8 ก.พ. เวลา 11:48 • ท่องเที่ยว

หอคอยแห่งชัยชนะของชาวมุสลิม : กุตุบมีนาร์

กุตุบมีนาร์ ชื่อของหอคอยอันสูงตระหง่าน ตั้งอยู่ในกรุงเดลี ประเทศอินเดีย เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ประจำเมือง มีความสูง 72.5 เมตร และด้วยความสูงขนาดนี้ ทำให้หอคอยมีขั้นบันไดถึง 379 ขั้น!! แบ่งเป็นชั้นได้ทั้งหมด 5 ชั้น ซึ่งระยะเวลาการสร้างทุกชั้นรวมทั้งสิ้นประมาณเกือบ 200 ปี เลยทีเดียว
หอคอยกุตุบมีนาร์ เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ประจำเมืองเดลี อีกทั้งยังได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในอนุสรณ์สถานประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในเมืองเดลี ส่วนในอดีตเคยใช้เป็นหอคอยสุเหร่า (หออะษาน) สำหรับเรียกให้ชาวมุสลิมมาละหมาด และมีเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาอิสลามอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ทำให้ชื่อของต้องถูกขนามนามอีกอย่างว่า ‘หอคอยแห่งชัยชนะ’
แต่เอ๊ะ…ชนะเรื่องอะไรล่ะ หลายคนคงสงสัยใช่มั้ย ??
ก่อนจะเริ่มต้นเล่าเรื่องราว ต้องขอเกริ่นก่อนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องราวระหว่างฝั่งศาสนาอิสลาม และฝั่งศาสนาฮินดู…
เมื่อย้อนนนนนนนกลับไปในอดีต ในช่วงเวลาของเหตุการณ์การสู้รบทาเรนครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นบริเวณเมืองทาเรน (ปัจจุบันคือเมืองทาราโอริ รัฐหรยาณา ประเทศอินเดีย) ในตอนนั้นเป็นศึกระหว่างราชวงศ์กูริด ฝั่งศาสนาอิสลาม และราชวงศ์เชาหาน เป็นกลุ่มวงศ์ตระกูลราชบัต ฝั่งศาสนาฮินดู
ประเด็นในการเกิดศึกครั้งนี้มาจากการที่ราชวงศ์กูริด ที่เดินทางมาจากแถบประเทศอัฟกานิสถาน ต้องการที่จะขยายอาณาจักรเข้าสู่อินเดียตอนเหนือที่ราชวงศ์เชาหานปกครองอยู่ เพราะในช่วงนั้นถือว่าอินเดียตอนเหนือกำลังอ่อนแออยู่
โดยการขยายอาณาเขตสู่อินเดียในครั้งนี้ ราชวงศ์กูริดก็ได้ตั้งข้อเสนอหลักๆ มาหนึ่งอย่าง คือต้องการให้อินเดียแถบนั้นหันมานับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งแน่นอนว่าทางฝั่งราชวงศ์เชาหานไม่เอาด้วย ในที่สุดก็เลยโดนราชวงศ์กูริดบุกโจมตี
การสู้รบครั้งนี้มีทั้งหมดด้วยกัน 2 ครั้ง ครั้งสุดท้ายนั้นจบลงด้วยชัยชนะอย่างเฉียบคมของฝั่งราชวงศ์กูริดที่สามารถบุกรุกและเจาะทะลวงที่ราบอินเดียตอนเหนือได้สำเร็จ ทำให้ในเวลาต่อมาทางฝั่งชาวมุสลิมได้เข้าไปวางรากฐานการปกครองของชาวมุสลิมในบริเวณอินเดียตอนเหนือ และเริ่มการสถาปนารัฐสุลต่านเดลีขึ้นมา ทำให้กลุ่มวงศ์ตระกูลราชบัตที่เคยปกครองมาก่อนหน้าเลยศูนย์เสียอำนาจการปกครองในอินเดียตอนเหนือไปในระยะหนึ่ง
