Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Main Stand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
20 ก.พ. 2024 เวลา 08:01 • กีฬา
ซาอุดีโปรลีก & เจลีก : ดึงดาวดังเล่นในประเทศ vs ปั้นแข้งไปยุโรป แบบไหนสำเร็จกว่ากัน ? | Main Stand
เป็นความจริงที่ว่านักฟุตบอลจากทวีปเอเชียหลาย ๆ คน มีความใฝ่ฝันในการออกไปค้าแข้งในลีกอาชีพยุโรปให้ได้สักครั้งในชีวิต นั่นเพื่อพัฒนาฝีเท้าภายใต้ทวีปที่ได้รับการขนานนามว่ายิ่งใหญ่ในโลกลูกหนัง แถมยังได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิมด้วยอีกทางหนึ่ง ดังจะเห็นได้จาก เจลีก ที่ส่งออกนักเตะญี่ปุ่นลุยยุโรปมากมาย
ในทางตรงกันข้าม ก็ไม่ได้หมายความว่าเหล่าพ่อค้าแข้งจากเอเชียจะยึดโมเดลดังกล่าวไปเสียทุกลีก เห็นได้จากประเทศบางประเทศที่ยึดโมเดลสร้างลีกของตัวเองให้แข็งแกร่ง ด้วยการไปดึงนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ของโลกมาโลดแล่น ดังตัวอย่าง ซาอุดี โปรลีก หรือลีกอาชีพสูงสุดของซาอุดีอาระเบีย
แน่นอนว่าทั้งสองโมเดลนี้ต่างก็เอื้อประโยชน์ต่อทีมชาติในเอเชียในมุมมองที่ต่างกันไปตามแนวทาง แล้วแบบไหนถึงเรียกได้ว่า “ประสบความสำเร็จ” มากกว่ากัน
Main Stand ชวนแฟน ๆ มาวิเคราะห์ผ่านบทความนี้
โมเดลที่แตกต่างกันในหลายประเทศ
ด้วยขนาดที่ตั้ง การมีทรัพยากรที่หลากหลาย ไปจนถึงความแตกต่างทางความคิดและวัฒนธรรมของบรรดาประเทศในทวีปเอเชีย เหล่านี้ล้วนแต่เป็นตัวอย่างขององค์ประกอบที่หล่อหลอมให้วงการฟุตบอลลีกอาชีพของหลาย ๆ ชาติในเอเชียมีความเหมือนและต่างกันออกไป ภายใต้เป้าประสงค์เดียวกันนั่นคือ “ยกระดับทีมชาติ”
ยกตัวอย่างชาติในตะวันออกกลาง ภูมิภาคซึ่งเปี่ยมไปด้วยพลังงานน้ำมันและเป็นขุมทรัพย์สำคัญที่ช่วยให้หลาย ๆ ชาติในโซนนี้ อาทิ กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึง ซาอุดีอาระเบีย มีสถานะเป็นรัฐร่ำรวยติดอันดับโลกมาช้านาน
เช่นเดียวกับการที่สามประเทศที่ว่ามานี้ล้วนมีแต่ประเทศรัฐมุสลิม จึงไม่แปลกที่ลีกฟุตบอลอาชีพของทั้งสามประเทศนิยมแนวทาง สร้างเอง ใช้งานเอง ดังตัวอย่างนักเตะที่ติดทีมชาติกาตาร์ ยูเออี ไปจนถึงซาอุฯ ในรายการเอเชียน คัพ 2023 ทุกคนล้วนแต่ค้าแข้งในลีกประเทศตัวเองกันทั้งสิ้น โดยกระบวนการย้ายทีมก็มักจะเกิดขึ้นกันเองเป็นการภายในประเทศเป็นสำคัญ
เพราะการคงสถานะรัฐร่ำรวย จึงไม่แปลกที่ลีกอาชีพของทั้งสามประเทศนี้ จะใช้แนวทางการเติมความแข็งแกร่งให้กับลีกด้วยโมเดลดึงนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์โลกเข้ามาโลดแล่น ทุ่มงบมหาศาลเพื่อให้ดาวดังโลกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง
กาตาร์ สตาร์ส ลีก เคยดึงนักเตะอย่าง ชาบี เอร์นานเดซ มาเล่นที่ อัล ซาดด์ แถมยังเคยทำหน้าที่กุนซือ เช่นเดียวกับการคว้า ซานติ การ์ซอล่า มาเสริมทัพ ขณะที่อดีตเพื่อนร่วมทีม บาร์เซโลน่า ของชาบี อย่าง อันเดรียส อิเนียสต้า ก็อยู่ค้าแข้งในลีกสูงสุดของยูเออี กับ เอมิเรตส์ คลับ หรืออย่างภาพที่เห็นเด่นชัดเป็นที่ประจักษ์มากที่สุดก็หนีไม่พ้น ซาอุดี โปร ลีก ที่อุดมไปด้วยยอดแข้งมากดีกรียุโรปเกินสิบคน
อีกฟากฝั่งหนึ่งของทวีป กับภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะ เจลีก หรือลีกอาชีพประเทศญี่ปุ่น มีโมเดลการสร้างลีกและปั้นนักเตะที่ต่างไปจากสามชาติมหาอำนาจในตะวันออกกลางอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้จากนักเตะจากเจลีกหลาย ๆ คนก้าวจากการเป็นนักเตะฝีเท้าดีไปสู่การค้าแข้งในเวทียุโรป โดยที่สโมสรยินยอมปล่อยตัวไปล่าฝันแบบพร้อมเพรียง
เช่นเดียวกับ เคลีก หรือลีกอาชีพประเทศเกาหลีใต้ ที่แม้ภาพของการปั้นนักเตะลุยยุโรปจะไม่ได้เด่นเท่าเจลีก ทว่าโมเดลดังกล่าวก็นับว่าได้ผลอยู่ไม่น้อย
แน่นอนว่าเหตุผลสำคัญที่สอดรับ ก็คือการที่ตำนานนักเตะของทั้งสองชาติต่างก็เคยผ่านโมเดลนี้ และก้าวขึ้นไปยิ่งใหญ่แบบไม่มีน้อยหน้ากัน นำมาสู่การเป็นแข้งต้นแบบของผู้เล่นยุคหลังอย่างแท้จริง
เช่น ชินจิ โอโนะ ย้ายจาก อุราวะ เร้ดส์ ไปคว้าแชมป์ ยูฟ่า คัพ กับ เฟเยนูร์ด หรืออย่าง ชุนสุเกะ นากามูระ ออกไปโลดแล่นกับ เซลติก จนกลายเป็นตำนานของทีมม้าลายเขียวขาวที่สกอตแลนด์
หรืออย่างเกาหลีใต้ แม้ พัค จี-ซอง จะไม่เคยเล่นในเคลีก (เริ่มต้นเส้นทางฟุตบอลอาชีพที่เจลีก) ทว่าเขาก็นับเป็นแข้งโสมขาวคนต้นแบบให้ดาวเตะรุ่นหลัง ในฐานะตำนานเกาหลีที่ออกไปประสบความสำเร็จในยุโรป เช่นเดียวกับ อี ยอง-พโย แบ็คซ้ายที่อยู่ลงเล่นในเคลีก ก่อนก้าวไปคว้าแชมป์ลีกดัตช์กับ พีเอสวี ตามต่อด้วยการเป็นแบ็คซ้ายตัวจริงของ ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์
ถึงกระนั้น ใช่ว่าโซนเอเชียตะวันออกจะมาในโมเดลนี้ไปทั้งหมด เพราะครั้งหนึ่ง ไชนีส ซูเปอร์ ลีก หรือลีกสูงสุดของสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็เคยใช้โมเดลดึงนักเตะมากดีกรีระดับยุโรปมาโลดแล่น สอดรับกับนโยบายของชาติของประธานาธิบดี สีจิ้งผิง ที่ต้องการให้แวดวงลูกหนังแดนมังกรเป็นชาติมหาอำนาจฟุตบอลภายในปี 2050
แต่หากให้เอ่ยถึงความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างสองโมเดลลีกอาชีพในเอเชีย ณ ปัจจุบัน ที่แตกต่าง แต่มีเป้าหมายพัฒนาไปสู่ทีมชาติชุดใหญ่ด้วยกันที่เห็นเด่นชัดที่สุด ก็คงจะเป็นลีกอาชีพสูงสุดของซาอุดีอาระเบีย อย่าง ซาอุดี โปร ลีก และลีกอาชีพสูงสุดของญี่ปุ่น อย่าง เจ 1 ลีก
