15 ก.พ. เวลา 11:30 • ธุรกิจ

ทำไม ธุรกิจที่สำเร็จ ต้องมี “Unfair Advantage” ข้อได้เปรียบที่ ไม่แฟร์กับคู่แข่ง

ลองนึกภาพว่าถ้าเราลงทุนเปิดร้านบุฟเฟต์ชาบูร้านหนึ่ง แล้วกำลังไปได้สวย
แต่วันดีคืนดี ก็มีร้านบุฟเฟต์ชาบู แบบเดียวกันเป๊ะ ๆ มาเปิดข้าง ๆ ร้านเรา
1
โดยคู่แข่งคนนั้นมีเงินทุนที่หนากว่าเรา จนสามารถขายชาบูในราคาที่ถูกกว่าเราได้
พูดง่าย ๆ คือเราโดนขายตัดราคา
ทำให้ลูกค้าของร้านเราหาย.. เพราะหนีไปร้านข้าง ๆ หมด
คำถามคือ ถ้าเป็นเรา.. จะแก้ปัญหานี้อย่างไร ?
นี่คือสิ่งที่โลกธุรกิจเรียกว่า “Unfair Advantage” หรือ “ความได้เปรียบที่ไม่ยุติธรรม”
โดย Unfair Advantage อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องของเงินทุน ที่มากกว่าอย่างเดียวก็ได้
แต่อาจจะหมายถึงเคล็ดลับต่าง ๆ หรือสิทธิพิเศษ ที่คู่แข่งไม่อาจจะลอกเลียนแบบได้ง่าย ๆ
ยกตัวอย่างเช่น ร้าน After You มีชื่อเสียงในเรื่องของขนมหวาน และมี Unfair Advantage เป็นสูตรลับเฉพาะตัวที่เลียนแบบได้ยาก
ทำให้ต่อให้จะมีร้านข้าง ๆ มาขายตัดราคา ก็ไม่สามารถเลียนแบบรสชาติ หรือภาพลักษณ์และชื่อเสียงของ After You ได้ง่าย ๆ อยู่ดี
3
ทีนี้ถ้าเป็นเราในฐานะคนธรรมดา แล้วถ้าอยากจะสร้าง Unfair Advantage บ้าง มันพอจะเป็นไปได้ไหม ?
อย่างที่เราทราบดีว่าในโลกธุรกิจ เรามักจะมี Framework หรือกรอบคิดอยู่หลายอย่าง ที่เอาไว้ใช้สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง
เช่น Canvas, Lean Canvas, USP และอีกมากมาย ขึ้นอยู่กับบริบทการใช้งาน
แต่หนึ่งใน Framework ที่น่าสนใจ และเอาไว้ใช้สร้าง Unfair Advantage ได้ก็คือ เครื่องมือที่ชื่อว่า “MIlES”
“MIlES” Framework ถูกคิดค้นโดย คุณ Ash Ali และคุณ Hasan Kubba
2 ผู้เชี่ยวชาญเรื่องธุรกิจที่คลุกคลีอยู่ในวงการของสตาร์ตอัปมานาน และได้รวบรวม “จุดร่วม” ของคนที่ประสบความสำเร็จในโลกธุรกิจ ที่มีเหมือน ๆ กัน
2
โดย MILES เป็น Framework ที่บอกว่าเหล่าคนที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจ จะไม่ได้เกิดจากการทำงานหนักแค่อย่างเดียว
แต่เป็นการนำ “ความได้เปรียบ” ที่ทุก ๆ คนมีซ่อนอยู่ในตัว มาใช้ร่วมกับการสร้างธุรกิจต่างหาก
ซึ่งความได้เปรียบส่วนตัวที่ว่า ก็สามารถแบ่งออกเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ 5 ตัว คือ “M I L E S”
1
- M (Money) คือการเกิดมามีต้นทุนเหนือกว่าคนอื่น หรือสามารถเข้าถึงทรัพยากรใด ๆ ก็ตามได้ถูกกว่าคนอื่น
หรือพูดง่าย ๆ คือ ฐานะทางบ้านดี มีต้นทุนมาก่อน ก็ได้เปรียบตั้งแต่ต้น
ถ้ามีข้อนี้ จะทำให้เราเริ่มธุรกิจโดยสามารถรับความเสี่ยงได้มากกว่าคนอื่น
ยกตัวอย่างเช่น
นาย A ฐานะทางบ้านดี ส่วนนาย B ฐานะปานกลาง
ส่วนเรื่องความสามารถ ทั้งคู่จะเก่งพอ ๆ กัน
ถ้าให้ทั้ง 2 คนมาทำธุรกิจแข่งกัน ไม่ว่าอย่างไรนาย A ก็ได้เปรียบกว่านาย B ไปหนึ่งก้าว
เพราะว่ามีเงินทุนให้ทดลอง และลองผิดลองถูกได้มากกว่า
แต่ต้องหมายเหตุว่า การมีแต้มต่อเป็นเรื่องฐานะทางการเงินที่ดี แม้จะเป็นข้อได้เปรียบ
แต่ก็ไม่ได้คอนเฟิร์มความสำเร็จเสมอไป..
