11 ก.พ. เวลา 13:03 • ความคิดเห็น

Outlive ตอนที่ 4 - โรคอัลไซเมอร์

ดังที่เคยกล่าวไปในตอนแรกว่า ยุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยให้เรามีอายุยืนยาวและสุขภาพที่แข็งแรงจวบจนสิ้นอายุขัย คือการหยุดยั้งและป้องกัน 4 พญามาร (The Four Horsemen) ให้ได้นานที่สุด
โดยพญามารทั้งสี่ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคสมองเสื่อม
สามตอนที่ผ่านมาเราได้คุยถึงพญามารทั้งสามตัวไปแล้ว ตอนนี้มาถึงพญามารตัวสุดท้าย ซึ่งก็คือโรคสมองเสื่อม (dementia) และหนึ่งในโรคสมองเสื่อมที่คนไทยคุ้นหูที่สุดก็คือโรคอัลไซเมอร์นั่นเอง
ในบรรดาสี่พญามารนั้น โรคสมองเสื่อมเป็นโรคที่ 'tricky' ที่สุด เพราะการแพทย์ยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่าอะไรคือต้นเหตุ และถ้าเริ่มมีอาการแล้วก็ยังไม่มีวิธีชะลอหรือการรักษาที่ได้ผล ดังนั้นคนไข้ที่มาหาหมอ Peter Attia ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ จึงมักจะกลัวโรคสมองเสื่อมที่สุด
นอกจากอัลไซเมอร์แล้ว ก็ยังมีโรคสมองเสื่อมอื่นๆ เช่น Lewy body dementia และ Parkinson's disease [คนดังที่เป็นโรคนี้ก็เช่นมูฮัมหมัด อาลี และ Michael J. Fox พระเอกหนังเรื่อง Back To The Future] ซึ่งแม้จะมีการทุ่มเงินไปหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อหาทางรักษาแต่ก็ยังไม่พบแม้แต่วิธีเดียว
ดังนั้นทางเลือกที่ดีที่สุดที่เรามีในตอนนี้ คือหาหนทางป้องกันหรือลดความเสี่ยงของโรคนี้ให้มากที่สุด
1
=====
กำเนิดอัลไซเมอร์
=====
ในปี 1906 จิตแพทย์ชาวเยอรมันนาม Alois Alzheimer ได้ทำการชันสูตรผู้ป่วยคนหนึ่งที่เสียชีวิตไปแล้ว
ผู้เสียชีวิตเป็นผู้หญิงวัยห้าสิบกลางๆ โดยช่วงปีท้ายๆ ของชีวิตเธอมีอาการสูญเสียความทรงจำ เห็นภาพหลอน และมีอาการก้าวร้าว
คุณหมออัลไซเมอร์พบว่าสมองของเธอนั้นไม่ปกติ เพราะเซลล์ประสาท (neuron) นั้นพันกันยุ่งเหยิงเหมือนใยแมงมุมและมีคราบพลาก (plaque) เกาะอยู่ไม่น้อย คุณหมออัลไซเมอร์เลยวาดรูปเพื่อบันทึกกรณีศึกษานี้เอาไว้
1
คุณหมอเสียชีวิตไปในปี 1915 และไม่มีใครพูดถึงโรคนี้ไปอีกเกือบ 50 ปี จนกระทั่งคุณหมอชาวอังกฤษสามคนได้ทำการชันสูตรสมองผู้เสียชีวิตที่มีอาการสมองเสื่อมถึง 70 ราย และพบว่าหลายคนมีคราบพลากและมีเซลล์ประสาทที่พันกันยุ่งเหยิงเหมือนที่คุณหมออัลไซเมอร์เคยวาดภาพเอาไว้
เมื่อศึกษาคราบพลากนั้นก็พบว่ามีสารแอมิลอยด์บีตา (amyloid beta) ซึ่งเมื่อนำคราบพลากมาทำให้เกิดกับสมองของหนูทดลอง ก็พบว่าหนูทดลองจะใช้เวลามากขึ้นในการเดินหาอาหารในทางเดินเขาวงกตที่ออกแบบมาง่ายๆ และแอมิลอยด์บีตายังส่งผลให้เกิดการสะสมของเทาว์โปรตีน (Tau) ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เซลล์ประสาทพันกันยุ่งเหยิงอีกด้วย
