9 เม.ย. เวลา 03:00 • ประวัติศาสตร์
Casa do Passal

อริสติเดส เดอ ซูซ่า เมนเดซ : กงสุลโปรตุเกสผู้พาผู้นำลักเซมเบิร์กและซัลบาดอร์ ดาลีพ้นภัยสงคราม

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ.1939-1945) มีวีรบุรุษที่ไม่ได้เป็นทหารหลายคนที่ทำการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจนได้รับการยกย่อง เช่น ออสการ์ ชินด์เลอร์ หรือ ชิอุเนะ สุงิฮาระ แต่มีบุคคลหนึ่ง ที่ได้ทำการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจนภาครัฐสั่งย้าย และกลับมามีชื่อเสียงอีกครั้งหลังจากที่เขาถึงแก่กรรมไปแล้ว
ออสการ์ ชินด์เลอร์ (ซ้าย) และชิอุเนะ สุงิฮาระ (ขวา)
ชื่อของเขาคือ “อริสติเดส เดอ ซูซ่า เมนเดซ”
อริสติเดส เดอ ซูซ่า เมนเดซ เกิดเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1885 ณ เมือง วิเซว ประเทศโปรตุเกส จบการศึกษาด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยกูอิมบรา ในปี ค.ศ.1907 และแต่งงานกับแองเจลินา ในปีถัดมา มีบุตรธิดารวมกัน 15 คน
อริสติเดส เดอ ซูซ่า เมนเดซ
อริสติเดส เริ่มงานการต่างประเทศครั้งแรกในตำแหน่งกงสุลที่แซนซิบาร์ (ประเทศแทนซาเนียในปัจจุบัน) ตั้งแต่ ค.ศ.1911-1917 จากนั้นจึงได้ไปประจำการในประเทศต่างๆ ได้แก่ โคริติบา บราซิล (ค.ศ.1917-1921), กงสุลใหญ่ ณ ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา (ค.ศ.1921-1923), กงสุลใหญ่ ณ ปอร์โต อเลเกร บราซิล (ค.ศ.1923-1925), กงสุลใหญ่ ณ บีโก สเปน (ค.ศ.1925-1928), กงสุลใหญ่ ณ อันท์เวิร์ป เบลเยี่ยม (ค.ศ.1928-1938) และกงสุลใหญ่ ณ บอร์โด ฝรั่งเศส (ค.ศ.1938-1940)
ช่วงเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ ณ เมืองบอร์โด สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มเปิดฉากขึ้น โปรตุเกสภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอันโตนิโอ เดอ โอลิเวียร่า ซาลาซาร์ ได้ออกกฎหมายมาตรา 14 ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1939 ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ทางการทูตออกหนังสือเดินทางแก่ผู้ลี้ภัยไปยังประเทศที่ 3
อริสติเดสพิจารณาว่ากฎหมายนี้ไม่เป็นธรรม และตัดสินใจว่าจะช่วยผู้ลี้ภัยให้ได้ โดยเขาประกาศว่า “ขอยืนอยู่ข้างพระเจ้า ดีกว่าต่อสู้กับพระเจ้า”
อริสติเดสใช้เวลาตั้งแต่วันที่ 12-23 มิถุนายน ค.ศ.1940 ในการออกหนังสือเดินทางให้ผู้ลี้ภัยจาก 48 ชาติ เพื่อเดินทางจากฝรั่งเศสข้ามพรมแดนสเปนและโปรตุเกส เพื่อข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังสหรัฐอเมริกา
บุคคลสำคัญที่อริสติเดสเข้าช่วยเหลือได้แก่ ได้แก่ แกรนด์ดัชเชสชาร์ล็อตต์แห่งลักเซมเบิร์ก, เจ้าชายเฟลิกซ์ พระสวามีในแกรนด์ดัชเชสชาร์ล็อตต์, เจ้าชายฌอง รัชทายาท (ต่อมาได้เป็นแกรนด์ดยุคฌองแห่งลักเซมเบิร์ก), ปิแอร์ ดูปงต์ นายกรัฐมนตรีลักเซมเบิร์ก, ซัลบาดอร์ ดาลี ศิลปินเซอร์เรียลลิสม์ชาวสเปน, อดีตจักรพรรดินีซิต้าแห่งออสเตรีย-ฮังการี, อดีตมกุฏราชกุมารออตโต แห่งออสเตรีย-ฮังการี, โรเบิร์ต มอนต์โกเมอรี นักแสดงชาวอเมริกัน, เอลเวียร์ โปเปสคู นักแสดงชาวโรมาเนีย ฯลฯ
แกรนด์ดัชเชสชาร์ล็อตต์แห่งลักเซมเบิร์ก (ซ้าย)  อดีตมกุฏราชกุมารออตโต แห่งออสเตรีย-ฮังการี (ขวา)
การกระทำของอริสติเดส สร้างความไม่พอใจต่อรัฐบาลโปรตุเกส จึงเรียกตัวเขากลับประเทศ เพื่อดำเนินคดีและริบตำแหน่งทางการทูตและสวัสดิการต่างๆ บุตรธิดาถูกห้ามเข้าเรียนและสมัครงาน ครอบครัวต้องขายบ้าน “Casa Do Passal” เพื่อหาเงินชำระหนี้และดำรงชีพ
มรสุมชีวิตเริ่มถาโถม อริสติเดสป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง ทำให้เขาเป็นอัมพาตตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ.1944 อีก 2 ปีต่อมา เขาได้เขียนจดหมายถึงสันตะปาปาปิอุสที่ 12 เพื่อขอรับการช่วยเหลือ แต่ไม่มีการตอบกลับ ในปี ค.ศ.1951 เซบาสเตียว บุตรของเขาได้เขียนนิยาย “Flight Through Hell” เพื่อสดุดีวีรกรรมของพ่อผ่านนามปากกา ไมเคิล ดาฟรานช์
แต่ความดีที่เขาทำไว้ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นไม่สูญเปล่า เมื่อรัฐบาลอิสราเอลได้ทราบถึงวีรกรรมของอริสติเดสที่เคยช่วยเหลือชาวอิสราเอลให้สามารถลี้ภัยยังต่างประเทศได้ จึงได้มอบรางวัล “Righteous Among the Nations” ให้แก่ครอบครัวอริสติเดสเมื่อปี ค.ศ.1966
รางวัล Righteous Among the Nations
หลังจากที่ระบบรัฐใหม่สิ้นสุดลงจากการปฏิวัติคาร์เนชันในปี ค.ศ.1974 คดีความของอริสติเดสได้รับชำระขึ้นมาใหม่ อริสติเดสได้รับทางตำแหน่งทางการทูตกลับคืนมา เขาได้รับการยกย่องในฐานะบุคคลสำคัญของโปรตุเกส, สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา
บ้าน Casa Do Passal กลายเป็นอนุสรณ์สถานแห่งโปรตุเกสในปี ค.ศ.2011 ชื่อของเขาได้รับการแต่งตั้งให้กับเครื่องบินแอร์บัส A319 ของสายการบิน TAP ในปี ค.ศ.2014 และในปีเดียวกันนั้นเอง ได้มีการทำป้ายจารึกถึงวีรกรรมของเขา ณ เมืองบอร์โด ประเทศฝรั่งเศส รวมทั้งมีการจัดงานรำลึกถึงเขาในโอกาสสำคัญต่างๆอีกด้วย
Casa do Passal บ้านของอริสติเดส ในเมืองวิเซว ประเทศโปรตุเกส
โฆษณา