7 ก.พ. เวลา 03:33 • ข่าวรอบโลก

ลักเซมเบิร์ก - โปรตุเกส สัมพันธ์ใกล้ชิด แม้ไม่ติดพรมแดน

ลักเซมเบิร์กกับโปรตุเกส เป็นประเทศที่อยู่ห่างกันประมาณ 1,700 กิโลเมตร แต่ทราบหรือไม่ว่า ลักเซมเบิร์กมีประชากรชาวโปรตุเกสมากเป็นลำดับ 2 ของประเทศ โดยมีประชากรอาศัยมากกว่า 90,000 คน นับเป็นร้อยละ 15 จากประชากรลักเซมเบิร์กทั้งหมด 640,000 คน แล้วจุดเริ่มต้นของชาวโปรตุเกสในลักเซมเบิร์กมีที่มาอย่างไร?
ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของโปรตุเกส (สีเขียว) และลักเซมเบิร์ก (สีแดง)
ปี ค.ศ.1890 ลักเซมเบิร์กเป็นอิสระจากเนเธอร์แลนด์อย่างเป็นทางการ ทางราชวงศ์นัสซอ-ไวล์เบิร์กที่ปกครองลักเซมเบิร์กต้องผูกมิตรกับราชวงศ์อื่นๆในยุโรป จึงได้เชื่อมความสัมพันธ์ด้วยการแต่งงาน ระหว่าง เจ้าชายวิลเลียม พระราชโอรสในแกรนด์ดยุคอดอล์ฟแห่งลักเซมเบิร์ก (ต่อมาได้ครองราชย์เป็นแกรนด์ดยุควิลเลียมที่ 4 แห่งลักเซมเบิร์ก) กับ เจ้าหญิงมารีอานน์พระราชธิดาในพระเจ้ามิเกลที่ 1 แห่งราชวงศ์บรากันซาโปรตุเกส ในปี ค.ศ.1893 กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ
แกรนด์ดยุควิลเลียมที่ 4 (ซ้าย) และแกรนด์ดัชเชสมารีอานน์ (ขวา) แห่งลักเซมเบิร์ก (ภาพจาก https://monarchie.lu/en/monarchy/former-sovereigns/hrh-grand-duke-guillaume-iv/hrh-grand-duchess-maria-ana)
เมื่อลักเซมเบิร์กถูกเยอรมนีรุกรานในปี ค.ศ.1940 บรรดาเชื้อพระวงศ์, ผู้บริหารและประชาชนลักเซมเบิร์กเห็นว่าโปรตุเกสเป็นประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกในทวีปยุโรป จึงอพยพไปตั้งลี้ภัยและตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่โปรตุเกส โดยได้รับการช่วยเหลือด้านวีซ่าจากอริสติเดส เดอ ซูซ่า เมนเดซ กงสุลโปรตุเกสประจำเมืองบอร์โด ประเทศฝรั่งเศส
อริสติเดส เดอ ซูซ่า เมนเดซ
โปรตุเกสในระยะเวลานั้น บริหารประเทศโดยอันโตนิโอ เดอ โอลิเวียร่า ซาลาซาร์ นายกรัฐมนตรีผู้ขึ้นอำนาจตั้งแต่ ค.ศ.1932-1968 และสร้างระบบการปกครองที่เรียกว่า “เอสตาโด โนโว (รัฐใหม่)” ที่เน้นความเป็นคาทอลิกอย่างเคร่งครัด มุ่งเน้นชาตินิยม รักษาอาณานิคม และเป็นศัตรูกับคอมมิวนิสต์กับเสรีนิยม
อันโตนิโอ เดอ โอลิเวียร่า ซาลาซาร์ อดีตนายกรัฐมนตรีโปรตุเกส
การปกครองแบบเข้มงวดของซาลาซาร์ ทำให้โปรตุเกสกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตช้าประเทศหนึ่งในทวีปยุโรป ประกอบกับกระแสการเรียกร้องเอกราชในติมอร์เลสเต แองโกลา และรัฐกัว ทำให้รัฐบาลโปรตุเกสต้องทุ่มงบประมาณในการปราบปรามผู้เรียกร้องเอกราช จนไม่สามารถนำงบประมาณไปพัฒนาประเทศ ประชากรชาวโปรตุเกสจึงอพยพไปหางานทำที่ลักเซมเบิร์ก แม้ในช่วงแรกๆจะอพยพแบบผิดกฏหมาย ต่อมาทั้ง 2 ประเทศจึงได้ทำข้อตกลงทวิภาคีเกี่ยวกับการจ้างแรงงานโปรตุเกสในลักเซมเบิร์ก ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ.1972
ปัจจุบัน ภาษาโปรตุเกสกลายเป็นภาษาที่ใช้ในลักเซมเบิร์กรองจากภาษาหลักอย่างลักเซมเบิร์ก,ฝรั่งเศส,เยอรมัน และอังกฤษ และมีป้ายจราจรกับป้ายร้านค้าควบคู่กันกับภาษาฝรั่งเศสและเยอรมนี
ป้าย 3 ภาษา
โฆษณา