วงการยาจึงผลิตยาออกมาหลายตัวเพื่อกำจัดสารแอมีลอยด์บีตาที่ว่านี้ แต่ผลปรากฎว่าแม้สารแอมีลอยด์บีตาในสมองจะลดลง แต่กลับไม่ได้ช่วยชะลอหรือลดอาการสมองเสื่อมแต่อย่างใด
1
แถมยังเคยมีการชันสูตรสมองของผู้เสียชีวิตที่ไม่ได้มีอาการสมองเสื่อม และพบว่า 25% ของคนกลุ่มนี้ก็มีคราบพลากแอมีลอยด์บีตาเช่นกัน บางคนมีพอๆ กับคนที่เสียชีวิตจากโรคสมองเสื่อมขั้นรุนแรงด้วยซ้ำไป
=====
ผู้หญิงกับโรคอัลไซเมอร์
=====
1
มีผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์มากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้หญิงอายุยืนกว่า แต่แม้จะตัดปัจจัยเรื่องอายุขัยไปแล้ว ตัวเลขก็ยังสูงกว่าผู้ชายอย่างชัดเจนอยู่ดี
หนึ่งในข้อสันนิษฐานคือการหมดระดู (menopause) และการลดลงของฮอร์โมนบางตัวเช่น estradiol (ซึ่งเป็นฮอร์โมนหลักในกลุ่มฮอร์โมน estrogen) น่าจะเป็นปัจจัย ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ก็ได้แก่จำนวนบุตรที่มี วัยที่มีประจำเดือนครั้งแรก และการใช้ยาคุมกำเนิด
แต่สำหรับโรคพาร์กินสันและโรค Lewy body ผู้ชายจะมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิงถึง 2 เท่า
======
สังเกตอาการสมองเสื่อมแต่เนิ่นๆ
======
แม้โรคสมองเสื่อมมักจะเกิดกับคนชรา แต่จริงๆ แล้วโรคนี้อาจเริ่มมีอาการสะสมยาวนานหลายสิบปี
ยกตัวอย่างเช่นโรคพาร์กินสัน จะเริ่มจากอาการเล็กน้อยเช่นการเคลื่อนไหวร่างกายผิดปกติ การแสดงออกทางสีหน้าที่เกร็งๆ การย่างเท้าที่ไม่สม่ำเสมอ หรือแม้กระทั่งลายมือที่เริ่มเขียนตัวหนังสือเล็กลง
หากใครมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อม คุณหมอจะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญพาคนไข้ทำแบบทดสอบอย่างละเอียด ทั้งเรื่องการจดจ่อ ความเร็วในการคิด การเลือกใช้คำต่างๆ การจำชื่อคนได้ การจำได้ว่าของวางอยู่ตรงไหน หรือให้บอกชื่อสัตว์ต่างๆ ภายในเวลาหนึ่งนาที หรือแม้กระทั่งการระบุกลิ่น เพราะนิวรอนที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้กลิ่นมักจะเป็นนิวรอนกลุ่มแรกๆ ที่โดนอัลไซเมอร์เล่นงาน
ความยากของการวินิจฉัยโรคจำพวกนี้ก็คือ สมองนั้นเก่งกาจในการชดเชยความสามารถ จนอาจปกปิดความเสียหายของนิวรอนส่วนที่เริ่มพังไปแล้ว เพราะสมองทำงานแต่ละครั้งต้องใช้ neuron networks หลายส่วน หากส่วนใดส่วนหนึ่งเสียหายไป ก็อาจมีส่วนอื่นขึ้นมาทำงานทดแทนกันได้
ในทางกลับกัน ยิ่งเราสร้าง neuron network ที่ซับซ้อนและแข็งแรงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะช่วยชะลออาการสมองเสื่อมได้เท่านั้น เราเรียกสิ่งนี้ว่า cognitive reserve ซึ่งพบได้ในคนที่พูดได้หลายภาษา หรือคนที่เล่นดนตรีเป็น คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่อาการสมองเสื่อมจะไม่ทรุดเร็วมากเท่ากับคนปกติ
