25 เม.ย. เวลา 08:25 • หนังสือ

บันทึกการอ่านเล่มที่ 45 “เถื่อนเจ็ด THE SAVAGE SEVEN”

เหตุผลหนึ่งที่คนชอบเดินทางคือการได้หลีกหนีออกจากพื้นที่ที่แสนน่าเบื่อจำเจ โดยหวังว่าจะได้เจอกับประสบการณ์แปลกใหม่ แต่มีข้อแม้ว่าขอให้เป็น safe zone ก็แล้วกัน จะมีสักกี่คนที่กล้าเดินไปที่เส้นพรมแดนความปลอดภัย ปลดเปลื้องความกลัว ถอดความสะดวกสบาย แล้วกระโดดข้ามไปสำรวจดินแดนนอกพื้นที่ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล คือหนึ่งในนั้น เถื่อนเจ็ด THE SAVAGE SEVEN เป็นบันทึกการเดินทาง 7 เรื่องราวการเดินทางเสาะหาชีวิตบน 7 เส้นทางที่พ่อแม่ไม่อยากให้คุณไป
01 ความสุขที่บราซิล: ทุกสิ่งในป่าแอมมะซอนฆ่าเราได้ทั้งสิ้น มดกระสุนที่กัดเจ็บเหมือนโดนปืนยิง และอีกสารพัดอย่างมากมายหลายสปีชีส์ นอกจากสัตว์ป่าพนาไพรแล้ว ผู้คนที่อาศัยอยู่ในแอมมะซอนก็น่าสนใจไม่แพ้กัน สมาชิกชาวเผ่าต่างๆ ในแอมมะซอนต้องขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกเผ่า โดยได้รับการยืนยันจากคนในเผ่าว่าเป็นสมาชิกจริงๆ บางเผ่ามีระบบกฎหมายของตนเอง สังคมมนุษย์กลับดูแปลกตา เมื่อเทียบกับป่าดงพงไพร
02 ความเป็นจริงที่อินเดีย: อินเดีย คือดินแดนที่เปิดเผยให้เราเห็นความจริงทุกอย่างของชีวิตอย่างดิบเถื่อนและจริงใจที่สุด ที่อินเดียแทบไม่มีการปรุงแต่ง พาราณสี เป็นหนึ่งในเมืองที่มีผู้คนอาศัยอยู่มาต่อเนื่องยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เก่าแก่กว่าทุกๆศาสนาและความเชื่อที่มีอยู่บนโลกนี้
มองไปตามริมท่าน้ำ มีคนซักผ้า อาบน้ำ ล้างจาน แม้กระทั่งคู่หนุ่มสาวที่เพิ่งแต่งงานกันก็เอาดอกไม้มาโปรยลงแม่น้ำ มีแม้กระทั่งคนนั่งยองๆ ถ่ายหนัก และที่น่าอัศจรรย์ใจที่สุด คือถัดจากภาพแห่งชีวิตเหล่านี้ไปเพียงไม่กี่ร้อยเมตร มีศพกำลังถูกเผาอยู่ริมน้ำ ขี้เถ้าจากกองไฟไร้วิญญาณเหล่านั้นลอยตามน้ำมายังผู้คนที่กำลังซักผ้าหรือเล่นน้ำอยู่อย่างสนุกสนาน นี่คืออีกโลกหนึ่ง โลกที่มีกฎเกณฑ์ของมันเอง และที่พาราณสี ชีวิตก็คือสายน้ำ
03 ความทรงจำที่เชอร์โนบิล: เกือบ 30 ปีที่แล้ว เตาปฏิกรณ์ปรมาณูหมายเลขสี่ของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลเกิดระเบิดขึ้นปล่อยอนุภาคปนเปื้อนกัมมันตรังสีออกไปทั่วบริเวณ จากเมืองที่มีชีวิต สู่พื้นที่รกร้างไร้ผู้คนภายในชั่วข้ามคืน เรื่องน่าสนใจคือหลังจาดเกิดเหตุในปี 1986 ที่นี่ยังคงผลิตไฟฟ้าต่อไปจนถึงปี 2000 เพื่อสนองความความต้องการไฟฟ้าของสหภาพโซเวียต (และต่อมาคือประเทศยูเครน)