โดยในเวลาต่อมา ผู้นำของราชวงศ์กูริดดันมาเสียชีวิตจากการถูกลอบฆ่า ทำให้กุตุบ อุดดิน ไอบัค ผู้ที่เป็นนายพลในราชวงศ์กูริด และเป็นผู้ที่มีกองบัญชาการทหารอยู่ที่เมืองเดลี ก็ได้ถือโอกาสใช้อำนาจทางการฑูตและอำนาจทางการทหารเพื่อไต่เต้าขึ้นมาเป็นผู้ปกครองคนต่อไป และถึงขั้นตั้งราชวงศ์มัมลุกในอินเดียตอนเหนือขึ้นมา ซี่งราชวงศ์นี้ถือว่าเป็นราชวงศ์ที่นับถือศาสนาอิสลามในอินเดียตอนเหนือเป็นราชวงศ์แรกเลย
จากนั้นด้วยความที่อยากเฉลิมฉลองกับชัยชนะที่สามารถเข้ามาปกครองอินเดียตอนเหนือได้ ทางไอบัคจึงสั่งให้ช่างฝีมือชาวอินเดียก่อสร้างหอคอยกุตุบ มีนาร์ขึ้นมา (ด้วยเหตุผลนี้เองผู้คนในปัจจุบันเลยเชื่อว่าหอคอยนี้ตั้งชื่อตามชื่อของไอบัค)
ในช่วงแรกที่ไอบัคปกครอง เขาสั่งให้สร้างหอคอยนี้เพียงแค่ชั้นใต้ดินและชั้นแรก ส่วนอีก3-4ชั้นที่เหลือ สร้างโดยผู้ปกครองคนต่อๆ ไป
ชั้นบนของหอคอยมีสีขาวๆ เพาะทำมาจากหินอ่อนนั่นเอง
ส่วนวัสดุที่ใช้สร้างหอคอยแห่งนี้ก็จะแตกต่างกันไป เนื่องจากผู้สร้างมีหลายคน และมีการต่อเติมส่วนต่างๆ ในภายหลัง โดยในสองชั้นแรก สร้างโดยใช้วัสดุหินทรายสีแดง ส่วนอีกสามชั้นที่เหลือมีการตกแต่งแบบลักษณะเรียบง่าย
และเนื่องจากการสร้างหอคอยกุตับ มีนาร์ เป็นการสร้างทับบริเวณของวัดฮินดู เดิมเคยเป็นบริเวณที่มีโครงสร้างหอคอยแบบฮินดู-เชน เรียกกันว่า สตัมบา (stambha) ทำหน้าที่เป็นเหมือนเสาจักรวาลที่เชื่อมระหว่างสวรรค์และโลก แต่สุดท้ายก็โดนชาวมุสลิมสร้างหอคอยแบบอิสลามทับ จึงทำให้เราสามารถเห็นถึง 2 ศิลปะภายในสถานที่แห่งนี้ อันได้แก่ ศิลปะฮินดู และศิลปะอิสลาม
ภาพหอคอยแบบฮินดู-เชน เรียกกันว่า สตัมบา ที่เชื่อกันว่าเคยตั้งอยู่ก่อนหน้าหอคอยกุตุบมีนาร์ (อันนี้เป็นภาพของที่อื่น ไม่ใช่บริเวณกุตุบมีนาร์)
ในส่วนของศิลปะอิสลามจะเห็นได้ชัดจากบริเวณตรงตัวหอคอยที่มีการแกะสลักอักษรถ้อยคำจากพระคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งเป็นคัมภีร์ของศาสนาอิสลาม ส่วนบริเวณรอบๆ หอคอยจะเห็นศิลปะฮินดู อย่างการแกะสลักเป็นลวดลายฮินดูอยู่ตามเสา เช่น ลายมูรติ เทวรูปในศาสนาฮินดู
การแกะสลักอักษรถ้อยคำจากพระคัมภีร์อัลกุรอาน บริเวณรอบๆ หอคอย
ปัจจุบันหอคอยแห่งนี้นอกเหนือจากจะเป็นสัญลักษณ์แห่งกรุงเดลีแล้ว ยังเป็นจุดที่เอาไว้แสดงการประดับไฟในโอกาสพิเศษต่างๆ ของประเทศอินเดีย และยังเป็นการประดับไฟที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศต่างๆ เช่นในโอกาสที่ผ่านมา มีการประดับไฟหอคอยด้วยสีของธงชาติเม็กซิโกเพื่อเฉลิมฉลองวันประกาศอิสรภาพปีที่ 213 ของเม็กซิโก ทำให้ไม่ว่าจะในกลางวันหรือกลางคืน หอคอยแห่งนี้ก็มีเสน่ห์ที่น่าจดจำตลอดเวลา
1
(ดูภาพเอ็มวีที่เคยถ่ายทำในหอคอยนี้ได้ในคอมเมนต์)
โฆษณา