22 ก.พ. เวลา 04:55 • สิ่งแวดล้อม

Sustainability Talks: Towards a Green ASEAN

โดย ศ.ดร. Jeffrey D. Sachs ประธานเครือข่าย UN Sustainable Development Solutions Network
ทุกท่านทราบหรือไม่ว่าปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมาเป็นปีที่อากาศร้อนที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติมา และอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกยังเพิ่มสูงขึ้นถึง ๑.๔๘ องศาเซลเซียส ทำให้โลกของเราใกล้ถึงเส้นตายเป้าหมายตามข้อตกลงปารีส ที่ระบุว่าประชาคมโลกต้องช่วยกันควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงเกิน ๑.๕ องศาเซลเซียส
ยิ่งไปกว่านั้น ในปีที่ผ่านมาก็ได้เกิดเหตุการณ์มากมายขึ้นบนโลกของเรา ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ความไม่สงบในยูเครนที่ยังคงคุกรุ่น สถานการณ์ความรุนแรงในฉนวนกาซา การแข่งขันกันระหว่างประเทศมหาอำนาจไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองหรือการค้า เหตุการณ์มากมายเหล่านี้อาจทำให้พวกเราละเลยปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนบนโลกอย่าง “ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ไป
ทุกท่านทราบหรือไม่ว่าปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมาเป็นปีที่อากาศร้อนที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติมา
ด้วยเหตุผลนี้เอง กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ACSDSD) C asean และ ThaiBev จึงได้จัดกิจกรรม “Sustainability Talks: Towards a Green ASEAN” โดยเชิญ ศ.ดร. Jeffrey D. Sachs ประธานเครือข่าย UN Sustainable Development Solutions Network มาจัดการบรรยายพิเศษที่ประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและเน้นย้ำว่าการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนก็จะนำไปสู่ทางออกของปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
บรรยากาศงานเสวนา Sustainability Talks: Towards a Green ASEAN
ศาสตราจารย์ Sachs ให้ความเห็นว่า จากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นมากในปีที่ผ่านมา ประชาคมโลกควรต้องรีบเร่งจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อนที่จะสายเกินไป และภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบต่าง ๆ ในหลายภูมิภาคทั่วโลก
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดูจะเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เงียบสงบมากที่สุดภูมิภาคหนึ่ง ถือเป็นข้อได้เปรียบของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ชาติต่าง ๆ ในภูมิภาคมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน อันจะนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือ และสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดี เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ร่วมกันได้
เราจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไร?
เมื่อเรามีเป้าหมายแล้ว สิ่งสำคัญต่อมาก็คือ ‘เราจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไร?’ ศาสตราจารย์ Sachs ให้คำตอบไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า แม้คำถามจะดูยาก แต่คำตอบเรียบง่ายมากซึ่งนั้นก็คือ ‘ความร่วมมือระหว่างกัน’ และ ‘การลงมือทำ’ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เพียงแค่การลงมือทำเฉย ๆ แต่ต้องอาศัย ‘การวางแผนอย่างมีระบบ’ ควบคู่ไปด้วย เพราะว่าการวางแผนที่ดีจะทำให้การบรรลุเป้าหมายสามารถทำได้ง่ายขึ้นมากตามไปด้วยนั่นเอง
สำหรับแนวทางการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของอาเซียนนั้น ศาสตราจารย์ Sachs เสนอว่าอาเซียนจำเป็นต้องสร้าง ‘แนวทางและแนวปฏิบัติร่วมกัน (collective action)’ เพื่อที่ชาติต่าง ๆ จะได้ก้าวไปสู่จุดหมายเดียวกัน โดยควรครอบคลุมแนวปฏิบัติที่สำคัญ ๖ ด้าน คือ ๑. การศึกษา ๒. สาธารณสุข ๓.พลังงานสะอาด ๔. การเกษตรกรรมยั่งยืน ๕. การวางแผนเมือง/โครงสร้างพื้นฐาน และ ๖. การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล
Educate your children and be nice to your neighbours.
โดยได้สรุปอย่างตรงไปตรงมาว่าความก้าวหน้าของประเทศเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หากเราให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของลูกๆ และยื่นมือให้ความช่วยเหลือแก่เพื่อนบ้าน – “Educate your children and be nice to your neighbours.”
บรรยากาศงานเสวนา Sustainability Talks: Towards a Green ASEAN
ประเทศไทยจะสามารถช่วยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไรบ้าง?
การที่เราจะสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น แค่ความร่วมมือระหว่างชาติสมาชิกอาเซียนก็มิอาจเพียงพอ ไทยในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนเข้าด้วยกัน
พร้อมส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดในภูมิภาค โดยควรขยายความร่วมมือนี้ไปให้ครอบคลุมถึงประเทศที่เข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพของกันและกันในการดำเนินการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาค
บรรยากาศงานเสวนา Sustainability Talks: Towards a Green ASEAN
ทำไมเราถึงต้องใช้ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจมาจัดการกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม?
เหตุผลที่ ศาสตราจารย์ Sachs หยิบยกกลุ่มความร่วมมือที่มีวัตถุประสงค์ด้านเศรษฐกิจมาขับเคลื่อนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมนั้นก็เพราะว่า ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม หรือภาคเอกชน นั้นมีเป้าหมายเพื่อหาผลประโยชน์ในรูปแบบของผลกำไรเป็นหลัก จึงอาจทำให้ละเลยประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมไป อีกทั้ง ภาคธุรกิจยังมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลเสียต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงเป็นอันดับต้น ๆ อีกด้วย
องค์กรภาครัฐจึงจำเป็นต้องเข้ายื่นมือเข้ามาช่วย โดยใช้องค์กรและความร่วมมือทางเศรษฐกิจเหล่านี้ เปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจแบบเดิมไปสู่การดำเนินธุรกิจและอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ร่วมกับการมีนโยบายการเงินสีเขียว (Green Finance) ที่กฎระเบียบทางการเงิน มาตรฐาน บรรทัดฐาน และผลิตภัณฑ์ทางการเงินจะต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
รายงานดัชนีความยั่งยืนประจำปี ๒๕๖๖ (ที่มา: Sustainable Development Report)
ในช่วยท้ายของการบรรยาย ศาสตราจารย์ Sach ยังเน้นย้ำอีกครั้งว่าประชาคมโลกควรต้องรีบเร่งจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยไม่ต้องรีรอให้ชาติมหาอำนาจเป็นผู้นำ เพราะเมื่อถึงเวลานั้นอาจจะสายเกินไปแล้วก็ได้ ซึ่งทุกประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศหรือองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเล็กใหญ่เพียงใด ก็สามารถเริ่มต้นสร้างความเปลี่ยนแปลงและกำหนดอนาคตของคนรุ่นต่อไปได้เลยว่า เราต้องการให้ลูกหลานของเราดำเนินชีวิตอยู่ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยความยั่งยืนหรือโลกที่กำลังป่วยไข้กันแน่
เราต้องการให้ลูกหลานของเราดำเนินชีวิตอยู่ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยความยั่งยืนหรือโลกที่กำลังป่วยไข้กันแน่ ?
โฆษณา