15 ก.พ. เวลา 18:11 • หนังสือ

หนังสือ "ไม่เป็นบ้าไปกับโลก Live in Peace" โดยนิ้วกลม

... ประสบการณ์นั้นบอกกับผมว่า คนเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนสภาพแวดล้อม เป็นนิสัย สุดท้ายมันจะเปลี่ยนร่างกายของเรา ในระหว่างนั้นมีสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่เปลี่ยนไปพร้อมกันคือจิตใจ เมื่อจิตใจเปลี่ยน ทัศนคติที่มีต่อโลกรอบตัว ต่อตนเอง และต่อผู้อื่น จะเปลี่ยนจากเดิมไปโดยสิ้นเชิง - คนเราเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าตั้งใจฝึกฝน - คือบทเรียนจากการซ้อมวิ่งมาราธอน (หน้า 31)
มนุษย์เกิด แต่งงาน มีชีวิตอยู่ และตายไป ท่ามกลางความโกลาหลเร่าร้อน เสียจนคุณอาจคิดว่า มนุษย์น่าจะเป็นบ้าไปเพราะมัน :- William Dean Howells นักเขียน (หน้า 36)
จบจากรั้วมหาวิทยาลัยเราแยกย้ายเดินทางตามความฝันแล้วก็พบว่าเส้นทางรุงรังโกลาหลกว่าที่คิด ชีวิตมีมากกว่าความฝัน ยังมีภาระหน้าที่ความรับผิดชอบและอะไรต่อมิอะไรมากมาย ... โลกความจริงช่างแตกต่างจากตอนจินตนาการกันบนดาดฟ้ากว้างใต้ดวงดาวพร่างพรายในคืนนั้น แล้วความต้องการของแต่ละคนก็เริ่มสับสน เส้นทางไม่ได้เป็นของเราเพียงคนเดียว ยังมีผู้คนที่คาดหวังในตัวเราและผู้คนที่วิ่งขนาบไปพร้อมกัน ทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก คนวิ่งนำ วิ่งแซง และวิ่งไล่มา ชีวิตกลายเป็นการเปรียบเทียบแข่งขันกันในทุกมิติ (หน้า 40-41)
...แฮรารีสรุปว่า ถึงที่สุดแล้วความสุขไม่ได้ขึ้นกับสภาวะทางวัตถุวิสัยเลย ไม่ว่าจะเป็นความร่ำรวย สุขภาพ หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ แต่ขึ้นกับการคาดหวังแล้วสมหวังต่างหาก (หน้า 44)
ความสำเร็จอาจนำมาซึ่งอะไรหลายอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่มันไม่เคยมอบให้คือความพึงพอใจ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของความสุข ศาสตราจารย์แฮรารีเขียนไว้น่าคิดว่า ไม่เคยมีใครมีความสุขจากการถูกลอตเตอรี่ ซื้อบ้านใหม่ ได้เลื่อนตำแหน่ง หรือกระทั่งพบรักแท้ คนเรามีความสุขด้วยสาเหตุเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือ เกิดความรู้สึกพึงพอใจ (หน้า 46)
ความสุขแสนสั้น ความกระวนกระวายต่างหากที่อยู่ชั่วนิรันดร์ในโลกเช่นนี้ (หน้า 48)
มนุษย์มองไม่เห็นผลของการกระทำตนเองในวันนี้ ว่าจะเปลี่ยนแปลงโลกให้กลายเป็นแบบไหน เรามักคิดว่า 'ทำวันนี้ให้ดีที่สุด' ซึ่งคำกล่าวนี้ก็ควรตั้งคำถามด้วยเช่นกันว่า 'จะไม่คิดถึงวันหน้าสักนิดหรือ' (หน้า 51)
น่าสนใจที่คำว่า 'การแสวงหาเป้าหมาย' (goal pursuit) ไม่มีอยู่เลยในหนังสือภาษาอังกฤษกระทั่งในปีค.ศ. 1950 แล้วก็พุ่งทะยานขึ้นสูงชันอย่างมากตั้งแต่ราวปีค.ศ. 2000 เป็นต้นมา ล้อไปกับความรุ่งเรืองของอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีสวมใส่ได้ทั้งหลาย เราค่อยๆกลายเป็น 'คนล่าเป้า' และ 'คนบ้าเป้า' เมื่อมีเป้าหมายย่อมมีความคาดหวัง การไปไม่ถึงเป้าที่ตั้งไว้จึงกลายเป็นความทุกข์ (หน้า 64)
