26 ก.พ. เวลา 19:17 • สุขภาพ

วัยรุ่นกับมรสุมอารมณ์

คำว่า วัยรุ่น เปรียบเสมือนเรือใบที่ล่องลอยอยู่ในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล เต็มไปด้วยคลื่นลมและความท้าทายอย่างมากมายบนเส้นทางของการเติบโต พวกเขาต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม หนึ่งในอุปสรรคที่ยากลำบากของวัยรุ่นต้องเผชิญคือ สภาวะอารมณ์ที่ไม่คงที่ เปรียบเสมือนมรสุมที่ถาโถมเข้าใส่ สร้างความสับสนและความหวาดกลัว
ยูนิเซฟร่วมกับกรมสุขภาพจิต เผยผลประเมินข้อมูลจากเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีจำนวน 183,974 คนที่ประเมินสุขภาพจิตตนเองผ่านแอปพลิเคชัน Mental Health Check-in ของกรมสุขภาพจิต ในช่วง 18 เดือนของการระบาดของโควิด -19 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2564 พบว่าร้อยละ 28 ของเด็กและวัยรุ่นมีภาวะเครียดสูง ร้อยละ 32 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ในขณะที่อีก ร้อยละ 22 เข้าสังคมลดลง ติดจอและเกมออนไลน์มากขึ้น มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งและความรุนแรงในครอบครัว จนนำไปสู่อัตราเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย
ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กรมสุขภาพจิต บอกว่า เด็กและวัยรุ่น 10-19 ปีกว่า 10,000 คน ได้โทรเข้าสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อขอรับคำปรึกษา ปัญหาสุขภาพจิตสำหรับวัยรุ่นที่พบมากที่สุดคือความเครียด วิตกกังวล ปัญหาความรัก และภาวะซึมเศร้า (อ้างอิง:กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี)
จากการศึกษาย้อนหลังในผู้ป่วยจิตเวชและผู้มีปัญหาสุขภาพจิตพบว่า สภาวะอารมณ์ไม่คงที่เป็นสัญญาณเตือนที่เกิดขึ้นก่อนการเกิดปัญหาสุขภาพจิตหรือโรคจิตเวช เมื่ออารมณ์ที่แปรปรวนและบ่อยครั้งที่ไม่สามารถจัดการอารมณ์ได้ดีก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดปัญหาต่างต่างๆมากมาย ดังนั้น หากเขาวัยรุ่นรู้เท่าทันอารมณ์และสามารถจัดการอารมณ์ตนเองได้ จะทำให้พวกเขาสามารถรับมือกับปัญหาได้
แล้วสาเหตุที่ความรู้สึกและอารมณ์ไม่คงที่เกิดจากอะไรละ?
1.ความเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นจะมีอารมณ์ใหม่เกิดขึ้นหลายอารมณ์ เช่น เหงา เศร้า รัก สับสน หว่าเว้ อารมณ์เหล่านี้ส่งผลให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมส่วนตัวและพฤติกรรมทางสังคมที่สร้างความกังวลให้กับผู้ปกครอง เช่น ใจร้อน อดทนต่ำ อารมณ์รุนแรง อีกทั้งยังต้องการที่กว้างขวางจากกลุ่มเพื่อนและเพื่อนต่างเพศอีกด้วย
2. ความต้องการสร้างเอกลักษณ์และการยอมรับจากสังคม วัยรุ่นเป็นเป็นช่วงของการค้นหาตนเอง เป้าหมายในชีวิต ค้นหาอัตลักษณ์และสถานะตัวตนในสังคม ซึ่งต้องอาศัยทั้งความสามารถในการเรียนและการทำกิจกรรมต่างๆ
แบ่งได้สองประเภท คือ
(1) กิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น ด้านการกีฬา ศิลปะ ด้านความสามารถ เป็นต้น
(2) กิจกรรมเชิงลบ เช่น มั่วสุมเหล้ายา ทะเลาะเบาะแว้ง เป็นต้น ล้วนทำกิจกรรมเหล่านั้นเพื่อเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อนๆ
3. ความคาดหวัง วัยรุ่นเป็นช่วงที่สับสนเนื่องจากถูกคาดหวังจากสังคมรอบตัวหลายด้าน ทั้งต่อตนเองและครอบครัวที่คาดหวังให้พวกเขามีความรับผิดชอบอย่างจริงจังกลุ่มเพื่อนก็คาดหวังให้ร่วมทำกิจกรรมอย่างเหนียวแน่น และสังคมก็คาดหวังให้วัยรุ่นแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมให้มากขึ้น
4. มีพฤติกรรมทางสังคมเด่น ชัด ต้องการให้คนรอบข้างเห็นคุณค่าและยอมรับ วัยรุ่นจะคบเพื่อนที่เหมือนและแตกต่างจากตนเอง เพื่อเติมเต็มในส่วนที่ขาด โดยที่ไม่สามารถแยกแยะเพื่อนได้ว่าควรคบหรือไม่ควรคบ ที่สำคัญกลุ่มเพื่อมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของวัยรุ่นเป็นอย่างมาก จนนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้
สิ่งที่จะทำให้พวกเขาเปลี่ยนผ่านชีวิตช่วงวัยรุ่นที่ดี คือการได้รับความรักความภาคภูมิใจและการสอนวินัยเชิงบวกอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามในบางครั้งที่ไม่สามารถรับมือกับปัญหาในชีวิตก็ไม่ใช่ความผิดปกติอะไร หากเราสามารถรับรู้อารมณ์ตนเองและปรับเปลี่ยนก็จะเป็นผลดีต่อตัวเรา
คำแนะนำ 5 ข้อต่อไปนี้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
1.ยิ้มรับความจริงกับบางสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ ประเมินตัวเอง รู้จักปล่อยวางและยืดหยุ่นกับความคาดหวัง
2..สร้างความมั่นใจในตัวเอง ทำสิ่งใหม่ๆกิจกรรมที่ท้าทายพลังความคิดและพัฒนาความสามารถเพื่อช่วยสร้างความมั่นใจและตระหนักถึงคุณค่าตัวเอง
3.ไม่เก็บสะสมความเครียด เมื่อมีความเครียดหาช่องทางระบาย เช่น เขียนไดอารี่ พูดคุยกับไว้ใจและห่วงใย
4.เรียนรู้ทัศนคติเชิงบวกและสมาธิจดจ่อ ค่อยๆคิดแก้ไขไปทีละเรื่อง มองลองในแง่ดีบ้างแต่ไม่ใช่โลกสวย
5.ดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี รับประทานอาหารครบ5หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและพักผ่อนอย่างเพียงพอ ช่วยฟื้นฟูสุขภาพจิตและเสริมสร้างสุขภาพที่สมบูรณ์
ทั้งนี้ทั้งนั้น สภาวะอารมณ์ไม่คงที่ในวัยรุ่นเป็นเรื่องปกติ หากปล่อยไว้ไม่ใส่ใจ อาจส่งผลร้ายต่อพวกเขา นอกจากคำแนะนำเพื่อบรรเทาความตึงเครียดสภาวะอารมณ์ไม่คงที่ สิ่งสำคัญที่สุดคือความรักความเข้าใจไออุ่นของคนในครอบครัวให้ผ่านพ้นช่วงยากลำบากนี้ได้เช่นกัน
โฆษณา