22 ก.พ. เวลา 17:10 • ประวัติศาสตร์

จากทายาทแห่งสุริยเทพ สู่สัญลักษณ์ของชาติ

ราชวงศ์ยามาโตะ เป็นราชวงศ์เก่าแก่ที่สืบสายครองราชย์มาอย่างต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลก โดยไม่มีกลุ่มอำนาจใดสามารถล้มล้างจักรพรรดิได้ แม้อำนาจในการปกครองจะตกอยู่กับกลุ่มอำนาจอื่น แต่จักรพรรดิก็ยังคงดำรงอยู่ในฐานะสัญลักษณ์ของประเทศ
ความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้บทบาทของจักรพรรดิกลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศในฐานะมนุษย์ ไม่ใช่สมมุติเทพดังเดิม หลักสำคัญของจักรพรรดิในปัจจุบันคือ การอยู่เคียงข้างประชาชน ถึงแม้จะมีกลุ่มประชาชนที่ต่อต้านการดำรงอยู่ของจักรพรรดิ แต่ก็ทรงได้รับความรักจากประชาชนอีกจำนวนมากเช่นกัน
เมื่อครั้งโบราณกาล สถาบันจักรพรรดิสร้างความชอบธรรมโดยอิงพลังของเทพเจ้าซึ่งถือว่าเป็นต้นสายของตระกูลจักรพรรดิ อันที่จริง ความเชื่อเรื่องเจ้าป่าเจ้าเขาในธรรมชาติมีมานานแล้ว ขณะที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แถบลาวและบางส่วนของไทย ความเชื่อแบบนั้นพัฒนาเป็นศาสนาผี แต่ที่ญี่ปุ่นพัฒนาเป็น “ศาสนาชินโต” ซึ่งให้เกียรติผีโดยให้ดีขึ้นว่า “เทพ” ความเชื่อเป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วไป
คนที่รู้จักนำความเชื่อมาชูและใช้และบอกเล่าซ้ำ ๆ เป็นคนแรก ๆ มักกลายเป็นผู้นำในสังคม จุดเริ่มต้นของสถาบันจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นก็เข้าข่ายนั้น
ญี่ปุ่นทำเรื่องนี้สำเร็จเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเมื่อมีอารยธรรมตัวอักษรจีนเข้ามา การสร้างประวัติศาสตร์แห่งความศักดิ์สิทธิ์ได้รับการตอกย้ำเป็นรูปธรรม สถานะของจักรพรรดิกับศาสนาชินโตที่นับถือเทพเจ้าจึงสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดทั้งในแนวคิดและในตัวอักษร ยังผลให้พิธีต่าง ๆ ของราชสำนักญี่ปุ่นจัดขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าตามขนบที่มีมาแต่โบราณจนถึงทุกวันนี้
แต่เนื่องจากบางส่วนหรือหลายส่วนเป็นสิ่งที่ ‘ถูกสร้าง’ บางอย่างจึงยืนยันไม่ได้ อย่างเช่น ตำนานระบุว่าจักรพรรดิองค์แรกของญี่ปุ่นคือจักรพรรดิจิมมุ สืบสายจากหลานของสุริยเทวี ทรงเป็นจักรพรรดิอยู่ในช่วงประมาณ 660 – 585 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งปราศจากหลักฐานใดมายืนยัน ถึงแม้ฟังดูเหลือเชื่อ แต่เนื่องจากมีพระนามปรากฏในบันทึกใน “โคจิกิ” กับ “นิฮงโชกิ” ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ยุคแรกของญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นจึงมักนับให้เป็นจักรพรรดิรัชกาลแรก รวมทั้งในข้อมูลที่สำนักพระราชวังนำออกเผยแพร่ในปัจจุบันด้วย
อย่างไรก็ตาม หลักฐานเกี่ยวกับจักรพรรดิญี่ปุ่นในยุคแรกมีไม่มาก นักประวัติศาสตร์จึงมีความเห็นว่าอย่างน้อยเก้ารัชกาลแรกคงเป็นเพียงจักรพรรดิในตำนานเท่านั้น