คำแนะนำคือ แทนที่จะใช้ชีวิตตาม 'เป้าหมาย' ให้หันมาอยู่กับ 'หลักการ' แทน หลักการที่ว่าคือ 'สิ่งต่างๆที่ทำเป็นประจำจะทำให้ฉันมีความสุขได้ในระยะยาว' เน้นความต่อเนื่องสม่ำเสมอมากกว่าความสำเร็จฉาบฉวยที่ต้องแข่งขันรายวัน (หน้า 65)
ชีวิตไม่ได้วัดด้วยตัวเลข มันวัดด้วยความรู้สึกในใจ อุปกรณ์ต่างๆที่เราสวมใส่มันไม่รู้หรอก หัวใจเราเท่านั้นที่รู้ (หน้า 67)
กิจกรรมออนไลน์เหล่านี้อาจหลอกให้เรารู้สึกว่ายังมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ยังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ยังได้รับการยอมรับและให้คุณค่า แต่ขณะเดียวกันก็กดดันเราให้ต้องพิสูจน์คุณค่าอย่างถี่ยิบ ทั้งยังค่อยๆเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางชีวเคมีในร่างกายของเราไปทีละนิด เมื่อสะสมเนิ่นนานเข้าก็อาจเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
นอกจากเปรียบเทียบแข่งขันกับญาติมิตรตลอดเวลาแล้ว เรายังค่อยๆกลายไปเป็นคนที่พูดคุยต่อหน้าไม่เป็น เห็นอกเห็นใจคนอื่นน้อยลง และเข้าใจตนเองน้อยลงไปทุกวัน หากใช้เวลากับหน้าจอมากขึ้นเรื่อยๆ ความสมดุลจึงสำคัญ และไม่แปลกแต่อย่างใดที่เราได้ยินเสียงพร่ำบ่นกันมากขึ้นว่ารู้สึกโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา ทั้งที่มียอดไลค์ไม่น้อย และมีคนติดตามเป็นพันเป็นหมื่น (หน้า 78)
" หากคุณไม่จัดอันดับความสำคัญให้กับชีวิตตัวเอง คนอื่นจะจัดให้คุณ" Greg McKeown ผู้เขียนหนังสือ Essentialism กล่าวสรุปไว้โดยกระชับ การตัดภารกิจในชีวิตออกเริ่มจากการจัดลำดับความสำคัญนี่เอง ซึ่งลำดับความสำคัญควรพิจารณาการใช้ประโยชน์จากความสามารถของตนเพื่อผลดีต่อตัวเองและผู้อื่น (หน้า 107)
... เมื่อรู้ว่าตัวเองหลงทาง นั่นเท่ากับเรากำลังจะกลับสู่เส้นทางที่ถูกต้อง (หน้า 112)
ความเชื่อผิดๆอย่างหนึ่งคือ ผู้คนมักคิดว่าการรวบหลายสิ่งมาทำพร้อมกันเป็นการประหยัดเวลา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วตรงกันข้าม บ่อยครั้งมันกลับยืดเวลาในการทำสิ่งเหล่านั้นให้นานขึ้นอีก เพราะมันดึงสมาธิจากกันและกัน ทางที่ดีกว่าคือแบ่งเวลาทำให้เสร็จทีละอย่าง ให้แต่ละงานมีตารางเวลาชัดเจนของตัวเอง
'multitasking' เป็นคุณสมบัติที่ผู้คนในโลกสมัยใหม่ถูกเรียกร้องให้ฝึก ขณะเดียวกันก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อความไม่สงบว้าวุ่นใจให้ผู้คนที่พยายามทำให้สำเร็จ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบรรยากาศชีวิตและการงานทุกวันนี้บังคับให้เราต้องกลายพันธุ์ไปเป็นสิ่งมีชีวิตจับปลาหลายมือโดยปริยาย
