16 ก.พ. เวลา 07:30 • ศิลปะ & ออกแบบ

“หน้ากาล” แห่งกาลเวลา

หน้ากาล บ้างก็เรียก เกียรติมุข มักพบตามซุ้ม-มุข ที่เป็นทางเข้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มากว่าพันปีแล้ว ตามความหมายโดยรวม มักถูกนำมาแทนการสื่อความหมายถึง เทพแห่งอสูร (ราหู) ที่คอยปกปัก รักษาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อมิให้มีสิ่งชั่วร้ายผ่านเข้าไป ด้วยเหตุนี้ หน้ากาลตามมุขทางเข้าศาสนสถานจึงได้รับการยกย่องจากผู้คนและได้รับการสถาปนาอีกชื่อหนึงว่า เกียรติมุข
2
หน้ากาลที่พบมีหลากหลายรูปแบบ บ้างก็เป็นเวอร์ชั่นคายท่อนมาลัย (เช่น ตามปราสาทหิน) บ้างก็กำลังกัดกินพระจันทร์ (เช่น ที่วัดมหาธาตุ เชลียง) รวมถึงเวอร์ชั่นที่ช่างจับมาเกาเหลาให้อยู่ด้วยกันทั้งสองรูปแบบ เวลาผ่านมา ท่านราหูก็ได้กลายร่างจากหน้ากาลที่มีพระพักตร์เป็นอสูร (หน้ายักษ์) มาเป็นหน้าสิงห์ และยังคงการคาบ (ดูเป็นกำลังคายก็ได้) มาลัย หรือพรรณพฤกษา
กระบังหน้าซุ้ม ลายหน้ากาลแบบหน้าสิงห์ โดยสิงห์ (มีที่มาจากเทพอสูร หรือพระราหู) กำลังคาบ (คาย) พรรณพฤกษา โดยมีเทพเทวาพนมมือ (เทพพนม) เป็นองค์ประกอบขนาบอยู่ทั้งสองฝั่ง แวดล้อมด้วยศิลปะไทยอันประกอบด้วยลวดลายที่พัฒนามาจากพรรณพฤกษา
นอกจากนี้รูปแบบศิลปะของ หน้ากาล ยังถูกนำมาสื่อความหมายถึง อสูรผู้กลืนกินทุกสิ่งแม้กระทั่งตัวเองจนเหลือแต่ส่วนหัวและส่วนแขน โดยช่างแสดงท่าทางของอสูรกำลังหยิบจับทุกสิ่งเข้าปาก ที่ “พีค” ไม่แพ้กันคือผลงานของอสูรที่กัดกินพระจันทร์ (ราหูอมจันทร์) อยู่ตลอดเวลาอันเป็นปริศนาธรรมของผู้คนในอดีต
การกัดกินพระจันทร์ที่กำลังเคลื่อนคล้อยตลอดเวลาของ “หน้ากาล” จึงดูสอดคล้องกับอีกหนึ่งปริศนาธรรมที่ถูกนำมาใช้เพื่อย้ำเตือนถึง “กาลเวลา” ที่ไม่เคยรอใครและไม่มีหนทางจะย้อนกลับมาได้อีก หน้ากาล จึงเป็นสัญลักษณ์ที่ยังคงความทันสมัยมาถึงทุกวันนี้
เดินไป วาดไป: บันทึก “หน้ากาล” แห่งกาลเวลา
ภาพวาดลายเส้น บนแผ่นอิเล็กทรอนิกส์
แต่งแต้มสีน้ำ ตามบรรยากาศขณะบันทึก
สถานที่ วัดพลับพลาชัย เพชรบุรี
#วัดพลับพลาชัยเพชรบุรี
โฆษณา