ในระยะแรก คำที่หมายถึง “จักรพรรดิ” นั้น ภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ใช้คำว่า “เท็นโน” (天皇;Tennō) อย่างในปัจจุบัน แต่ใช้คำว่า “โอกิมิ” (大王;Ōkimi) แปลตามตัวอักษรได้ว่า “มหาราชา” หรือ “พระมหากษัตริย์” พอเทียบกับคำว่า “จักรพรรดิจีน” หรือ “ฮ่องเต้” หรือ “โคเต” (皇帝;Kōtei) ตามเสียงญี่ปุ่นแล้ว ถือว่ามีศักดิ์ต่ำกว่า
ต่อมาในช่วงราชวงศ์สุยและถังของจีน ญี่ปุ่นก็เปลี่ยนคำเรียกประมุขจาก “โอกิมิ” มาเป็น “เท็นโน” (ฟ้า/สวรรค์ + ผู้มีอำนาจสูงสุด/ยิ่งใหญ่) ให้เทียบเท่ากับฮ่องเต้ของจีน และนำระบอบจีนที่ใช้กฎหมายอาญาและกฎหมายปกครองในการบริหารประเทศโดยมีจักรพรรดิเป็นศูนย์กลางมาใช้ ช่วงนี้จักรพรรดิญี่ปุ่นจึงเป็น จักรพรรดิผู้มีอำนาจเต็มที่และได้รับการเทิดทูนในฐานะเทพ
พอระบบขยายตัวขึ้นพร้อมกับเวลาที่ผ่านไปจนมาถึงสมัยเฮอัน (794-1185) ผู้คนแวดล้อมจักรพรรดิย่อมมากขึ้นเป็นธรรมดา ประกอบกับปัจจัยทางการเมือง ทำให้ขุนนางมีพลังอำนาจมากขึ้น ในยุคนี้ตระกูลฟูจิวาระมีอิทธิพลอย่างสูงและนำไปสู่ “การเมืองโดยผู้แทนพระองค์” เหล่าขุนนางและผู้แทนพระองค์มีอำนาจในการบริหารบ้านเมือง จักรพรรดิถูกลดบทบาททางการเมือง ลง และกลายเป็นว่าจักรพรรดิองค์ก่อนซึ่งสละราชสมบัติไปแล้วหรือออกบวชก็กลายเป็นผู้มีอำนาจอยู่เบื้องหลังด้วย
จากช่วงปลายสมัยเฮอัน เข้าสู่คามากูระ-มูโรมาจิ ชนชั้นนักรบหรือ “ซามูไร” มีอิทธิพลมากขึ้นและเป็นผู้ใช้อำนาจในนามของจักรพรรดิ ตำแหน่งสำคัญสูงสุดอย่าง “อัครมหาเสนาบดี” ซึ่งเดิมจักรพรรดิทรงแต่งตั้งให้เชื้อพระวงศ์รับหน้าที่ก็ตกเป็นของขุนนาง ฮิเดโยชิ โทโยโตมิ ซามูไรคนสำคัญในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นก็ได้รับตำแหน่งนี้ด้วย สถาบันจักรพรรดิอยู่ในช่วงที่กล่าวได้ว่าเป็นยุคซามูไรครองเมือง
จนกระทั่งในสมัยเอโดะ (1611-1863) รัฐบาลทหารตระกูลโทกุงาวะได้ขึ้นมามีอำนาจสูงสุดในการควบคุมและปกครองทุกระดับ ตั้งแต่จักรพรรดิในราชสำนักไปจนถึงชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป เนื่องจากโชกุนโทกุงาวะ อิเอยาซุ ได้ทำสงครามชนะดินแดนต่างๆ จนรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางได้ตั้งแต่ในปี 1600 แล้วได้รับการแต่งตั้งจากจักรพรรดิให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดในปี 1603
โชกุนโทกุงาวะ อิเอยาซุ ได้ทำการควบรวมอำนาจโดยใช้ระบบการปกครองที่เรียกว่า ‘บากุฮัน’ เป็นการปกครองแบบกึ่งรวมกึ่งกระจายอำนาจ โดยมีโครงสร้างคือจักรพรรดิดำรงอยู่ในตำแหน่งประมุข โชกุนเป็นผู้มีอำนาจปกครองสูงสุดอยู่ที่ส่วนกลาง และมีไดเมียวเป็นขุนนางที่มีอำนาจสูงสุดในแต่ละแคว้นต่างๆ อยู่ภายใต้อำนาจของโชกุนอีกที
โชกุนจำกัดพระราชอำนาจของจักรพรรดิโดยการยึดที่ดิน จำกัดการใช้จ่ายภายในราชสำนัก และออกกฎควบคุมให้จักรพรรดิเป็นเพียงผู้นำทางศาสนาเท่านั้น ไม่มีอำนาจใดๆ ในการปกครองประเทศ เอโดะกลายเป็นสมัยที่ประเทศปราศจากสงครามเป็นเวลาถึง 265 ปี
แต่แล้วก็เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากซามูไรผู้ยังจงรักภักดีต่อระบอบกษัตริย์ และนักศึกษาลัทธิชินโตที่ได้ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับจักรพรรดิในสมัยโบราณและพยายามฟื้นฟูสถานะของจักรพรรดิขึ้นมา ด้วยการฟื้นฟูราชพิธีในราชสำนักเพื่อให้จักรพรรดิในฐานะผู้นำพิธีกรรมตามหลักศาสนาชินโตมีความเป็นรูปธรรมชัดเจน อีกทั้งมีความพยายามในการส่งเสริมการศึกษาให้กับลูกหลานราชนิกุลและขุนนาง เพื่อให้เกิดแนวร่วมเชิดชูจักรพรรดิมากยิ่งขึ้น รวมถึงทำให้เกิดลัทธิต่อต้านชาวต่างชาติอีกด้วย
ชนชั้นนักรบได้เสื่อมอำนาจลงตั้งแต่ปลายสมัยเอโดะ ในขณะที่ชนชั้นพ่อค้าขึ้นมามีอำนาจแทนในสมัยเมจิ (1868-1912) เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจจากการปฏิรูปประเทศในสมัยเมจิ ญี่ปุ่นถูกชาติตะวันตกบีบบังคับให้เปิดประเทศ เมื่อมีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเข้ามา ระบบศักดินาจึงค่อยๆ เสื่อมสลายไป
ทว่าองค์จักรพรรดิกลับมาเรืองอำนาจอีกครั้ง และเป็นประมุขของประเทศตามแบบตะวันตก รัฐบาลเมจิพยายามฟื้นฟูอำนาจของจักรพรรดิในฐานะผู้นำทางทหารผ่านการสอดแทรกในแบบเรียน ประกาศกฎหมายให้เคารพเชิดชูจักรพรรดิและศาสนาชินโต การสร้างชาติในสมัยเมจิจึงถือเป็นการสร้างชาติในสมัยใหม่ โดยอาศัยกฎหมายตามรัฐธรรมนูญที่ทำให้จักรพรรดิมีอำนาจมั่นคงยิ่งกว่าในอดีตที่ผ่านมา
ในยุคสมัยโชวะ (1901-1989) เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อทั้งสถานะของจักรพรรดิและสังคมญี่ปุ่น ด้วยอิทธิพลของรัฐบาลทหารมีส่วนทำให้จักรพรรดิฮิโรฮิโตะตัดสินใจนำพาประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1940 หลังจากที่กลายเป็นมหาอำนาจในดินแดนเอเชียบูรพาได้ไม่นาน ญี่ปุ่นก็เปิดฉากสงครามกับสหรัฐอเมริกาด้วยการโจมตีฐานทัพกองเรือแปซิฟิก ณ ท่าเรือเพิร์ล ฮาร์เบอร์ บนหมู่เกาะฮาวาย เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1941
1
ถึงแม้ทหารระดับนายพลจะเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งการเข้ายึดครองและโจมตีประเทศต่างๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากการประกาศสงครามล้วนอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบในนามของจักรพรรดิ ต่อมาเมื่อสถานการณ์ไม่สู้ดีและเห็นว่าหากดึงดันทำสงครามยืดเยื้อต่อไปจะไม่เกิดผลดี องค์จักรพรรดิจึงประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ในที่สุด ด้วยถ้อยคำที่ค่อนข้างคลุมเครือต่อการตีความผ่านวิทยุกระจายเสียง อาทิ “สถานการณ์สงครามไม่ได้พัฒนาเพื่อผลประโยชน์ของเราเสมอไป” ขอให้ประชาชน “อดทนอดกลั้นต่อสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้”
นายพลแมคอาเธอร์ ผู้บัญชาการสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตร เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปประเทศญี่ปุ่นให้เป็นประเทศประชาธิปไตย อีกทั้งยังทำให้สมเด็จพระจักรพรรดิโชวะ หรือ จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะอาชญากรสงคราม ในขณะที่อังกฤษ รัสเซีย และประเทศสัมพันธมิตรอื่นๆ เห็นว่าจักรพรรดิควรถูกสอบสวน
แต่นายพลแมคอาเธอร์มองว่าการจะทำให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นประชาธิปไตยได้อย่างราบรื่น จำเป็นต้องรักษาองค์จักรพรรดิที่เปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจของประชาชนไว้ หากลงโทษจักรพรรดิในฐานะอาชญากรสงครามอาจทำให้เกิดความวุ่นวายจากการแก้แค้นและจะไม่อาจนำมาสู่สันติภาพในประเทศนี้ได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้สถาบันจักรพรรดิจึงคงอยู่ในฐานะประมุขของรัฐ แต่ยังคงมีการลงโทษผู้เกี่ยวข้องที่มีส่วนสนับสนุนให้เกิดสงคราม รวมถึงยุติกิจการต่างๆ ทางการทหารทั้งหมด
ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1946 พระบรมราชโองการที่สำคัญของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ถูกถ่ายทอดผ่านทางวิทยุกระจายเสียงเพื่อให้ประชาชนรับรู้ร่วมกันว่า องค์จักรพรรดิทรงเป็นมนุษย์ธรรมดา ไม่ใช่สมมุติเทพดังที่เคยเข้าใจกันมา และหลังจากนั้นก็ทรงตอกย้ำพระราชดำรัสด้วยการเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อพบปะกับประชาชนในฐานะคนธรรมดาที่สวมใส่เสื้อผ้าแบบธรรมดาไม่ต่างจากคนทั่วไป
รัฐธรรมนูญโชวะ หรือรัฐธรรมนูญสันติภาพ จึงเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เกิดขึ้นหลังสงคราม โดยชำระใหม่จากรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เกิดขึ้นในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองยุคเมจิ รัฐธรรมนูญสันติภาพนี้มีมาตรา 1 ที่ระบุสาระสำคัญเกี่ยวกับสถานะของจักรพรรดิไว้ว่า “สมเด็จพระจักรพรรดิทรงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับประชาชน พระองค์ทรงมีฐานะเช่นนั้นด้วยเจตนารมณ์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย” ซึ่งผ่านรัฐสภาในเดือนตุลาคม 1946 แล้วประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 1947 เป็นต้นมา
นอกจากนี้ การยุบสถาบันทางศาสนาก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สถานะของจักรพรรดิใกล้เคียงความเป็นคนธรรมดามากยิ่งขึ้น เนื่องจากชาติตะวันตกเข้าใจว่าแนวคิดของศาสนาทำให้เกิดความเชื่อผิดๆ ว่าชนชาติญี่ปุ่นเป็นลูกหลานเทพเจ้า มีความสูงส่งเหนือชนชาติอื่น และจักรพรรดิเป็นผู้ปกครองสูงสุด จึงมีสิทธิชอบธรรมที่จะปกครองชาติอื่นๆ ภายใต้การปฏิรูปด้านศาสนาโดยผู้บัญชาการฝ่ายสัมพันธมิตร
ได้มีคำสั่งยุติการสนับสนุนลัทธิชินโต ยกเลิกศาสนาชินโตจากการเป็นศาสนาประจำชาติ ยกเลิกการสอนศาสนาในสถาบันการศึกษา ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับลัทธิชินโตแยกขาดจากกัน
ในการร่างรัฐธรรมนูญ ผู้มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ นายกรัฐมนตรีซึเดฮาระ, พลเอกคอทนีย์ วิทนีย์, พันเอกชาร์ลส์ แอล เคตส์, พันโทมิโล อี. โรเวล และผู้บัญชาการอัลเฟรด อาร์ ฮัสชี ซึ่งร่างโดยคำนึงถึงหลักพื้นฐานที่ว่าต้องดำรงสถาบันจักรพรรดิต่อไปโดยให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย และญี่ปุ่นต้องไม่นำพาประเทศเข้าสู่สงครามในอนาคต
นอกจากการอยู่เหนือการเมือง หรือพูดอย่างตรงไปตรงมาคือห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมืองแล้ว เสรีภาพก็ถูกจำกัดอยู่ไม่น้อย รวมทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายด้วย ปัจจุบันทรัพย์สินที่จะใช้กับสถาบันจักรพรรดิแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก
ส่วนแรกคือ ค่าใช้จ่ายสำหรับราชวงศ์ ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์ (324 ล้านเยนในปีงบประมาณ 2560 เป็นต้น) ค่าใช้จ่ายสำหรับพระบรมวงศนุวงศ์ และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับวัง ส่วนที่สอง คือค่าใช้จ่ายสำนักพระราชวัง (11,470 ล้านเยนในปีงบประมาณ 2560) ทั้งหมดนี้มีกฎหมายกำกับ มิใช่การบริหารโดยพระราชประสงค์ และเมื่อมีประเด็นใดที่เกี่ยวข้องกับสถาบันนี้
ผู้ที่จะเป็นคนคิดแทนคือคณะรัฐมนตรีกับผู้เชี่ยวชาญ อย่างการสละราชสมบัติก็เช่นกัน สมเด็จพระจักรพรรดิทรงไม่สามารถดำเนินการได้โดยอิสระ สิ่งที่พระองค์ทรงทำได้คือ การแสดงพระราชประสงค์เท่านั้น ส่วนผู้ที่ตัดสินอย่างเป็นทางการคือรัฐบาล ซึ่งต้องออกกฎหมายและเตรียมการต่าง ๆ นานาดังที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับสถาบันจักรพรรดิตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
เจ้าชายสึงุ ซึ่งต่อมาคือเจ้าชายอากิฮิโตะ พระราชโอรสองค์โตของจักรพรรดิโชวะกับจักรพรรดินีโคจุง เป็นเจ้าชายที่เติบโตมาพร้อมกับสถาบันจักรพรรดิที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศและตัวแทนแห่งสันติภาพ ในช่วงทศวรรษ 1950 พระองค์ได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นอย่างมาก
เนื่องจากมีภาพลักษณ์ในสื่อเป็นคนหนุ่มที่สดใส และถูกคาดหวังว่าจะเป็นผู้ที่นำพาสาธารณชนไปสู่อนาคตที่ดียิ่งขึ้น ต่อมาว่าที่จักรพรรดิรุ่นใหม่ก็ได้กลายเป็นกระแสในสังคมมากยิ่งขึ้น จากการแต่งงานกับหญิงสามัญชนครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น โชดะ มิชิโกะ ในปี 1958
การแต่งงานครั้งนั้นทำให้เกิดกระแสที่เรียกว่า ‘มิชิโกะบูม’ (Mitchi Boom) ซึ่งตอกย้ำให้เห็นว่าสถาบันจักรพรรดิปรับตัวเข้าสู่สมัยใหม่ ทำให้ประชาชนรู้สึกใกล้ชิดกับสถาบันมากยิ่งขึ้น ผ่านเรื่องราวสุดแสนโรแมนติกที่ว่าการแต่งงานครั้งนี้เกิดขึ้นจากความรักของทั้งสองฝ่าย ทั้งสองพบรักกันที่สนามเทนนิส มีอุปสรรคมากมายขวางกั้น เพราะถึงแม้มิชิโกะจะมาจากครอบครัวที่ร่ำรวย แต่ด้วยเชื้อสายสามัญชนและความเป็นคริสเตียนนิกายโรมันคาทอลิก จึงต้องเผชิญกับการต่อต้านของจักรพรรดินีโคจุงและข้าราชสำนักหัวเก่าอย่างหนัก