...มีงานวิจัยชี้ว่าพนักงานมักถูกขัดจังหวะทุกๆ 11 นาทีและใช้เวลาเกือบ 1 ใน 3 ของวันเพื่อรวบรวมสมาธิให้กลับมาจดจ่ออยู่กับงานตรงหน้า หากคุณทำงานวันละ 9 ชั่วโมงแต่ต้องใช้เวลา 3 ชั่วโมงกับการเรียกสมาธิ ย่อมไม่อาจกล่าวได้ว่า 'multitasking' ช่วยทำให้เราทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น (หน้า 116-117)
ความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากความไม่สบายกายไม่สบายใจรวมถึงความผิดหวังทั้งหลายนั้นเป็นกลไกธรรมชาติ มันสอนเราให้ระวังตัวในครั้งหน้า ไม่ต่างจากเด็กซนเอามือไปจับกาต้มน้ำที่กำลังเดือด เราทุกข์เพื่อจดจำ จะได้ไม่ต้องเจ็บตัวอีก ซึ่งจะว่าไป การใช้ชีวิตในแต่ละวันก็คือการเดินไปชนความทุกข์นั่นเอง (หน้า 146)
2
เสียงอึกทึกทำให้เราไม่ชินกับความเงียบ เราเบื่อหน่ายเมื่อต้องอยู่เงียบๆ เราเป็นนิสัยว่าจะต้อง 'เติมช่องว่าง' ตลอดเวลา กระทั่งในวงสนทนาก็ไม่ยอมปล่อยให้เงียบเพราะกลัว 'อากาศตาย' (dead air) สิ่งที่ถูกสังหารไปก่อนคือความเงียบนี่เอง เช่นนี้แล้วเราจะได้ยินและมองเห็นความรู้สึกของตัวเองได้อย่างไร จะไม่ว้าวุ่นใจอย่างไรไหว
ความเงียบตรงข้ามกับการกระทำ การกระทำคือการลงมือเพื่อเปลี่ยนแปลงบางสิ่ง ขณะที่ความเงียบก่อให้เกิด 'ผู้สังเกตการณ์' ฝึกอยู่กับการไม่ตัดสิน ปล่อยให้สิ่งต่างๆดำเนินไป ปล่อยให้ผู้คนเป็นแบบที่เขาเป็น
บางวัน บางขณะ ลองเล่นบทเป็น 'ผู้สังเกตการณ์โลก' ดูบ้างเป็นไรไป เราเล่นบทตัวเอกที่พยายามเปลี่ยนโลกมาเนิ่นนานแล้ว ไม่แน่ ระหว่างนั่งนิ่งๆนั่นแหละที่จะเห็นตัวเองชัดเจนที่สุด คือมองเห็นว่าตัวเองมีความคิดเห็นมากมาย ตัดสินบวกลบตลอดเวลา พิพากษาคนนั้นคนนี้ที่เดินผ่าน จะว่าไป "ผู้สังเกตการณ์โลกก็เกิดผู้สังเกตการณ์ตนเองเช่นกัน" (หน้า 163)
... เช่นนี้เราจึงใช้ชีวิตเหมือนที่เลโอนาร์โด ดา วินชี กล่าวไว้ว่า
You look but you don't see
You listen but you don't hear
You touch but you don't feel
You speak but you don't think
มองแต่ไม่เห็น
ฟังแต่ไม่ได้ยิน
สัมผัสแต่ไม่ได้รับรู้
พูดแต่ไม่ได้คิด (หน้า 205)
... ดังเช่นที่ท่านติช นัท ฮันห์ สอนว่าการล้างจานมีสองวิธี วิธีแรกคือล้างเพื่อทำความสะอาดถ้วยชามให้เสร็จแล้วจะได้ไปทำอย่างอื่น วิธีที่สองคือล้างถ้วยชามเพื่อที่จะล้างถ้วยชาม เช่นเดียวกับการกินส้ม ท่านสอนให้กินส้มและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับมัน พวกเราส่วนใหญ่มิได้ทำกิจกรรมด้วยใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ ... เมื่อใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว กิจกรรมต่างๆกลายเป็นสิ่งที่ทำให้จบๆไป ไม่รู้สึกถึงคุณค่า และทำให้รู้สึกว่างเปล่าในบางคราว (หน้า 221)
"อารมณ์ต่างๆเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ที่ไม่ดับก็เพราะเราเองเป็นคนราดน้ำมันโหมไฟขึ้นมาอีกครั้งแล้วครั้งเล่า" (หน้า 235)