ซาอุดี โปร ลีก กวาดดาวดังร่วมบู๊
ก่อนที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย จะมีอภิมหาโปรเจ็คต์ “Vision 2030” หรือแผนการพัฒนาประเทศว่าด้วยเรื่องการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ภายใต้การลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งหนึ่งในแนวทางการพัฒนาก็คือการใช้อุตสาหกรรมกีฬา (รวมถึงฟุตบอล) ในการขับเคลื่อน จนนำมาซึ่งบรรดาซูเปอร์สตาร์เกรดท็อปตบเท้ามาเล่นนับแต่ปี 2023 เรื่อยมาแล้วนั้น
ลีกอาชีพสูงสุดของซาอุดีอาระเบีย ขึ้นชื่อในเรื่องของการทุ่มเงินล่อตาล่อใจชั้นดีให้กับเหล่าผู้เล่นต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มผู้เล่นชื่อดังที่เคยผ่านการลงเล่นในระดับยุโรปมาก่อน ให้ย้ายมาเล่นในประเทศมาก่อนหน้านั้นแล้วหลายปี
ยกตัวอย่างปี 2022 นับเฉพาะช่วงเวลาก่อนที่ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ จะย้ายมา อัล นาสเซอร์ ลีกสูงสุดซาอุฯ มีอดีตดาวเตะผู้ที่ผ่านการค้าแข้งเวทีพรีเมียร์ลีกมาแล้วหลายคน เช่น มาเธอุส เปย์เรรา อดีตนักเตะ เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน, โอเดียน อิกาโล่ อดีตกองหน้า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด รวมถึง เฮลเดอร์ คอสต้า แนวรุกที่เคยเล่นให้ทั้ง วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส และ ลีดส์ ยูไนเต็ด
ตามมาด้วยความยิ่งใหญ่ต่อจากนั้น โดยเฉพาะหลังจากที่โรนัลโด้ หรือ CR7 ย้ายมาเล่นในช่วงต้นปี 2023 เรียกได้ว่า ซาอุดี โปร ลีก กลายเป็นลีกที่บรรดาซูเปอร์สตาร์ของยุโรปเลือกลงหลักมาเล่นแบบไม่มียอมกัน ไม่ว่าจะเป็น
คาริม เบนเซม่า, เอ็นโกโล่ ก็องเต้ และ ฟาบินโญ่ ของ อัล อิตติฮัด, คาลิดู คูลิบาลี่, รูเบน เนเวส, เซอร์เกย์ มิลินโควิช ซาวิช, อเล็กซานดาร์ มิโตรวิช รวมถึง เนย์มาร์ ของ อัล ฮิลาล ไปจนถึงเพื่อนร่วมทีมของโรนัลโด้ที่ อัล นาสเซอร์ อย่าง ซาดิโอ มาเน่, อเล็กซ์ เตลเลส หรือแม้แต่ มาร์เซโล่ โบรโซวิช ฯลฯ เหล่านี้คือตัวอย่างของคนดังในวงการลูกหนังชนิดที่เอ่ยมาไม่มีใครไม่รู้จัก
อนึ่ง ที่ซาอุดีอาระเบียเห็นว่าโมเดลดังกล่าวได้ผลดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขาเคยล้มเหลวกับการส่งนักเตะในประเทศไปค้าแข้งต่างแดน
ย้อนกลับไปในเดือนมกราคม 2018 สหพันธ์ฟุตบอลแห่งซาอุดีอาระเบีย เคยทำข้อตกลงร่วมกับ ลา ลีกา ลีกฟุตบอลอาชีพสูงสุดของสเปน ส่ง 9 นักเตะระดับแถวหน้าของประเทศย้ายไปเล่นในลีกสูงสุดแดนกระทิง เพื่อนำประสบการณ์จากการเล่นในต่างแดนมาสร้างความแตกต่างให้ทีมชาติชุดลุยฟุตบอลโลก 2018
