซฟ พูลิตเซอร์ (Joseph Pulitzer)
เหล่าเด็กส่งหนังสือพิมพ์ที่โกรธเกรี้ยวและโดนเอาเปรียบเริ่มใช้ความรุนแรง โค่นรถส่งหนังสือพิมพ์และขโมยหนังสือพิมพ์ไปทั้งหมด
19 กรกฎาคม ค.ศ.1899 (พ.ศ.2442) เหล่าเด็กส่งหนังสือพิมพ์ได้มารวมตัวกันที่สวนกลางเมืองแมนฮัตตัน และเรียกร้องให้เฮิร์สต์และพูลิตเซอร์ลดราคาส่งหนังสือพิมพ์ 100 ฉบับเหลือ 50 เซนต์เท่าเดิม และประกาศว่าเหล่าเด็กส่งหนังสือพิมพ์จะไม่ขอซื้อหนังสือพิมพ์ของทั้งคู่จนกว่าข้อเรียกร้องจะสำเร็จ
การประท้วงได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
ในทีแรก ยักษ์ใหญ่ทั้งสองต่างไม่สนใจ คิดว่านี่ก็เป็นเพียงแค่ความไม่พอใจของเหล่าเด็กส่งหนังสือพิมพ์ ซึ่งเมื่อเทียบกับตนที่เป็นเศรษฐียักษ์ใหญ่วงการหนังสือพิมพ์แล้วเทียบกันไม่ได้เลย เดี๋ยวเด็กพวกนี้ก็คงยอมเลิกราไปเอง
หากแต่เหล่าเด็กส่งหนังสือพิมพ์นั้นแน่วแน่กว่าที่หลายคนคิด ในวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ.1899 (พ.ศ.2442) เหล่าเด็กส่งหนังสือพิมพ์ได้เข้ารื้อทำลายแผงหนังสือพิมพ์ที่หนังสือพิมพ์นำมาจำหน่าย และยังข่มขู่ทำลายแผงหนังสือพิมพ์ของ New York World และ New York Evening Journal
ในทีแรก ตำรวจก็สามารถเข้าควบคุมสถานการณ์และจับกุมเด็กส่งหนังสือพิมพ์ที่ก่อจลาจลได้ แต่เหตุการณ์ประท้วงยังดำเนินต่อไป และจำนวนเด็กส่งหนังสือพิมพ์ที่ร่วมการประท้วงต่อต้านก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ วัน หนังสือพิมพ์จำนวนมากถูกขโมยและทำลาย
1
ทั้งเฮิร์สต์และพูลิตเซอร์ซึ่งในทีแรกไม่ได้สนใจและมองเป็นเรื่องเล็กก็เริ่มจะนั่งไม่ติด เริ่มติดตามสถานการณ์อย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งในช่วงสองสัปดาห์ต่อมา เหล่าเด็กส่งหนังสือพิมพ์ก็ทำการเดินขบวนประท้วง และยังฉีกทำลายหนังสือพิมพ์สองหัว รวมทั้งกดดันเหล่าแผงหนังสือพิมพ์ให้เข้าสนับสนุนพวกตน
ในไม่ช้า ยอดขาย New York World ก็ลดลงฮวบฮาบ จากขายได้ 360,000 ฉบับ เหลือเพียง 125,000 ฉบับ และคราวนี้ เหล่าแผงหนังสือพิมพ์ที่ได้รับความเดือดร้อนและประชาชนอีกจำนวนมากก็ได้เข้าสนับสนุนเด็กส่งหนังสือพิมพ์ ทำให้ทั้งเฮิร์สต์และพูลิตเซอร์ไม่อาจอยู่เฉยได้อีกแล้ว
ในเวลาเพียงสองสัปดาห์ เหตุการณ์ประท้วงและก่อความวุ่นวายของเหล่าเด็กส่งหนังสือพิมพ์ก็ทำให้ยอดขายและผลกำไรของหนังสือพิมพ์ของเฮิร์สต์และพูลิตเซอร์ลดลงอย่างฮวบฮาบ ทำให้มหาเศรษฐียักษ์ใหญ่วงการสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งสองรายต้องยอมเข้าเจรจา พูดคุยกับเด็กส่งหนังสือพิมพ์ในที่สุด
2 สิงหาคม ค.ศ.1899 (พ.ศ.2442) เหล่าเด็กส่งหนังสือพิมพ์ก็ได้ทำข้อตกลงกับทั้งเฮิร์สต์และพูลิตเซอร์ นั่นคือเด็กส่งหนังสือพิมพ์จะยอมเหมาซื้อหนังสือพิมพ์ 100 ฉบับในราคาเดิม นั่นคือ 60 เซนต์ แต่ถ้าขายไม่หมด เฮิร์สต์และพูลิตเซอร์ต้องยอมรับหนังสือพิมพ์ที่ขายไม่หมดนั้นกลับไปและจ่ายเงินส่วนต่างที่ขายไม่หมดคืนให้เด็กส่งหนังสือพิมพ์
เหตุการณ์การประท้วงนี้มีระยะเวลาเพียงสองสัปดาห์ แต่กลับเป็นเหตุการณ์ที่เป็นที่กล่าวถึงในระดับประเทศ และเป็นที่กล่าวขวัญจากการที่เหล่าเด็กส่งหนังสือพิมพ์สามารถเอาชนะมหาเศรษฐีที่มีทั้งเงินและอำนาจอย่างเฮิร์สต์และพูลิตเซอร์
เหตุการณ์นี้ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เป็นที่จดจำและอาจจะเป็นบทเรียนที่ใช้ได้แม้ในปัจจุบัน
โฆษณา