2
- I (Insights / Intelligence)
คือความฉลาดหรือความคิดสร้างสรรค์ที่เหนือกว่าคนอื่น
ความฉลาดในที่นี้ อาจหมายถึงได้ทั้ง EQ และ IQ พูดง่าย ๆ คือเกิดมาเป็นอัจฉริยะในด้านต่าง ๆ
โดยอาจจะเกิดจากการที่ตัวเรามีเรื่องที่สนใจมาก ๆ และศึกษามันจนเชี่ยวชาญ
1
ซึ่งเราสามารถเอาความเชี่ยวชาญตรงนี้ ไปสร้างธุรกิจที่ต่อให้คู่แข่งจะเข้ามา ก็ยากจะเลียนแบบได้
ยกตัวอย่างก็เช่น สูตรลับขนมหวานของ After You ที่เกิดจากความชื่นชอบของ คุณเมย์ ที่เป็นเจ้าของ ที่ได้ไปตระเวนทานของหวานจากหลาย ๆ ที่
ก่อนจะนำมาพัฒนาเป็นสูตรขนมของตัวเอง ที่ไม่มีใครเลียนแบบได้
- L (Luck / Location)
บางครั้งการเริ่มธุรกิจในจังหวะเวลาและสถานที่ ที่ถูกต้อง ก็เป็นข้อได้เปรียบที่ยากจะเลียนแบบเหมือนกัน
1
ยกตัวอย่างเช่น Mark Zuckerberg ที่สร้าง Facebook ขึ้นมาในปี 2004
แม้อาจจะไม่ได้สร้างแพลตฟอร์ม Social Media ขึ้นมาเป็นคนแรกของโลก
แต่ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่พอเหมาะพอสม ที่อินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลพัฒนาจนครอบคลุมอยู่ทั่วโลกแล้ว
ทำให้ Mark Zuckerberg เริ่มสเกลธุรกิจจากกลุ่มเป้าหมาย คือเด็กในมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา และขยายฐานผู้ใช้งานได้รวดเร็ว จนมีผู้ใช้ที่กว้างมาก ๆ ถึง 3,000 ล้านคน ในวันนี้
แม้ว่า Big Tech ต่าง ๆ จะพยายามใช้งบประมาณมหาศาลมาสู้
อย่างเช่น Google เคยออกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ชื่อว่า Google Plus มาสู้กับ Facebook
1
แต่สุดท้ายก็แย่งฐานผู้ใช้จาก Facebook ไม่ค่อยได้เลย
- E (Expertise / Education)
คือการนำ ประสบการณ์ การศึกษา และความเชี่ยวชาญในทักษะต่าง ๆ มาเป็นจุดแข็งของธุรกิจ
พูดง่าย ๆ คือ ใช้ Know-How ที่ตัวเองรู้มาสร้างเป็นธุรกิจนั่นเอง
เรื่องนี้มักจะเห็นได้บ่อย กับร้านอาหารที่มีการสืบทอดสูตรลับเฉพาะตัวกันเป็นเวลานาน
ยกตัวอย่างเช่น สูตรน้ำหวานเฮลซ์บลูบอย, สูตรน้ำจิ้ม MK, สูตรน้ำจิ้ม Bar B Q Plaza
ก็เป็นอะไรที่สามารถสร้างความแตกต่างในแบบที่คนอื่นเลียนแบบไม่ได้ทั้งนั้น
- S (Status)
การที่เราเกิดมามีชื่อเสียงหรือสถานะทางสังคมที่ดี ในบางครั้งก็สามารถใช้มันสร้างเป็นธุรกิจที่เลียนแบบยากได้เหมือนกัน
2
เรื่องนี้ถ้าจะให้ขยายความก็คงจะเป็น ธุรกิจของเหล่า ศิลปิน-ดารา
ที่ใช้ชื่อเสียงของตัวเอง มาช่วยในการโปรโมตสินค้า
ทำให้สินค้าที่บางครั้งอาจจะธรรมดาดูพิเศษขึ้นมาเหนือคู่แข่ง และยากที่คนธรรมดาจะเลียนแบบได้นั่นเอง
1
อ่านมาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่าการสร้าง Unfair Advantage หรือความได้เปรียบที่ไม่ยุติธรรมนั้น
อาจจะไม่ต้องเกิดมามีเงินถุงเงินถังอย่างเดียวก็ได้
อย่างไรก็ดี.. ถ้าตัวเรามี Unfair Advantage ทั้งหลายอยู่แล้ว
แต่ถ้าไม่พัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ๆ เลย
วันหนึ่งข้อได้เปรียบทั้งหลาย ก็อาจไม่ได้ใช้ประโยชน์ เลยก็ได้..
โฆษณา