ดังเช่นภาษิตจีนโบราณกล่าวไว้ว่า "การปลีกวิเวกขั้นเริ่มต้นอยู่ในป่า การปลีกวิเวกขั้นกว่าอยู่ในเมือง และการปลีกวิเวกขั้นสูงสุดอยู่ในท้องพระโรง" แสดงให้เห็นว่าโลกแห่งความจริงเป็นสถานที่ดีที่สุดในการลับคมทักษะทางอารมณ์ แต่ในช่วงยังไม่กล้าแกร่ง การหลบลี้ไปบ่มเพาะจิตใจนับว่าสำคัญ (หน้า 254-255)
ความเมตตาจึงเป็นที่มาของความสุขอันยั่งยืน (หน้า 260)
ถึงที่สุดแล้ว การเจริญสติจึงมิใช่กิจกรรมโดดเดี่ยวตามลำพังที่ใครสักคนหลบเข้าถ้ำแล้วหายลับไปจากโลก หากคือการหยุดพักเพื่อบ่มเพาะ สร้างหัวใจที่มั่นคงเพียงพอต่อปัญหาส่วนตัว ก่อเกิดเป็นพลังที่เต็มเปี่ยมในใจตนเอง เมื่อนั้นจึงพร้อมที่จะเผื่อแผ่สุขแบ่งเบาทุกข์ในหัวใจคนอื่น สลายเส้นแบ่งให้กลายเป็นเรา เพื่อร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกันในโลกที่ยังมีปัญหาให้แก้ไข ทั้งภายในใจและภายนอกอีกมากมาย (หน้า 262)
สาทิศ กุมาร เล่าไว้ในหนังสือ Soil Soul Society ว่า "ในประเทศอินเดีย เรามักเอ่ยคำว่าสันติสามครั้งว่า ศานติ ศานติ ศานติ" เหตุผลคือสันติสุขมีอย่างน้อยสามมิติ คือสันติสุขภายใน สันติสุขทางสังคม และสันติสุขทางนิเวศ การมีสันติได้นั้นเราต้องมีสันติสุขกับตัวเอง กับโลก และกับธรรมชาติ
ผมชอบนิยามสามสันติของคุรุท่านนี้ ซึ่งทั้ง สามมิตินั้นเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง เมื่อไม่มีสันติกับตัวเอง เราย่อมทะเลาะเบาะแว้งกับคนอื่นและเบียดเบียนธรรมชาติ เมื่อไม่มีสันติกับผู้คนในสังคม เราย่อมทะเลาะกับตัวเองและมองไม่เห็นคุณค่าความงามของธรรมชาติ เมื่อไม่มีสันติกับธรรมชาติเราย่อมได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติเดือดร้อนตัวเองและสังคมไปพร้อมกัน ในสภาพชีวิตเช่นนี้ยากที่จะมีทั้งความสงบสุขและสันติสุข (หน้า 268)
" สันติภาพเป็นอะไรที่มากกว่าแค่ไม่มีสงคราม สันติภาพคือวิถีชีวิต" (สาทิศ กุมาร) (หน้า 270)
... ดังเช่นที่อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ หยิบยกถ้อยคำในไบเบิลมาพูด "ศรัทธาคือการเชื่อในสิ่งที่มองไม่เห็น รางวัลของศรัทธาคือการได้เห็นในสิ่งที่เชื่อ" สำหรับเรื่องฝึกจิตฝึกใจสิ่งที่มองไม่เห็นที่ว่าคือใจที่สงบสุข ฉะนั้นเมื่อศรัทธาแล้วว่าสภาวะนั้นมีอยู่จริง ก็ต้องบ่มเพาะมันเหมือนนักวิ่งที่ตั้งใจซ้อม (หน้า 272)
... ในแง่การฝึกฝนจิตใจ ผมน้อมรับคำแนะนำของอาจารย์เขมานันทะที่เคยบอกไว้ว่า " หมั่นฝึกบ่อยๆ ฝึกเล่นๆ แต่ฝึกจริงๆ คือฝึกอย่างจริงจัง แต่อย่าไปคร่ำเคร่งกับมันมาก แต่ตั้งใจฝึกนะ" (หน้า 281)
... ผมน้อมรับคำสอนของพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ที่บอกว่า "ทำเต็มที่ แต่ไม่ซีเรียส" ในความหมายว่าทุ่มเทเต็มที่กับเหตุ คือการลงมือทำของเรา แล้วปล่อยวางผลที่จะเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยอื่นอีกมากมาย
ฝึกเล่นๆ แต่ฝึกจริงๆ
ทำเต็มที่ แต่ไม่ซีเรียส
ผมเชื่อว่าเราสามารถ Live in Peace ได้โดยไม่ต้องรอ Rest in Peace และเราสามารถมีชีวิตอยู่อย่างพึงพอใจ โดยไม่เป็นบ้าไปกับโลก (หน้า 282)
โฆษณา