7 ก.พ. เวลา 04:36 • การเมือง

หลายปีมานี้ ผมได้รับเกียรติแต่งตั้งเป็น 'สาวกเผด็จการ' อยู่บ่อยๆ

ผมไม่รู้ว่าจุดเริ่มต้นอยู่ที่ใคร พูดเองเออเอง สรุปเองเสร็จสรรพ แต่สารนี้ถูกส่งต่อๆ กันมาในโลกโซเชียล ขยายความให้มีสีสันขึ้น จนในที่สุดความเท็จก็กลายเป็น 'ความจริง'
แน่นอนผมเคยแย้งกลับไป ได้คำตอบกลับมาว่า "แถ" ก็เลิกคุย อยากเชื่ออะไรก็เชื่อไปเถอะ ถ้าจะใช้สมองเป็นแค่ที่เก็บของ ก็ตามสบาย
แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่ผมวางเฉย เพราะรู้ว่าคนด่าไม่รู้จริง ไม่เคยศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่รู้ที่มาที่ไปของระบอบการเมืองต่างๆ และไม่เคยคิดหาความรู้เพิ่ม ใครบอกอะไรมาก็เชื่อเลย นี่รวมคนระดับอาจารย์ด้วย
ลองถามคนที่ชอบยัดข้อหาเผด็จการให้คนอื่นว่า โลกนี้มีเผด็จการกี่แบบ democracy ต่างจาก demagoguery อย่างไร รู้ไหมว่าคนเขียนรัฐธรรมนูญสหรัฐฯไม่เคยมีความคิดมอบความเสมอภาคให้ประชาชนเลย ฯลฯ ก็คงไม่รู้ เพราะท่องจำมาแค่ว่า โลกนี้ไม่ไปทางซ้ายก็ต้องขวา ไม่ขาวก็ต้องดำ มีเท่านี้
บ้านเมืองเราจึงเต็มไปด้วยคน 'น้ำเต็มแก้ว' ที่ในชีวิตไม่เคยอ่านอะไร ไม่เคยคิดศึกษาก่อนด่า หรืออ่านทฤษฎีไม่เกิน 8 บรรทัดก็ตั้งตนเป็นอาจารย์
ที่แปลกก็คือพวกที่เรียกตัวเองว่า liberal (เสรีนิยม) ซึ่งหัวใจคือเสรีภาพและความเสมอภาค กลับเต็มไปด้วยกฎกติกาที่ตายตัว "นี่ถูก" "นั่นไม่ถูก" และชี้นิ้วด่าคนที่เห็นต่าง ฟังดูย้อนแย้งกับหลัก 'เสรีภาพ' และ 'ความเสมอภาค' ที่ตนบูชาชอบกล ว่าก็ว่าเถอะ มันดูเป็นคุณลักษณ์ของเผด็จการมากกว่า
แล้วผมล่ะเป็นฝ่ายไหน?
คำตอบอยู่ในงานเขียนและวิธีใช้ชีวิตของผม คนที่อ่านงานเขียนของผมมายาวนานย่อมรู้ ตลอดชีวิตผมไม่มีกฎกติกาตายตัว ไร้รูปแบบ อะไรก็ได้ ถ้ามันดี ก็ใช้ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคืองานแนวทดลองจำนวนมากที่แหกกฎทุกข้อ
ในเรื่องศาสนาก็เช่นกัน ผมบอกเสมอว่าผมเป็นพวกไม่สังกัด 'ค่ายเพลง' ใด ผมดำเนินชีวิตด้วยหลักบางท่อนของพุทธ บางท่อนของเซน เต๋า กรีก คริสต์ อิสลาม อะไรก็ได้ ถ้ามันดี ก็ใช้
ดังนั้นผมจึงไม่ใช่ทั้งฝ่ายโปรเผด็จการ ไม่ใช่ฝ่ายโปรประชาธิปไตย ไม่ใช่ฝ่ายโปรฟาสซิสต์ ไม่ใช่ฝ่ายโปรอนุรักษ์นิยม ไม่ใช่สังคมนิยม ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ไม่ใช่ทุนนิยม ไม่ใช่อะไรทั้งนั้น อะไรก็ได้ ถ้ามันดี ก็ใช้ แต่ต้องใช้คุณธรรมนำหน้าเสมอ
วิธีมองโลกแบบนี้น่าจะเข้าข่าย Pragmatism (ปฏิบัตินิยม) ซึ่งก็เป็นวิธีที่ลีกวนยูใช้ปกครองประเทศสิงคโปร์
ลีกวนยูบอกว่า “เราเป็นพวก pragmatist (นักปฏิบัติ) เราไม่ยึดมั่นกับลัทธิความเชื่อใดๆ มันได้ผลไหม? ก็ต้องลองดู และถ้ามันได้ผล ก็ดี ทำต่อไป ถ้ามันไม่ได้ผล ก็ทิ้งมันไป แล้วลองอันใหม่ เราไม่ยึดติดกับลัทธิความเชื่อใดๆ”
ดังนั้นหลังจากเขียนเรื่องลีกวนยูสร้างชาติมาสี่ตอน ก็เห็นเป็นโอกาสดีที่จะเขียนเรื่องประชาธิปไตย เพื่อให้เข้าใจตรงกันสักที ในบทความชื่อ 'ทำไมโสเครติสเกลียดระบอบประชาธิปไตย'
อ่านแล้วจะได้เลิกนิสัยติดตราแปะป้ายให้คนที่เห็นต่าง เพราะโลกไม่ได้มีแค่ซ้ายกับขวา
โลกกว้างกว่าถ้วยที่มีน้ำเต็มล้นมากนัก
วินทร์ เลียววาริณ
2 กุมภาพันธ์ 2567
อ่านบทความ 'ทำไมโสเครติสเกลียดระบอบประชาธิปไตย' คลิกลิงก์ได้ https://www.blockdit.com/posts/65b8c5596a2b7ba627eb4bfb
โฆษณา