10 ก.พ. เวลา 08:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ดราม่าผ่อนบ้าน “ไม่ตัดเงินต้น ส่งเท่าไหร่วิ่งไปหาแต่ดอกเบี้ย”

ดราม่าผ่อนบ้านโพสต์สลิป ผ่อนบ้านเดือนละ 8,400 บาทจ่ายดอกเบี้ยทั้งหมด ไม่ตัดเงินต้นเลย อีกราย ผ่อน 14,200 บาท หักเงินต้น 500 กว่าบาท
เจออีกราย! เจ้าของบ้านโอดผ่อนบ้านดอกเบี้ย 8,400 บาท เงินต้น 0 บาท เกิดเป็นประเด็นดราม่า เจ้าของบ้านโพสต์สลิปผ่อนบ้านกับธนาคารแห่งหนึ่ง พบว่า สลิปเดือนมกราคม และ กุมภาพันธ์ 2567 จ่ายสินเชื่อบ้าน 8,400 บาท
ตัดเป็นดอกเบี้ยหมดเลย เงินต้นเท่ากับศูนย์ ย้อนไปดูสลิปเดือนธันวาคม 2566 ตัดเงินต้นไป 249 บาท และ เดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมาตัดเงินต้นไปเพียง 22 บาท ซึ่งเห็นแบบนี้ก็ปวดใจ ดอกเบี้ยปรับขึ้น ทำให้เงินต้นไม่พอหัก
สลิปผ่อนบ้านเดือนละ 8,400 บาทจ่ายดอกเบี้ยทั้งหมด
ซ้ำร้อยกับอีกราย ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์ข้อความว่า “ว่าด้วยเรื่องซื้อบ้าน ผ่อนบ้านมาจะ 3 ปี ไม่เคยได้ใบเสร็จ เพราะหักเงินเดือนมาตลอด วันนี้ไปธนาคารเลยไปทำแอปฯ พอเปิดดูใบเสร็จจ่ายค่าบ้านเท่านั้นแหละ คุณพระ! จ่ายค่าบ้าน 14,200 บาท หักเงินต้น 580.34 บาท ดอกเบี้ย 13,619.66 บาท คำถามในใจคือ บ้านจะหมดเมื่อไหร่ ชาติไหน อยากจะร้องไห้”
จ่ายค่าบ้าน 14,200 บาท หักเงินต้น 580.34 บาท ดอกเบี้ย 13,619.66 บาท
คำแนะนำสำหรับใครที่อยากลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้หรือหมดหนี้บ้านไวขึ้น
1. จัดการรายรับ–รายจ่าย ได้แก่ ลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ทั้งการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้จะช่วยให้เรามีเงินคงเหลือในแต่ละเดือนเพิ่มมากขึ้น (เงินคงเหลือ = รายรับ – รายจ่าย – ภาระผ่อนหนี้) พอมีเงินเหลือมากขึ้น ก็สามารถนำเงินที่มีไปโปะหนี้เพิ่มเพื่อปลดหนี้ให้เร็วขึ้น และยังช่วยให้ประหยัดดอกเบี้ยอีกด้วย
2. เจรจาเจ้าหนี้หรือหาเงื่อนไขใหม่ที่ดีกว่า ได้แก่ เจรจาขอลดดอกเบี้ยและ Refinance
การเจรจาต่อรองขอลดดอกเบี้ยกับเจ้าหนี้เป็นสิ่งที่สามารถทำได้และควรทำ เพราะหนี้บ้านส่วนใหญ่จะมีอัตราดอกเบี้ย 2 ช่วง คือ ดอกเบี้ยต่ำในช่วงแรกเพื่อจูงใจลูกค้า และมักจะเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ 3% ใน 3 ปีแรก และช่วงที่สองเป็นแบบอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัวซึ่งมักจะแพงกว่าช่วงปีแรก ๆ เช่น MRR[1] จนสิ้นสุดอายุสัญญา
เมื่อผ่อนไประยะหนึ่งจนใกล้ถึงช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามสัญญาจะคิดแบบลอยตัว สามารถเข้าไปยื่นเรื่องเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่ควรเตรียมตัวอย่างน้อย 1 เดือนก่อนที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในสัญญาจะปรับเป็นแบบลอยตัว
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา