29 ก.พ. 2024 เวลา 06:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เตือนประชานิยม 'ไทย-อินโดฯ' อันตราย ท้าทายหั่นอันดับเครดิตเรตติ้ง

สื่อนอกวิจารณ์นโยบายประชานิยม 2 ชาติเอเชีย "นมฟรีอินโดนีเซีย" กับ "ดิจิทัลวอลเล็ตไทย" จ่อฉุด “การคลังขาดดุลหนัก” ทั้งคู่ เสี่ยงถูกหั่นอันดับเครดิต โดยนักเศรษฐศาสตร์กังวลไทย “มากกว่า” อินโดฯ
เมื่อไม่นานนี้ สำนักข่าวเศรษฐกิจชื่อดังอย่าง “Bloomberg” มองว่า “นโยบายดิจิทัล 10,000 บาท” ของไทยกับ “อาหารกลางวันฟรี” ของอินโดนีเซีย ส่อเพิ่มความเสี่ยงต่ออันดับความน่าเชื่อถือด้านการลงทุน
ในอินโดนีเซีย ปราโบโว ซูเบียนโต ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศเตรียมแจกอาหารและนมฟรีให้เด็กในโรงเรียนมากกว่า 80 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งโครงการดังกล่าวคาดว่าใช้งบประมาณราว 120 ล้านล้านรูเปียห์ในช่วงปีแรก ก่อนที่งบประมาณนี้อาจเพิ่มขึ้นเป็น 450 ล้านล้านรูเปียห์ภายในปี 2572
ด้วยงบประมาณที่ขยายเช่นนี้ จึงมีแนวโน้มจะทำให้เกิด “ภาวะขาดดุลงบประมาณ” สูงขึ้นเป็น 2.8% ของ GDP ในปี 2568 จากระดับ 2.29% ที่คาดการณ์ไว้ในปีนี้
ขณะในไทย นโยบายดิจิทัล 10,000 บาท ต้องใช้เงินราว 5.6 แสนล้านบาทด้วย “เงินกู้” เป็นส่วนใหญ่
ยูเบน พาราคิวเลส (Euben Paracuelles) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์อาเซียนจากโนมูระ ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องท้าทายที่รัฐบาลทั้งสองจะยอมถอยจากนโยบายแนวประชานิยม เพราะเป็นตัวชูโรงและสร้างกระแสเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งนโยบายเหล่านี้อาจสร้างการเติบโตในระยะชั่วคราว อันที่จริงแล้ว เงินควรถูกใช้ในสิ่งที่สร้างมูลค่าได้มากกว่าอย่างโครงสร้างพื้นฐาน
อีกปรากฏการณ์หนึ่ง คือ กองทุนทั่วโลกได้เทขายพันธบัตรรัฐบาลไทยและอินโดนีเซียรวมกว่า 928 ล้านดอลลาร์หรือราว 33,000 ล้านบาทในปีนี้
📌​นักเศรษฐศาสตร์กังวลไทย “มากกว่า” อินโดฯ
ทามารา มาสท์ เฮนเดอร์สัน (Tamara Mast Henderson) นักเศรษฐศาสตร์ประจำ Bloomberg ให้ความเห็นว่า “การแจกเงินดิจิทัลของไทยเป็นสิ่งที่น่ากังวลที่สุด เพราะเงินที่แจกมาจากการกู้ และช่วยกระตุ้นการเติบโตในระยะสั้น ไม่ได้ให้ผลผลิตในระยะยาวหรือให้ประโยชน์ทางโครงสร้างต่อเศรษฐกิจ”
เฮนเดอร์สัน กล่าวต่อว่า “สำหรับประธานาธิบดีปราโบโว นโยบายแจกอาหารฟรีอาจต้องรอดูรายละเอียดอีกครั้งถึงจะประเมินได้ แต่ในตอนนี้ยังคงน่ากังวลน้อยกว่าไทย” โดยเธอมองอินโดนีเซียว่า มีโอกาสเติบโตได้มากกว่า และมีภาระหนี้ต่ำกว่าไทย
#กรุงเทพธุรกิจ #กรุงเทพธุรกิจEconomic
โฆษณา