19 ก.พ. เวลา 10:30 • ท่องเที่ยว

((( ชายหาดเต่า : จากถิ่นกินไข่เต่า สู่แหล่งอนุรักษ์ระดับโลก ))

แทบไม่ต้องเดาเลยว่า ที่มาของชื่อ “ชายหาดเต่า” (Turtle Beach) สุดแสนจะตรงไปตรงมา ไม่สลับซับซ้อน
นั่นเป็นเพราะ เต่ากระ (Hawksbill Sea Turtle) หนึ่งในเจ็ดสายพันธุ์ทั่วโลกที่เข้ามายังอ่าวเปอร์เซียผ่านน่านน้ำเปิด ขึ้นมาวางไข่ ณ บริเวณหาดทรายของหมู่บ้านชีบ เดราซ (Shib Deraz) บน เกาะเกชม์ (Qeshm Island) ประเทศอิหร่าน เป็นประจำทุกปี จนเป็นที่มาของชื่อชายหาดแห่งนี้
เหตุที่ เต่ากระ ถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า เต่าปากเหยี่ยว เป็นเพราะจมูกของเต่าสายพันธุ์นี้มีรูปทรงคล้ายจะงอยปากของนกเหยี่ยว ซึ่งนั่นก็เพื่อใช้แยกอาหาร (ฟองน้ำทะเล) ออกจากชั้นปะการังนั่นเอง
แม้ในปัจจุบันก็เป็นที่รู้กันว่า เต่ากระได้ถูกจัดให้อยู่ในประเภทสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ที่ได้รับการคุ้มครองจากนานาชาติแล้วก็ตาม ทว่าในอดีต ผู้คนท้องถิ่นเคยนิยมเก็บไข่เต่า เพือบริโภคตามความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการ แถมยังนำไปขายเพื่อสร้างรายได้เฉกเช่นเดียวกับสัตว์ทะเลอื่นๆ อย่างปลา ปู และกุ้ง
แล้วชาวบ้านบนเกาะแห่งนี้ เริ่มเปลี่ยนความคิดไปตั้งแต่เมื่อไหร่กัน?
หลังจากเริ่มมีการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ถึงการใกล้สูญพันธุ์ของเต่ากระให้กับผู้คนท้องถิ่น ในปี 2002 ได้มีการเปิดตัวโครงการอนุรักษ์เต่าทะเลในหมู่บ้านชีบ เดราซ ซึ่งอาศัยความร่วมมือระหว่างผู้ที่อยู่อาศัยบนเกาะเกชม์, สภาหมู่บ้านและองค์กรเขตปลอดอากรเกาะเกชม์ โดยประกาศให้เป็นพื้นที่เพาะพันธุ์เต่าและโรงเพาะฟักไข่เต่า
ดังนั้น ในฤดูการวางไข่ของเต่ากระ ที่เริ่มตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมและต่อเนื่องไปจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม คนในท้องถิ่นจะทำหน้าที่ให้ความรู้แก่เหล่านักท่องเที่ยว, คอยลาดตระเวนชายหาดอย่างจริงจัง, ติดแท็กเต่าที่มาถึงชายหาด, เก็บไข่ทันทีที่เกิด, ย้ายไข่ไปฝังไว้ในดินภายใต้สถานที่ในความคุ้มครองพิเศษอีกครั้ง ไปจนถึงคอยเฝ้าดูแลไข่อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังกนำไปสู่การพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นบ้านพักสำหรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการก่อตั้งสำนักงานสหกรณ์ด้านหัตถกรรม เพื่อให้เป็นพื้นที่ขายสินค้าหัตถกรรมประเภทต่างๆ ที่มีลวดลายสัญลักษณ์เต่าทะเล ของเหล่าผู้หญิงในชุมชนอีกด้วย
จะเห็นได้ว่า การปรากฏตัวของเต่ากระและการวางไข่บนชายฝั่ง ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งรายได้ที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของชุมชนที่นี่เท่านั้น ทว่ายังเป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เนื่องจากการเข้ามาชมประเพณีท้องถิ่นของชุมชนและสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ จะช่วยให้ชาวบ้านสามารถเห็นคุณค่าของประโยชน์ในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติของตนไปได้พร้อมๆ กัน
จนในที่สุด ในปี 2004 โครงการอนุรักษ์บริเวณชายหาดเต่าแห่งนี้ ก็ถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในโครงการอนุรักษ์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในอิหร่าน และต่อมาในปี 2008 ก็ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสิบโครงการชั้นนำของมูลนิธิสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาแห่งเอเชียแปซิฟิก ณ ประเทศญี่ปุ่น
อย่างไรก็ดี มลภาวะทางแสงและเสียงโดยมนุษย์รอบๆ ชายหาดเต่า กลับสร้างสภาวะเครียดให้กับบรรดาแม่เต่าในระหว่างการวางไข่ และหลายครั้งที่สร้างความเข้าใจผิดให้กับลูกเต่าที่ฟักออกมา จนนำพาลูกเต่าหลงออกนอกเส้นทาง
ด้วยเหตุนี้ แม้ว่านักท่องเที่ยวจำนวนมากล้วนตั้งใจไปเยี่ยมชมวงจรชีวิตช่วงต้นของเต่าตัวน้อยหล่านี้ด้วยเจตนาที่ดี ทว่าการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ ด้วยการเคารพกฎของสถานที่นั้นๆ จะช่วยให้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศของสถานที่แห่งนั้นยั่งยืน
และไม่ทำให้ความปรารถนาดีต้องกลายเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตอันสวยงาม ณ บริเวณชายหาดเต่าแห่งนี้
ดูรูปฝูงลูกเต่าจะออกไปแตะขอบน้ำ ได้ในคอมเมนต์
.
#TWCIranIsland
#TWCTravel
โฆษณา