2
สำหรับโรคอย่างพาร์กินสัน สิ่งที่ช่วยได้ก็คือ movement reserve หรือ "คลังสำรองเคลื่อนไหว" หากเราเคยเรียนรู้การเคลื่อนไหวที่ซับซ้อนมาอย่างการเต้นรำหรือต่อยมวย ก็มีแนวโน้มจะช่วยชะลออาการของโรคพาร์กินสันได้
1
======
สมมติฐานใหม่เรื่องต้นเหตุของโรคสมองเสื่อม
======
10
ในงานวิจัยล่าสุดเริ่มบ่งชี้ว่า แอมิลอยด์บีตาไม่ใช่ "สาเหตุ" ของโรคสมองเสื่อม แต่เป็นเพียงแค่ "ผลลัพธ์" ของโรคสมองเสื่อมเท่านั้น
สมมติฐานใหม่ๆ ที่เป็นต้นเหตุของโรคสมองเสื่อมก็ได้แก่
หนึ่ง "เลือดไปหล่อเลี้ยงสมองไม่พอ" เป็นทฤษฎีที่นำเสนอโดย Jack de la Torre ในการทดลองหนึ่ง เขาได้นำเอาหนูทดลองมาปรับให้เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง แล้วพบว่าหนูมีอาการคล้ายคลึงกับโรคอัลไซเมอร์ แถมสมองส่วน cortex และ hippocampus ก็หดตัวลงด้วย พอเขาปล่อยให้เลือดไหลเข้าสมองมากขึ้น อาการเหล่านี้ในหนูทดลองก็ลดน้อยลง
3
สมองนั้น "กินจุ" มาก มันมีน้ำหนักเพียง 2% ของร่างกาย แต่ใช้พลังงานถึง 20% ดังนั้นร่างกายจึงจำเป็นต้องส่งทั้งออกซิเจนและกลูโคสไปหล่อเลี้ยงสมองให้เพียงพอ
1
คนที่เคยเป็นสโตรค (สมองขาดเลือด) มาก่อน มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์มากกว่าคนที่ไม่เคยเป็นสโตรค และคนที่มีอาการโรคหัวใจก็มีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์มากกว่าเช่นกัน อะไรก็ตามที่ทำให้หลอดเลือดตีบและส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดไม่ทั่วถึง ย่อมส่งผลต่อการทำงานของสมองได้
สมมติฐานที่สอง ก็คือโรคนี้อาจเกิดจากการเผาผลาญกลูโคสที่ผิดปกติของสมอง คนไข้โรคเบาหวานชนิดที่ 2 นั้นมีความเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์มากขึ้นถึง 2 หรือ 3 เท่า และแค่การมีภาวะดื้ออินซูลิน (insulin resistance) ก็เพิ่มความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมได้แล้ว ในหลายงานวิจัย การฉีดอินซูลินทางจมูก เพื่อให้มันไปถึงสมองได้มากที่สุด ช่วยเพิ่มความสามารถทางสมองและความจำให้กับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้
======
วิธีลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม
======
เนื่องจากโรคสมองเสื่อมเป็นเพียงโรคเดียวใน 4 พญามารที่ยังไม่มีหนทางรักษา ทางเลือกเดียวที่เรามีในตอนนี้คือการป้องกันและลดความเสี่ยง
1
