24 ก.พ. เวลา 11:31 • การศึกษา

เมื่อเจ้ามรดกตายทรัพย์มรดกตกทอดแก่ใครบ้าง

  • เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย กองมรดกซึ่งได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายที่มีอยู่”ก่อน”หรือ”ขณะ”ถึงแก่ความตาย ตลอดจนทั้งสิทธิและหน้าที่และความรับผิดต่างๆของผู้ตายย่อมตกทอดแก่ทายาท
การตายของเจ้ามรดกไม่ว่าเป็นการตายโดยธรรมชาติหรือการตายโดยผลของกฎหมาย(สาบสูญ) ทรัพย์มรดกย่อมตกทอดแก่ทายาท ซึ่งทายาทที่มีสิทธิรับมรดกมีอยู่ 2 ประเภท คือ ผู้รับพินัยกรรมและทายาทโดยธรรม
พินัยกรรม คือ การกำหนดการเผื่อตายของเจ้ามรดกประสงค์ที่ต้องการจะให้ทรัพย์มรดกนั้นแก่ใครบ้าง ดังนั้น หากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแต่เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมไว้ และพินัยกรรมนั้นถูกต้องสมบูรณ์ตามที่กฎหมายกำหนดทรัพย์มรดกนั้นย่อมตกแก่ผู้รับพินัยกรรมซึ่งเป็นไปตามพินัยกรรม หากเจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์มรดกนั้นย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม
ทายาทโดยธรรมมีอยู่ 6 ลำดับ แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลัง ดังนี้
1) ผู้สืบสันดาน
2) บิดา มารดา
3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
4) พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน
5) ปู่ ย่า ตา ยาย
6) ลุง ป้า น้า อา
ลำดับของทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกก่อนหลังนั้น หากทายาทลำดับที่ 1. มีชีวิตอยู่ ทายาทลำดับถัดลงไปก็ไม่มีสิทธิที่จะรับมรดก แต่มีข้อยกเว้นว่าหากมีทายาทลำดับที่ 1 มีชีวิตอยู่และทายาทลำดับที่ 2. ยังมีชีวิตอยู่ด้วย ทายาทลำดับที่ 2 มีสิทธิได้รับมรดกเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร หากไม่มีทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 และ 2 แต่มีลำดับที่ 3 ยังมีชีวิตอยู่ลำดับที่ 3 จึงมีสิทธิในการรับมรดกไป เป็นเช่นนี้ไปตามลำดับของทายาทโดยธรรม หากไม่มีทายาทโดยธรรมคนใดอยู่เลยทรัพย์มรดกจึงตกแก่แผ่นดิน
โฆษณา