แต่ผลปรากฏว่าโปรเจกต์นี้ต้องมาพับลงแบบไม่ทันไร เมื่อนักเตะทุกคนปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมใหม่ ๆ ไม่ได้ โดยนักเตะแถวหน้าของชาติทั้ง 9 คน ลงสนามรวมกันแค่ 59 นาที เท่านั้น ตัวอย่างดาวเด่นของชาติอย่าง ฟาฮัด อัล-มูวัลลัด ซึ่งย้ายไปเล่นให้ เลบานเต้ ปรากฏว่าได้ลงเล่นแค่ 26 นาที จากทั้งหมด 2 เกม
จุดน่าสนใจอีกประการก็คือการซื้อขายนักเตะสัญชาติซาอุฯ กันภายในลีก ก็นับว่ามีความคึกคักชนิดที่แข้งรายนั้น ๆ ไม่จำเป็นต้องไปเหนื่อยกับการสู้ชีวิตใหม่ในต่างแดน ดังการให้สัมภาษณ์กับ The Athletic ของ ยาสเซอร์ อัลไมซ์ฮาล (Yasser Almisehal) ประธานสหพันธ์ฟุตบอลซาอุดีอาระเบีย (SAFF)
“เหตุผลหลักที่ไม่มีผู้เล่นของซาอุดีอาระเบียไปเล่นในต่างแดนก็เพราะผู้เล่นที่ดีที่สุดของที่นี่ได้รับข้อเสนอที่น่าดึงดูดใจมาก ๆ จากสโมสรในซาอุดีอาระเบียเอง มีการต่อสู้และการแข่งขันอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสัญญาของพวกเขากำลังจะหมดลง ดังนั้นพวกเขาจึงได้รับข้อเสนอใหม่ (จากทั้งทีมเดิมและทีมอื่น ๆ) ที่สูงกว่าที่เคยได้รับมา”
ทั้งหมดจึงนำมาซึ่งการยืนหยัดที่จะใช้โมเดล สร้างเอง ใช้เอง เพิ่มเติมด้วยการดึงดาวดังระดับลีกอาชีพยุโรปมาเติมเต็มต่อไปของ ซาอุดี โปร ลีก จนกลายเป็นที่ฮือฮาดังเช่นทุกวันนี้
เจลีก กับการปั้นและส่งออกนักเตะสู่เวทียุโรป
ฟากฝั่งฟุตบอลลีกอาชีพของญี่ปุ่นนั้นให้ภาพที่ต่างไปแบบชัดเจน นั่นคือการส่งออกนักเตะในประเทศไปโลดแล่นในลีกยุโรป ไม่ว่าจะลีกระดับท็อป 5 ของทวีป หรือแม้แต่ลีกรองลงมา และที่น่าสนใจคือโมเดลการปั้นและเอ็กซ์พอร์ตนักเตะไปต่างแดนนั้นเป็นแนวทางที่ญี่ปุ่นทำมาเป็นเวลาเกินทศวรรษเข้าไปแล้ว
การให้ความสำคัญตั้งแต่ระดับรากหญ้า ความใส่ใจที่วงการฟุตบอลแดนซามูไรให้ความสำคัญเริ่มตั้งแต่การพัฒนาในระดับเยาวชน ที่สุดแล้วการพัฒนาตั้งแต่ระดับดังกล่าว ทำให้การพัฒนาเยาวชนของญี่ปุ่นขึ้นชื่อในเรื่องการผลิตนักเตะป้อนสู่สารบบฟุตบอลประเทศอย่างไม่ขาดสาย
ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัด สโมสรอาชีพในเจลีกต่างก็มีเครือข่ายอคาเดมี่ผ่านสถาบันการศึกษาไล่มาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา มหาวิทยาลัย รวมถึงเครือข่ายสถาบันการศึกษาในระดับเอกชน แน่นอนว่าหากนักเตะคนใดเล่นได้เข้าตา ฝีเท้าถึง ไม่นานก็จะเข้าสู่สารบบเจลีก ตามมาด้วยประตูสู่ยุโรปในอนาคต
การให้ความสำคัญกับฟุตบอลเยาวชนยังรวมถึงทัวร์นาเมนต์อันศักดิ์สิทธิ์อย่างการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์มัธยมปลาย ที่เปี่ยมไปด้วยมนต์ขลังชนิดที่นักเตะทีมชาติหลาย ๆ คนก็เคยผ่านเวทีนี้ ซ้ำยังมีแมวมองทีมเจลีกให้การจับตาอยู่เสมอ
ทำให้รายการแข่งขันดังกล่าว นับเป็นแรงบันดาลใจชั้นดีให้เยาวชนรุ่นหลังอยากลงแข่งอย่างยากจะปฏิเสธ แถมแฟน ๆ ในสนามก็เยอะไม่แพ้เกมฟุตบอลอาชีพ หรือแม้แต่เยาวชนที่เลือกเรียนในระดับปริญญาตรีผ่านมหาวิทยาลัยก่อน ที่สุดแล้วเมื่อสำเร็จการศึกษามา ก็มีจำนวนไม่น้อยที่เข้าสู่สารบบฟุตบอลเจลีกได้เช่นกัน
“ประเทศในเอเชียจำนวนมาก โดยเฉพาะประเทศที่มีศักยภาพด้านฟุตบอลเป็นอันดับต้น ๆ มันจะให้ความสำคัญกับระบบฟุตบอลอาชีพเป็นสำคัญ ให้ความสำคัญเหนือกว่าระดับรากหญ้า โดยที่ไม่ได้เข้าใจว่าภาคส่วนหลังก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งเจลีกทำได้ดีกว่าลีกอื่น ๆ ในเอเชีย” ซาซี คุมาร์ นักการตลาดกีฬา กล่าวผ่าน Nikei Asia
“จากนั้นพวกเขาก็มีนักเตะอย่าง ชินจิ โอโนะ และ ชุนสุเกะ นากามูระ ที่ไปเล่นยุโรป” เอ็ดดี้ บอสนาร์ อดีตแข้งชาวออสเตรเลียที่เคยเล่นในเจลีก อธิบายเสริม “ตอนนี้ผู้เล่นญี่ปุ่นจำนวนมากไปเล่นในลีกระดับท็อปตั้งแต่อายุยังน้อย คนญี่ปุ่นเลือกจะปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสิ่งที่ดีที่สุด และผู้เล่นหลายคนก็ยอมลดค่าจ้างเพื่อไปเล่นลีกชั้นนำของยุโรป”
“เรื่องนอกสนามก็ด้วยนะ ทุกอย่างมันน่าทึ่งมาก สิ่งอำนวยความสะดวกในการซ้อมก็สุดยอดมาก มีแค่ลีกยุโรปเท่านั้นละที่เอามาเปรียบเทียบกับที่นี่ได้ มันให้ภาพเหมือนรถไฟชินคันเซ็นเลย ทุกอย่างตรงเวลาและสมบูรณ์แบบสุด ๆ” อดีตกองหลังของ เจฟฟ์ ยูไนเต็ด จิบะ และ ชิมิสุ เอส-พัลส์ ว่าต่อ
จากข้อมูลบนเว็บไซต์ทางการของเจลีก ในซัมเมอร์ปี 2023 ระบุว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เจลีกปั้นนักเตะในประเทศและส่งออกสู่ระดับฟุตบอลยุโรปมากกว่า 75 คน ดังตัวอย่าง วาตารุ เอนโด และ คาโอรุ มิโตมะ ที่กลายมาเป็นแกนหลักของทั้ง ลิเวอร์พูล และ ไบรท์ตัน ในพรีเมียร์ลีก ตามลำดับ, ทาเคฟุสะ คุโบะ ของ เรอัล โซเซียดาด ตลอดจน ทาคุมิ มินามิโนะ แนวรุกคนปัจจุบันของ อาแอส โมนาโก ฯลฯ
ผลสืบเนื่องของแนวทางดังกล่าว ส่งผลดีต่อทีมชาติอย่างยากจะบอกปัด เมื่อทีมชาติญี่ปุ่นยุคปัจจุบันกลายเป็นทีมที่น่าจับตามองในระดับโลก คะแนนแรงกิ้งโลกพุ่งไปถึงที่ 17 พวกเขาเคยเอาชนะทีมชาติเยอรมนีสองเกมติดกัน เช่นเดียวกับการเอาชนะทีมชาติสเปนได้
ยังไม่นับการประกาศเปลี่ยนปฏิทินการแข่งขันใหม่เพื่อเอื้อกับตลาดนักเตะยุโรป โดยจะเกิดขึ้นในฤดูกาล 2026/27 นี้ด้วยอีกทางหนึ่ง
ทั้งหมดคือภาพตัวอย่างที่ชัดเจนว่า การใช้กลไกปั้นนักเตะในประเทศตั้งแต่เยาวชน แล้วส่งออกสู่ฟุตบอลอาชีพที่ยุโรปมาอย่างยาวนานของเจลีก มีผลอย่างยิ่งต่อการผลิตซูเปอร์สตาร์เลือดซามูไรขึ้นมาประดับวงการฟุตบอลในประเทศ และในระดับโลก
แล้วแบบไหนสำเร็จมากกว่ากัน ?
