16 ก.พ. เวลา 03:24 • ประวัติศาสตร์

“เหตุเครื่องบินตกบริเวณเทือกเขาแอนดีส พ.ศ. 2515” ปาฏิหาริย์ที่โลกไม่ลืม

12 ตุลาคม ค.ศ.1972 (พ.ศ.2515) เครื่องบินขนาดเล็กลำหนึ่งได้บินออกจากอุรุกวัย มุ่งสู่ซานติอาโก เมืองหลวงของประเทศชิลี โดยบนเครื่องบินนั้นเต็มไปด้วยนักรักบี้จำนวนมาก
1
บนเครื่องบินมีผู้โดยสารจำนวน 45 ราย รวมทั้งครอบครัวของนักรักบี้บางคนและเพื่อนๆ ของนักรักบี้ และเที่ยวบินนี้ก็เป็นเที่ยวบินระยะสั้น
โดยปกติแล้ว การเดินทางจากอุรุกวัยไปซานติอาโกโดยเครื่องบินนั้นใช้เวลาเพียงแค่ประมาณสามชั่วโมง หากแต่ในระหว่างทางนั้น เครื่องบินก็ได้พบกับ “เทือกเขาแอนดีส (Andes)”
เทือกเขาแอนดีส (Andes)
เทือกเขาแอนดีส เป็นเทือกเขาที่ยาวที่สุดในโลก และมีภูเขาที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เป็นรองเพียงเทือกเขาหิมาลัย หากแต่เทือกเขาแอนดีสที่ยิ่งใหญ่นี้เอง คือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวปาฏิหาริย์และการเอาตัวรอดที่โลกไม่มีวันลืม
ในวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ.1972 (พ.ศ.2515) ได้เกิดพายุขึ้นในแถบเทือกเขาแอนดีส ทำให้เครื่องบินไม่สามารถไปต่อได้ นักบินตัดสินใจจะนำเครื่องลงจอดในอาร์เจนตินาและพักค้างหนึ่งคืน
วันต่อมา 13 ตุลาคม ค.ศ.1972 (พ.ศ.2515) เวลา 14:18 น. เครื่องบินก็ได้ออกเดินทางต่อ
1
นักบินนั้นมั่นใจว่าอากาศกลับมาแจ่มใสแล้ว และตลอดหนึ่งชั่วโมงต่อมา อากาศก็ดี ทุกอย่างเป็นปกติ ก่อนที่นักบินจะรู้ตัวว่าเครื่องบินนั้นบินใกล้จะถึงซานติอาโกแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในบริเวณเทือกเขา
1
ภาพสุดท้ายที่ถ่ายบนเครื่องก่อนเครื่องบินตก
ในขณะที่ลดระดับความสูงลงมา อากาศก็เกิดแปรปรวน ทำให้เครื่องบินสั่นไหวอย่างรุนแรง ได้เกิดเมฆหมอกรอบๆ เครื่องบิน ทำให้ทัศนวิสัยนั้นไม่ชัด มองไม่เห็นทาง สัญญาณเตือนบนเครื่องบินก็ดังขึ้นพร้อมๆ กับไฟฉุกเฉิน สร้างความตื่นตกใจให้เหล่าผู้โดยสาร
2
เมื่อเครื่องบินหลุดพ้นออกมาจากกลุ่มเมฆ นักบินก็เพิ่งตระหนักว่าเครื่องบินนั้นกำลังพุ่งตรงเข้าไปยังกลุ่มโขดหินบนภูเขา
1
นักบินรีบดึงคันบังคับเพื่อบังคับให้เครื่องบินบินสูงขึ้น หากแต่ก็สายไปแล้ว ส่วนหลังของเครื่องบินได้ชนเข้ากับภูเขา ส่วนท้ายของเครื่องบินทั้งหมดนั้นกระเด็นหลุดไปจนหมด และที่นั่งจำนวนสองแถว พร้อมๆ กับผู้โดยสารสามราย ก็ถูกดูดกระเด็นออกไปนอกเครื่องบินและหายไปแล้ว
ในเวลาไม่กี่วินาที เครื่องบินก็ค่อยๆ ดิ่งลงสู่พื้นพร้อมๆ กับปีกซ้ายที่หักและผู้โดยสารอีกหลายคนก็ถูกดูดออกนอกตัวเครื่อง เหลือเพียงแค่ส่วนหน้าของเครื่องบิน และเครื่องบินก็ดิ่งชนกับธารน้ำแข็ง
เครื่องบินนั้นลื่นไถลไปกับธารน้ำแข็งด้วยความเร็ว 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อนที่จะพุ่งชนอีกครั้งหลังจากตกลงมาด้วยความสูง 700 เมตร
1
ห้องนักบินนั้นถูกทำลายอย่างยับเยิน ทำให้นักบินเสียชีวิตทันที เครื่องบินนั้นอยู่ในสภาพเละเทะ และในเวลานี้ ซากเครื่องบินก็ติดอยู่ในหุบเขาของเทือกเขาแอนดีสด้วยความสูงกว่า 3,570 เมตร
1
ที่น่าตกใจก็คือ จากบรรดาผู้โดยสาร 45 คน มีคนรอดชีวิตถึง 33 คน
แต่ละคนนั้นบาดเจ็บสาหัส และก็ยังอยู่ห่างจากจุดหมายกว่า 80 กิโลเมตร
3
และนี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวนี้
หลังจากเหตุการณ์สงบลง ผู้รอดชีวิตสองรายที่ไม่ได้บาดเจ็บหนัก หนึ่งคือ “Roberto Canessa” วัย 19 ปี และอีกรายคือ “Gustavo Zerbino” วัย 20 ปี ทั้งคู่เป็นนักศึกษาแพทย์ และต่างก็เริ่มตรวจดูผู้รอดชีวิตแต่ละคน และดำเนินการช่วยปฐมพยาบาลอย่างเร่งด่วน
ในขณะเดียวกัน หลังจากเครื่องบินตกเพียงหนึ่งชั่วโมง หน่วยค้นหาของชิลีก็ได้รับแจ้งเหตุและออกปฏิบัติการค้นหาในทันที
ทางการส่งเครื่องบินค้นหาออกไปจำนวนสี่ลำ แต่ถึงแม้ทีมค้นหาจะใช้เวลาค้นหาทั้งวันทั้งคืน แต่ก็ยังไม่สามารถหาตำแหน่งของเครื่องบินที่ตกพบ และด้วยสภาพพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยหิมะ ทำให้พื้นที่รอบๆ นั้นขาวโพลน ก็ยิ่งทำให้การค้นหาเป็นไปอย่างยากลำบาก
ค่ำคืนวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ.1972 (พ.ศ.2515) ผู้รอดชีวิตยังคงมีความหวัง ต่างยังเชื่อว่าหากพวกตนสามารถอดทน ฝ่าค่ำคืนที่เหน็บหนาวนี้ไปได้ วันต่อมาก็จะต้องมีความช่วยเหลือมาถึงแน่นอน
1
แต่โชคร้ายที่ผู้รอดชีวิตจำนวนห้ารายไม่สามารถผ่านพ้นคืนที่เหน็บหนาวไปได้ ทำให้ตัวเลขผู้รอดชีวิตเหลือเพียง 28 คน
ผู้รอดชีวิตที่เหลือได้ใช้ซากเครื่องบินเป็นสถานที่พัก ใช้กระเป๋าสัมภาระ ที่นั่ง และหิมะมาปิดประตูทางเข้าออกเพื่อให้คนข้างในนั้นอบอุ่น
14 ตุลาคม ค.ศ.1972 (พ.ศ.2515) อาร์เจนตินา ชิลี และอุรุกวัยก็ได้ส่งเครื่องบินค้นหาออกปฏิบัติการค้นหาเพิ่มเติมอีก 11 ลำ เครื่องบินเหล่านี้สามารถระบุพื้นที่ที่เครื่องบินตกได้แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถหาจุดที่เครื่องบินตกเจอได้
เหล่าผู้รอดชีวิตก็พยายามทำทุกวิถีทางในการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ ทั้งเอาลิปสติกมาเขียนข้อความ “SOS” ลงบนตัวเครื่องบิน และนำกระเป๋าเดินทางมาเรียงเป็นรูปกากบาทบนพื้น
แต่ความพยายามยังไม่เป็นผล ในช่วงเวลาอีกหลายวันต่อจากนั้น เหล่าผู้รอดชีวิตต้องทนเห็นเครื่องบินบินผ่านศีรษะพวกตน และถึงแม้พวกตนจะพยายามตะโกน โบกมือ พยายามส่งสัญญาณให้เครื่องบินเห็น แต่ก็ไม่เป็นผล
เมื่อถึงวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ.1972 (พ.ศ.2515) เหล่าผู้รอดชีวิตก็ตระหนักว่าพวกตนนั้นจำเป็นต้องมี “น้ำ” และต่างก็คิดหาน้ำด้วยการเอาหิมะมาละลาย และใช้อุปกรณ์ที่พอมีสกัดน้ำออกมา
ในเวลานี้ เหล่าผู้โดยสารติดอยู่ท่ามกลางอากาศที่อุณหภูมิ -30 องศาเซลเซียส อาหารและน้ำก็มีจำกัด และความตายก็อยู่ใกล้แค่มือเอื้อม
นอกจากนั้น แต่ละคนก็ยังประสบปัญหาตาอักเสบจากการสะท้อนแสงของแสงอาทิตย์กับหิมะ ทำให้แต่ละคนเริ่มมีปัญหาการมองเห็น และแว่นกันแดดก็มีเพียงสามคู่เท่านั้น
21 ตุลาคม ค.ศ.1972 (พ.ศ.2515) หลังจากออกค้นหาได้แปดวัน ทีมค้นหาก็ยอมแพ้ ยกเลิกการค้นหา ต่างคิดว่าไม่น่ามีผู้รอดชีวิต ปฏิบัติการค้นหานั้นถูกประกาศยกเลิกหลังจากค้นหาไปแล้ว 142 ชั่วโมง
“Roy Harley” หนึ่งในผู้รอดชีวิต พอจะมีความรู้เรื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จึงหาทางซ่อมวิทยุจนสามารถกลับมาใช้ได้ แต่วิทยุนี้ทำได้เพียงแค่รับสัญญาณวิทยุ แต่ไม่สามารถส่งสัญญาณวิทยุ
หลังอุบัติเหตุ 11 วัน และสามารถเปิดวิทยุฟังได้ ผู้รอดชีวิตต่างก็หัวใจสลายเมื่อได้ทราบข่าวว่าปฏิบัติการค้นหาถูกยกเลิกแล้ว ทำให้แต่ละคนยิ่งหมดหวัง
ยิ่งผ่านไปนานวัน เสบียงอาหารก็หมดลงเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าเหล่าผู้รอดชีวิตจะมีการจำกัดอาหารของแต่ละคน แต่อาหารก็ดูจะไม่พอ หลายคนก็หิวโหยซะจนคิดจะกินชิ้นส่วนซากเครื่องบิน
เมื่ออาหารหมดลงในวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ.1972 (พ.ศ.2515) 16 วันหลังเครื่องบินตก เหล่าผู้รอดชีวิตก็ตัดสินใจจะทำบางอย่างซึ่งเป็นทางเลือกวิธีเดียว
นั่นคือการกินชิ้นส่วนซากศพผู้เสียชีวิต
การตัดสินใจนี้เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก โดยเฉพาะซากศพที่พวกเขาต้องกินนั้น ก็คือเหล่าญาติมิตร เพื่อน สมาชิกหรือญาติๆ ในครอบครัว
หลายคนทำใจไม่ได้ แต่สุดท้าย เมื่อความหิวโหยเกินทน แต่ละคนก็จำเป็นต้องทานชิ้นส่วนมนุษย์เพื่อความอยู่รอด
ความลำบากยังคงถาโถมเข้าใส่ผู้รอดชีวิต เมื่อในวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ.1972 (พ.ศ.2515) 59 วันหลังจากเครื่องบินตก ก็ได้เกิดเหตุพายุถล่ม ทำให้ผู้รอดชีวิตสูญหายไปในหิมะจำนวนสามราย เหลือผู้รอดชีวิต 16 ราย
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ.1972 (พ.ศ.2515) 33 วันหลังเหตุเครื่องบินตก ผู้รอดชีวิตจำนวนสามรายตัดสินใจจะออกเดินทางไปหาความช่วยเหลือ
ทั้งสามคนนี้ตั้งใจจะเดินไปทางตะวันตก เนื่องจากเชื่อว่าพวกตนนั้นอยู่ห่างจากแถบชนบทของชิลีเพียงไม่กี่กิโลเมตร หากแต่พวกตนนั้นคิดผิด
ในความเป็นจริงนั้น จุดที่เครื่องบินตกนั้นอยู่ห่างไปทางตะวันออกเป็นระยะทาง 89 กิโลเมตร หากแต่ด้วยความเข้าใจผิด ทั้งสามจึงเดินทางออกไปเป็นระยะเวลาหลายวัน จนมาถึงยอดเขา
เมื่อมาถึงยอดเขา ทั้งสามก็ต้องพบกับภาพที่ทำให้ใจร่วง นั่นคือภูเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะไกลออกไปสุดลูกหูลูกตา มองไปทางไหนก็มีแต่ภูเขากับหิมะ
แต่ทั้งสามคนก็สังเกตเห็นยอดเขาที่ไม่มีหิมะ จึงคิดว่าหากเดินทางไปด้านนั้นก็น่าจะปลอดภัย หากแต่พวกตนไม่รู้เลยว่าตนกำลังเดินทางสู่เส้นทางที่ยากลำบาก และพวกตนก็ไม่มีประสบการณ์ปีนเขามาก่อนเลย อุปกรณ์อะไรก็ไม่มี
1
ขณะที่ขึ้นสู่พื้นที่สูง อากาศก็ยิ่งเบาบางทำให้หายใจลำบาก ทั้งสามคนใช้ถุงนอนในการนอนหลับและปกป้องตนจากอากาศหนาวในยามค่ำคืน ส่วนในเวลากลางวัน ทั้งสามก็จะเดินอย่างเชื่องช้าเพื่อเก็บแรง
สองวันผ่านไป สามวันผ่านไป จนถึงเช้าวันที่สี่ ทั้งสามจึงทราบว่าพวกตนนั้นมาผิดทาง
ทั้งสามมองไม่เห็นจุดสิ้นสุดของเส้นทาง และด้วยเหตุที่ว่าเสบียงที่เตรียมมานั้นใกล้หมดแล้ว หนึ่งในสามจึงตัดสินใจจะกลับไปยังจุดที่เครื่องบินตก รอความช่วยเหลือพร้อมกับคนอื่นๆ ส่วนอีกสองคนจะเดินทางออกตามหาความช่วยเหลือต่อไป
15 ธันวาคม ค.ศ.1972 (พ.ศ.2515) หนึ่งในสามได้ออกเดินทางกลับไปยังจุดที่เครื่องบินตก ซึ่งขากลับนั้นง่ายกว่าขาไปมาก ภายในเวลาเพียงหนึ่งชั่วโมงก็กลับมาถึงจุดที่เครื่องบินตกแล้ว ในขณะที่ขาไปนั้นใช้เวลาถึงสามวัน
ส่วนอีกสองคนที่ออกตามหาความช่วยเหลือนั้น ได้ขึ้นมาถึงจุดสูงสุดในเวลาสามชั่วโมง และสิ่งที่มองเห็นก็มีเพียงแค่ภูเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ
1
แต่เมื่อสังเกตทางตะวันตก ทั้งคู่ก็พบกับยอดเขาที่ไม่มีหิมะปกคลุม ทั้งคู่จึงคิดจะเดินทางไปด้านนั้น และหลังจากที่ใช้เวลาเดินทางหลายวัน ทั้งคู่ก็มาถึงหุบเขาหนึ่ง
หุบเขานี้มีแม่น้ำ ซึ่งสำหรับคนทั้งคู่แล้ว นี่คือสัญญาณที่ดี เนื่องจากหากเจอแหล่งน้ำ ก็น่าจะเจอเส้นทางลงเขาได้
ทั้งคู่ตัดสินใจเดินทางต่อไป และหลังจากเดินเท้ามาได้เก้าวัน วันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ.1972 (พ.ศ.2515) ทั้งคู่ก็พบกับร่องรอยของมนุษย์
มีวัวอยู่ในทุ่งหญ้า ก่อนที่จะพบว่าอีกฟากของแม่น้ำ มีชายสามคนอยู่บนหลังม้า
ทั้งคู่พยายามจะตะโกนขอความช่วยเหลือ หากแต่เสียงน้ำในแม่น้ำนั้นดังมากซะจนกลบเสียงของทั้งคู่ แต่หนึ่งในชายที่อยู่บนหลังม้านั้นสังเกตเห็นทั้งคู่ จึงตะโกนบอกทั้งคู่ว่าพวกเขาจะกลับมาในวันพรุ่งนี้
ในวันต่อมา ชายบนหลังม้ากลับมาพร้อมกับดินสอและกระดาษ โดยผูกกระดาษกับดินสอไว้กับก้อนหินและโยนข้ามแม่น้ำไปให้ และนี่เป็นครั้งแรกที่ผู้รอดชีวิตได้มีโอกาสสื่อสารกับโลกภายนอก
ทั้งคู่ได้เขียนข้อความเป็นภาษาสเปนลงบนกระดาษ บอกเล่าว่าพวกตนเป็นใคร เกิดอะไรขึ้น และต้องการความช่วยเหลือโดยด่วน จากนั้นจึงโยนกระดาษกลับลงน้ำเพื่อให้ลอยไปถึงฝั่งตรงข้าม
ปรากฎว่าผู้ที่ช่วยเหลือนั้นเป็นชาวนาชาวชิลีที่ชื่อ “Sergio Catalan” และหลังจากทราบเรื่องทั้งหมด Catalan และเพื่อนๆ ก็ได้เดินทางด้วยการขี่ม้ากว่า 10 ชั่วโมงไปยังเมืองที่ใกล้ที่สุด แจ้งทางกองทัพถึงสิ่งที่เกิดขึ้น
ในไม่ช้า กองทัพก็รีบส่งคนไปช่วยเหลือทันที โดยมีการสอบถามผู้รอดชีวิตทั้งคู่ว่าคนอื่นๆ อยู่ในตำแหน่งใด และสามารถช่วยเหลือทุกคนได้ในที่สุด
22 ธันวาคม ค.ศ.1972 (พ.ศ.2515) 70 วันหลังเครื่องบินตก เฮลิคอปเตอร์จำนวนสองลำก็ได้เข้ามาช่วยเหลือผู้รอดชีวิตได้สำเร็จ โดยผู้รอดชีวิตจำนวน 16 คนได้รับการช่วยเหลือ และแต่ละคนก็อยู่ในสภาพที่แย่มาก ทั้งมีภาวะขาดน้ำ ขาดอาหาร กระดูกหัก แต่ทุกคนก็ได้รับการช่วยเหลือจนสามารถฟื้นตัวได้
อาจจะเรียกได้ว่าเรื่องราวนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า “ความหวัง”
หากเราตั้งใจทำอะไรซักอย่างอย่างแน่วแน่และมีความหวัง บางที ทุกสิ่งก็อาจจะเป็นไปได้
และเหตุการณ์นี้นอกจากจะเป็นโศกนาฏกรรมแล้ว ก็ยังอาจจะเรียกได้ว่าเป็น “ปาฏิหาริย์” ของผู้รอดชีวิตได้เช่นกัน
โฆษณา