04 ความถูกต้องที่อิหร่าน: อิหร่าน มีชื่อเต็มๆว่า สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน เป็นรัฐที่ปกครองด้วยศาสนาสมบูรณ์แบบ กฎหมายส่วนใหญ่อ้างอิงหลักการมาจากกฎข้อบังคับของศาสนาอิสลาม ภาพหนึ่งที่ติดตาที่สุดคือภาพของสาวๆ ชาวอิหร่านที่คลุมผ้าดำตั้งแต่หัวยันเท้า ชวนกันเดินเข้าไปช้อปปิ้งเสื้อผ้าสีสันสดใสในร้านแห่งหนึ่ง เสื้อผ้าที่ไม่มีใครเห็นพวกเธอใส่นอกจากสมาชิกในครอบครัว ไม่มีอะไรแตกต่างในความเป็นมนุษย์ สิ่งนี้จริงเสมอไม่ว่าคุณจะเดินทางไปที่ไหน แต่สิ่งที่ต่างกันเสมอ คือกรอบที่มาครอบความเป็นมนุษย์อีกที
05 ความเกลียดชังที่รวันดา: รวันดา ประเทศเล็กๆในแอฟริกากลาง สถานที่เกิดเหตุของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โหดเหี้ยมที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ‘พวกเขา’ และ ‘พวกเรา’ จาก ‘ความแตกต่าง’ สู่ ‘ความเกลียดชัง’ สิ่งใดกันหนอคือแรงผลักดันสุดท้ายที่สร้างร้อยวันแห่งความโหดร้าย ทุกอย่างเริ่มจากการแบ่งแยก
06 ความหมายที่หิมาลัย: Tenzing Hillary Airport, Lukla ป้ายชื่อของสนามบินเล็กๆ ณ ลุกลา นั่นเป็นชื่อของสองคนแรกที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้สำเร็จในปี 1953
นักปีนเขาชาวเชอร์ปา Tenzing Norgay และนักผจญภัยชาวนิวซีแลนด์ Sir Edmund Hillary พวกเขาทำไปทำไมกันนะ เอเวอเรสต์คือความหมาย ‘ความหมาย’ เหมือนจะเป็นสิ่งที่ถูกแสวงหามาเนิ่นนานเป็นกิเลสจำเพาะของสัตว์ที่เรียกตนเองว่ามนุษย์ เป็นสัญชาตญาณอัตโนมัติ หลังจากปัจจัยต่างๆที่จำเป็นต่อการอยู่รอดถูกเติมจนเต็มแล้ว เมื่อเลี้ยงชีพได้แล้ว ทุกคนย่อมต้องการจะเลี้ยงชีวิต
07 ความรักในความเวิ้งว้าง: มองโกเลีย นี่คือประเทศของคนจรที่เก็บกระท่อมย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆตามโอกาสและฤดูกาล บนพื้นหญ้าสีเขียวขจีอันไม่มีที่สิ้นสุด จากจุดหนึ่งสู่อีกจุดหนึ่ง ครอบครัวชาวมองโกเลียจะย้ายถิ่นฐานกันไปเรื่อยๆ แต่ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน ที่นั่นก็ยังเป็นบ้านของพวกเขา
#lifestyleofsogood #บันทึกการอ่าน #Books #เถื่อนเจ็ด #THESAVAGESEVEN #7เส้นทางที่พ่อแม่ไม่อยากให้คุณไป #วรรณสิงห์ประเสริฐกุล #ความสุขที่บราซิล #ความเป็นจริงที่อินเดีย #ความทรงจำที่เชอร์โนบิลยูเครน #ความถูกต้องที่อิหร่าน #ความเกลียดชังที่รวันดา #ความหมายที่หิมาลัย #ความรักในความเวิ้งว้างมองโกเลีย #หนังสือ
Follow Sogood
YouTube : Lifestyle of Sogood
Facebook : Lifestyle of Sogood
Instagram : pom_sogood
Instagram : pix_by_sogood
โฆษณา