วิธีแรกที่ได้ผลมากที่สุด คือการออกกำลังกาย เพราะมันช่วยให้กลูโคสในร่างกายอยู่ในระดับที่สมดุล (glucose homeostasis) และช่วยให้หลอดเลือดแข็งแรง โดย Peter Attia ผู้เขียนหนังสือ จะให้คนไข้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ ออกกำลังกายแบบ steady endurance exercise เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของไมโทรคอนเดรีย [ผมจะกล่าวถึงเรื่องนี้อย่างละเอียดในบทต่อๆ ไป]
1
การออกกำลังกายแบบ strength training ก็ช่วยได้เช่นกัน ในหลายงานวิจัยพบว่า ยิ่งเรามีแรงบีบมือ (grip strength) มากเท่าไหร่ โอกาสเป็นอัลไซเมอร์ยิ่งน้อยลงเท่านั้น คนที่มีแรงบีบมือน้อยที่สุด 25% ของกลุ่ม (bottom quartile) มีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์มากกว่าคนที่แรงบีบมือมากที่สุด 25% ของกลุ่ม (top quartile) ถึง 72%
การใส่ใจเรื่องการรับประทานอาหารสไตล์ Mediterranean Diet ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงได้บ้างเช่นกัน โดยเน้นไปที่ไขมันไม่อิ่มตัวจากเนื้อปลา และการกินอาหารเสริมเพื่อช่วยเพิ่มกรดไขมัน DHA ในน้ำมันปลาก็อาจช่วยรักษาสมรรถภาพของสมองได้
1
การนอนหลับก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันคือช่วงเวลาที่สมองเยียวยาตัวเองด้วยการ "กวาดขยะนิวรอน" ที่เกิดขึ้นระหว่างวัน การพักผ่อนที่ไม่เพียงพออาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะดื้ออินซูลินเพิ่มขึ้น และทำให้ฮอร์โมนความเครียดอย่างคอร์ติซอล (cortisol) เพิ่มมากขึ้น
1
อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจจะแปลกหน่อยแต่ก็น่าสนใจ ก็คือการดูแลสุขภาพเหงือกและฟันด้วยการใช้ไหมขัดฟัน แบคทีเรียอย่าง P.gingivalis ซึ่งมักก่อให้เกิดโรคเหงือกอักเสบนั้นบางทีก็ไปโผล่อยู่ในสมองของคนที่เป็นอัลไซเมอร์ด้วย แม้ว่ามันอาจไม่ใช่ต้นเหตุของโรคสมองเสื่อม แต่ความเชื่อมโยง (association) นี้ก็มากเกินกว่าที่เราจะไม่สนใจมันเลย
2
ความน่ากลัวของอัลไซเมอร์ก็คือกระบวนทัศน์แบบ Medicine 2.0 ที่แพทย์ส่วนใหญ่ใช้กันในปัจจุบันนี้ไม่สามารถช่วยอะไรเราได้ เพราะ Medicine 2.0 จะต้องรอให้วินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้เสียก่อนถึงจะเริ่มลงมือทำอะไร ซึ่งปล่อยให้ถึงตอนนั้นก็สายเกินไปแล้ว เพราะโรคนี้ไม่มีทางรักษา
ดังนั้นเราต้องใช้กระบวนทัศน์ของ Medicine 3.0 คือป้องกันและลดความเสี่ยงตั้งแต่เนิ่นๆ แม้ว่าเราจะอายุเพียงเลขสามหรือเลขสี่ก็ควรเริ่มทำ เพราะมันยังเป็นเพียงทางเลือกเดียวที่เรามี
เราได้ทำความรู้จักกับ 4 พญามารครบเรียบร้อยแล้ว ในตอนต่อๆ ไปเราจะเริ่มเข้าถึงหัวใจของหนังสือ Outlive นั่นคือเราควรทำอะไรบ้างเพื่อที่จะมีชีวิตที่ยืนยาว (lifespan) และมีสุขภาพที่แข็งแรง (healthspan) แม้ในช่วงทศวรรษสุดท้ายของชีวิตครับ
โฆษณา