เรื่องราวของทั้งสองถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางท่ามกลางการเติบโตของสื่อสมัยใหม่ มีการถ่ายทอดสดพระราชพิธีอภิเษกสมรสออกอากาศทั่วประเทศ ประชาชนหลายแสนคนออกมาร่วมแสดงความยินดีเนืองแน่นทั้งสองฝั่งถนน และกระแสดังกล่าวก็ค่อยๆ ลดความนิยมลงตามกาลเวลา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแต่งงานระหว่างเจ้าชายอากิฮิโตะกับเจ้าหญิงสามัญชนมิชิโกะมีส่วนสำคัญที่ช่วยปลดล็อคทางความคิดให้คนรุ่นต่อมาเลือกที่จะรักษาสัญลักษณ์ของประเทศอันเต็มไปด้วยความหมายนี้ต่อไป
สิ่งที่เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งยุคประชาธิปไตยเลือกทำคือ การมีส่วนร่วมในการบรรเทาทุกข์ให้กับกลุ่มเปราะบางในสังคม ทั้งสองมีความกระตือรือร้นในการเยี่ยมเยียนประชาชนตามสถานสงเคราะห์ต่างๆ แม้หลังจากเจ้าชายขึ้นครองราชย์กลายเป็นจักรพรรดิอากิฮิโตะใน ค.ศ. 1989 ก็ยังคงถือเป็นพระราชกรณียกิจที่กระทำอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นต้นแบบด้านภาพลักษณ์ในอุดมคติของจักรพรรดิสมัยใหม่ตามแนวคิดที่ว่า ‘จักรพรรดิควรร่วมแบ่งปันทุกข์สุขกับประชาชน’ ให้กับจักรพรรดิองค์ต่อๆ ไป
ตลอดรัชสมัยที่เรียกว่า ยุคเฮเซ (1989-2019) ประชาชนประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง จักรพรรดิและจักรพรรดินีได้พยายามมีส่วนร่วมโดยการเยี่ยมเยียนประชาชนอย่างต่อเนื่องตลอดการครองราชย์ 30 ปี จนกระทั่งจักรพรรดิอากิฮิโตะได้ประกาศสละราชสมบัติอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 เมษายน 2019 ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพและวัยชราซึ่งจะส่งผลต่อการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ โดยมีพระราชดำรัสไว้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2016 ว่า
“ข้าพเจ้าอายุ 80 ปีแล้ว และโชคดีที่ยังมีสุขภาพแข็งแรง เมื่อข้าพเจ้าพิจารณาถึงสุขภาพที่ค่อยๆ เสื่อมถอย ข้าพเจ้ากังวลว่าสิ่งนี้จะทำให้ข้าพเจ้าปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสัญลักษณ์ของประเทศอย่างเต็มที่ทั้งกายและใจดังเช่นที่เคยทำมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบันได้อย่างลำบาก”
ในสมัยโบราณจักรพรรดิมีธรรมเนียมการสละราชสมบัติเพื่อให้รัชทายาทครองราชย์ต่อโดยไม่ต้องครองราชย์จนสิ้นพระชนมายุ กระทั่งสมัยเอโดะก็ไม่มีธรรมเนียมการสละราชสมบัติอีกต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 200 ปี จักรพรรดิอากิฮิโตะจึงเป็นจักรพรรดิองค์แรกที่สละราชสมบัติในรอบ 2 ศตวรรษที่ผ่านมา
ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากไม่ว่ากับเรื่องใด ยิ่งเป็นระบอบที่ยืนยาวพันกว่าปีด้วยแล้วย่อมเลี่ยงไม่พ้น สถาบันจักรพรรดิของญี่ปุ่นผ่านความเปลี่ยนแปลงมาหลายระลอก ทั้งจักรพรรดิยุคตำนาน ยุคอำนาจตามพระราชประสงค์ ยุคขุนนางครองเมือง ยุคซามูไร ยุคทหารนิยม มาจนถึงยุคสัญลักษณ์สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนผ่านมากี่ยุคกี่สมัยก็กล่าวได้ว่าสถาบันนี้จะยังเป็นความภูมิใจของคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ต่อไปอีกนานแน่นอน
แหล่งที่มาและเรียบเรียง
โฆษณา