จริงอยู่ที่โมเดลการปั้นนักเตะญี่ปุ่นไปยุโรปของเจลีก กำลังได้รับการจับตามองเป็นวงกว้าง และให้ภาพของความสำเร็จมากกว่าล้มเหลวในตอนนี้ สืบเนื่องจากผลงานของทีมชาติญี่ปุ่นในช่วงหลัง นับแต่ทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลก 2022 เรื่อยมา
ขณะเดียวกัน กับโมเดลที่ ซาอุดี โปร ลีก ใช้ ยังไม่ได้ให้ภาพความสำเร็จแบบยั่งยืนเหมือนโมเดลของเจลีก ด้วยเหตุผลหลายประการ เมื่อผลงานของทีมชาติซาอุดีอาระเบียยังไม่เปรี้ยงเท่าญี่ปุ่น
เช่นเดียวกับการออกมาให้สัมภาษณ์ของ โรแบร์โต้ มันชินี่ กุนซือคนปัจจุบันของทีมเหยี่ยวมรกตในระหว่างทำทีมลุย เอเชียน คัพ 2023 ที่ชี้ว่าการดึงแข้งเกรดท็อปยุโรปมาโลดแล่น ทำให้นักเตะสัญชาติซาอุฯ แท้ ๆ ต้องตกมาเป็นตัวสำรอง
นั่นจึงให้ภาพว่าโมเดลการดึงสตาร์มาเล่นในลีกเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ลีก รวมถึงให้นักเตะชาวซาอุฯ ได้พัฒนาฝีเท้าของตัวเองมากที่สุด อาจจะยังไม่ได้ให้ภาพความสำเร็จเหมือนโมเดลเจลีก
อย่างไรก็ดี ใช่ว่าโมเดลดังกล่าวจะดูล้มเหลวในตอนนี้ เพราะมีบทสัมภาษณ์ที่ระบุเช่นกันว่าลีกอาชีพสูงสุดของซาอุดีอาระเบียกำลังพัฒนา และกำลังเติบโตไปในทางที่ดี ดังส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์จากซูเปอร์สตาร์ชื่อดัง คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ที่เปิดใจหลังอยู่ลงเล่นที่นี่ครบหนึ่งปี
“ผมเล่นที่นั่น (ลีกซาอุดีอาระเบีย) มา 1 ปีแล้ว ดังนั้นผมรู้ดีว่าผมกำลังพูดถึงอะไร ผมคิดว่าตอนนี้ลีกซาอุดีอาระเบีย ดีกว่าลีกฝรั่งเศสไปแล้ว และยังคงพัฒนาอยู่เรื่อย ๆ”
1
และต้องไม่ลืมว่านี่เป็นเพียงแค่ปฐมบทแรกของโปรเจ็คต์ใหญ่ของประเทศอย่าง Vision 2030 ยังเหลือเวลาอีกหลายปีเพื่อเดินไปให้ถึง แน่นอนว่าทางการของซาอุฯ เอง ก็คงไม่ล้มแพลนนี้ในเร็ววัน
ด้วยเหตุนี้ ไม่แน่ว่าอนาคต เราอาจกล่าวได้เต็มปากเช่นกันว่า โมเดลดึงนักเตะฝีเท้าระดับโลกเข้ามาของที่นี่ ก็อาจจะประสบความสำเร็จได้เช่นกัน
บทความโดย : พชรพล เกตุจินากูล
แหล่งอ้างอิง
https://theathletic.com/3669114/2022/11/22/world-cup-saudi-arabia/
https://en.wikipedia.org/wiki/2023_AFC_Asian_Cup_squads
https://www.jleague.co/news/j-league-transfers-europe-kaoru-mitoma/
https://www.japantimes.co.jp/sports/2023/10/19/soccer/j-league/jleague-season-start-august/
https://asia.nikkei.com/Spotlight/Sports/J.-League-gains-global-acclaim-by-fostering-grassroots-soccer-culture
https://sports.yahoo.com/mancini-laments-lack-games-players-113328013.html
4 บันทึก
8
4
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย