9 มี.ค. เวลา 05:30 • สัตว์เลี้ยง

หากเราได้เจอกันอีก…รู้จัก ‘สะพานสายรุ้ง’ ทางสู่ดินแดนความสุขของสัตว์เลี้ยง

ในความรักวัยผู้ใหญ่ เรามักจะสร้างความมั่นคงของความสัมพันธ์ด้วยการสร้างครอบครัวหรือการแต่งงาน มีลูกเต็มบ้าน มีหลานเต็มเมือง แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน การสร้างครอบครัวของคนสองคนจึงมีข้อจำกัดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คู่รักก็ยังคงต้องการความมั่นคงที่สามารถมองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมอยู่
โซ่ทองคล้องใจจึงเปลี่ยนจากลูกเล็กเป็น ‘สัตว์เลี้ยง’ ที่เป็นอีกหนึ่งสมาชิกสำคัญของครอบครัว และมักจะเป็นศูนย์รวมความรักของคนในครอบครัวด้วย ทว่าน่าเสียดายที่อายุขัยของสัตว์เลี้ยงนั้นน้อยกว่าคนหลายเท่า
ถ้านับเฉพาะการตายแบบธรรมชาติ คนจะมีอายุขัยเฉลี่ยประมาณ 70 ปี ในขณะที่หมาหรือแมวจะมีอายุขัยโดยเฉลี่ยเพียง 10-15 ปีเท่านั้น แม้ว่าสัตว์เลี้ยงอย่างหมาหรือแมวบางสายพันธ์ุอาจจะมีชีวิตที่ยืนยาวกว่าค่าเฉลี่ย แต่ก็ไม่ยืนยาวพอสำหรับมนุษย์คนหนึ่งอยู่ดี
ทุกครั้งที่สัตว์เลี้ยงซึ่งเป็นเหมือนดวงใจของเราตายไป จึงสามารถสร้างความเจ็บปวดรวดร้าวให้กับเราได้ไม่ต่างจากการสูญเสียบุคคลที่รักไปเลย ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าสัตว์เลี้ยงของเรามีอาการป่วย หรือโรคร้ายแรงติดตัวมาด้วย ความทรมานของน้องหมาหรือน้องแมวที่กินเวลาอยู่นานก็ยิ่งทำให้หัวใจของเราเจ็บได้มากขึ้นไปอีก
เพื่อปลดปล่อยตัวเองจากความทุกข์ เมื่อสัตว์เลี้ยงที่รักตายไป เราจึงมักได้ยินเรื่องราวของดาวหมา ดาวแมว และสะพานสายรุ้ง โดยเรื่องราวที่แสนจะน่ารักอย่างนี้อาจทำให้เราปลดพันธนาการความเศร้าออกไปจากใจ และอมยิ้มให้กับ ‘การเดินทาง’ ครั้งใหม่ของสัตว์เลี้ยงได้
จุดกำเนิดของ ‘สะพานสายรุ้ง’ เรื่องราวที่ชวนให้อมยิ้มและคิดถึง
ถ้าจะต้องย้อนกลับไปพูดถึงจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของดาวหมา ดาวแมวและสะพานสายรุ้ง ก็คงต้องย้อนกลับไปที่บทกวีบทหนึ่งในช่วง 1980s ณ ตอนนั้นในโลกตะวันตก มีบทกวีที่ไร้ข้อมูลของผู้แต่งอยู่บทหนึ่ง เล่าเรื่องราวของสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างโลกและสวรรค์ โดยฝั่งที่เชื่อมต่อกับสวรรค์นั้น ไม่ใช่สวรรค์ของมนุษย์อย่างที่เราเข้าใจ แต่เป็นปลายทางของเหล่าวิญญาณสัตว์เลี้ยงที่สูญเสียชีวิตไป
อีกฝั่งของสะพานสายรุ้งเป็นเนินเข้าและทุ่งกว้างที่มีหญ้าเขียวขจี พวกเขาจะมีพื้นที่ให้วิ่งเล่นกับเพื่อนๆ โดยที่มีน้ำและอาหารพร้อมอยู่เสมอ มีอากาศที่แจ่มใส สัตว์เลี้ยงที่แก่เฒ่าก็กลับไปเป็นวัยลูกสัตว์อีกครั้ง และในที่แห่งนั้นจะไม่มีเวลา ไม่มีโรคภัย ดังนั้นเราจึงมั่นใจได้เลยว่า สัตว์เลี้ยงที่เรารักจะไม่ต้องแก่หรือเจ็บป่วยอีกแล้ว
แต่คนเลี้ยงจะไม่สามารถไปหาเจ้าหมา เจ้าแมว หรือสัตว์เลี้ยงของตัวเองได้ จนกว่าเราจะเดินทางไปถึง ‘สะพานสายรุ้ง’ ซึ่งเป็นทางเชื่อมระหว่างโลกและสวรรค์ของเหล่าสัตว์เลี้ยง เพื่อพบเจอกันอีกครั้ง และจะไม่มีวันแยกจากกันอีกตลอดกาล
เมื่ออ่านเรื่องราวของสะพานรุ้งจากบทกวีนี้ ก็ทำให้เหล่าคนรักสัตว์เลี้ยงได้ชื่นใจและคลายความโศกเศร้า เพราะการจากไปของสัตว์เลี้ยงเป็นเพียงการจากกันชั่วคราวเท่านั้น ตอนนี้น้องคงกำลังวิ่งเล่นอย่างสนุกสนานกับเพื่อนๆ และสักวันหนึ่งก็คงจะได้เจอกันอีกครั้งที่สะพานสายรุ้งแห่งนั้น
จากบทกวีที่ไร้ชื่อผู้เขียน สู่ ‘วรรณกรรมฟีลกู๊ด’ ที่เยียวยาหัวใจของ Pet Parents
บทกวีเรื่องสะพานสายรุ้งกลายเป็นแนวคิดที่เหล่า Pet Parents ชื่นชอบ เพราะในโลกความเป็นจริงสัตว์หลายตัวจากโลกไปด้วยความเจ็บปวดทรมาน บางครั้งก็ตายเพราะอุบัติเหตุจากมนุษย์ บางครั้งก็ตายด้วยอายุที่เยอะและโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย แต่หลังจากตายไปแล้ว พวกเขาจะมีแต่ความสุขและไม่ต้องพบเจอกับความทรมานแบบนั้นอีก
อย่างไรก็ตาม แม้ในบทกวีเรื่องสะพานสายรุ้งจะไม่ปรากฏชื่อและข้อมูลของผู้แต่ง แต่ก็มี Pet Parents คาดเดาว่าคนแต่งน่าจะเป็น พอล ซี. ดาห์ม (Paul C. Dahm) เป็นผู้เขียน เพราะในช่วง 1990s เขาได้ออกหนังสือที่มีเนื้อหากล่าวถึงการสูญเสียสัตว์เลี้ยงคล้ายๆ กันถึงสามเล่ม อีกรายชื่อหนึ่งคือ วอลเลส ไซฟ์ (Wallace Sife) ผู้ก่อตั้งสมาคมให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่สูญเสียสัตว์เลี้ยง หรือ Association for Pet Loss and Bereavement (APLB)
ไซฟ์กล่าวว่าบทกวีเรื่องสะพานสายรุ้งที่แพร่หลายในช่วง 1980s มีเนื้อหาคล้ายจดหมายที่เขาเขียนให้กับเพื่อนในกลุ่มคนรักสัตว์เลี้ยงเมื่อ 10 กว่าปีก่อน โดยเป็นบทกวีที่เหมือนจะพัฒนามาจากเรื่องเล่าเกี่ยวกับสวรรค์ของสัตว์เลี้ยง ซึ่งต้นฉบับนั้นเป็นของเขาเอง นอกจากนี้ไซฟ์ยังเคยเขียนหนังสือเรื่อง The Loss of Pet ที่มีเนื้อหาคล้ายๆ กับสะพานสายรุ้งด้วย
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นไร แต่นักเขียนทั้งสองคนก็ได้นำแนวคิดของสะพานสายรุ้งมาสร้างและผลิตหนังสือ รวมถึงสร้างพื้นที่ที่เยียวยาจิตใจของ Pet Parents ซึ่งเพิ่งสูญเสียสัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รักของตัวเองไป
‘จินตนาการ’ ช่วยบรรเทาและเยียวยาหัวใจที่บอบช้ำของ Pet Parents ได้จริงหรือ?
แม้ว่าเรื่องราวของสะพานสายรุ้งและสวรรค์ของสัตว์เลี้ยง หรือที่เราเรียกกันว่า “ดาวหมา ดาวแมว” นั้นจะเป็นที่นิยมมากแค่ไหน แต่เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ แนวคิดสะพานสายรุ้งเองก็เช่นกัน มารีนา แอล. รี้ด (Marina L. Reed) หนึ่งในนักเขียนหนังสือเรื่อง Remember It's OK: Loss of a Pet มองว่าแนวคิดดังกล่าวอาจไม่ใช่เครื่องมือปลอบใจที่ดีที่สุด กลับกันแล้ว มันอาจจะสร้างผลกระทบที่เลวร้ายเกินกว่าจะคาดเดาได้ด้วย
รี้ดกล่าวว่า คนทุกคนย่อมต้องเศร้าโศกเสียใจอยู่แล้วเมื่อเผชิญกับการสูญเสีย เป็นสัจธรรมชีวิตที่ทุกสิ่ง ไม่ว่าคนหรือสัตว์ก็ต้องตายอยู่แล้ว และเวลาจะเยียวยาความเศร้านั้นได้เอง อีกอย่างการสร้างเรื่องราวหรือสถานที่จากจินตนาการอย่างเช่น สวรรค์ ดาวหมา ดาวแมวนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ 1980s ซึ่งนับว่าสังคมและผู้คนในยุคนั้นมีเป้าหมายชีวิตที่ต่างกับคนยุคนี้มากพอสมควร การคิดจินตนาการว่าสัตว์เลี้ยงได้ไปเกิดในที่ดีๆ ก็คงเป็นเครื่องมือปลดพันธนาการความเศร้า และทำให้พวกเขามีแรงที่จะลุกไปใช้ชีวิตต่อได้
แนวคิดนี้ฟังดูสวยงามและชวนให้ยิ้มได้ก็จริง ทว่าเรื่องเล่าของสะพานสายรุ้งอาจไม่เหมาะกับ Pet Parents ทุกคน เมื่อเทียบความแตกต่างของคนยุค 1980s กับคนในยุคนี้นับว่าต่างกันมากนัก แต่ละวันที่เราต้องเจอความเครียด ความกดดัน และภาระต่างๆ ก็นับว่าสาหัสมากพออยู่แล้ว ถ้าสัตว์เลี้ยงเป็นเหตุผลในการมีชีวิตอยู่เพียงข้อเดียว และถ้าเชื่อว่าปลายทางของสะพานสายรุ้งคือการได้อยู่กับสัตว์เลี้ยงตลอดไปก็อาจจะทำให้เกิดการสูญเสียที่ยากจะคาดเดาตามมาได้
ทางที่ดีกว่าซึ่งจะช่วยปลดเราออกจากพันธนาการความเศร้า เมื่อต้องสูญเสียสัตว์เลี้ยงไปได้ก็คือการทำความเข้าใจและ ‘การรู้เท่าทันอารมณ์’ ของตัวเอง ถ้าเราเศร้าก็แค่ร้องไห้ออกมา ให้โอกาสตัวเองได้ปลดปล่อยความเศร้าอย่างเต็มที่ หาเพื่อนหรือครอบครัวที่สามารถแบ่งปันความเศร้าและจับมือก้าวผ่านความเสียใจในครั้งนี้ไปด้วยกันให้ได้
หรือถ้าต้องการเรื่องราวของสะพานสายรุ้งมาปลอบโยนและโอบอุ้มหัวใจที่บอบช้ำจริงๆ ก็ต้องทำความเข้าใจบริบทของสังคมที่ต่างกัน และการทำความเข้าใจสัจธรรมของทุกชีวิตก็ช่วยให้เรามีพื้นที่ให้ตัวเองได้เศร้า เสียใจ ร้องไห้ไปกับการจากลา แต่ก็สามารถก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาบอบช้ำ และยังใช้ชีวิตต่อไปได้ โดยที่หัวใจยังไม่แหลกสลายไปเสียก่อน
ความสัมพันธ์ของคนที่รักสัตว์และสัตว์เลี้ยงคู่ใจนั้นเหนียวแน่นและผูกพันมากกว่าที่คนอื่นจะเข้าใจได้ นอกเสียจากคนที่เคยสูญเสียมาแล้วเช่นกัน ถึงแม้ว่าเวลาที่ได้อยู่ด้วยกันนั้นจะไม่ถึง 10 ปี แต่การสูญเสียอย่างถาวรของสัตว์เลี้ยงที่เป็นหนึ่งในครอบครัวก็อาจจะทิ้งรอยแผลในใจของคนได้นานยิ่งกว่า 10 ปีที่ได้เลี้ยงมาเสียอีก
สะพานสายรุ้งอาจจะเป็นจินตนาการที่ทำให้เราสบายใจได้ก็จริง แต่ความรู้สึกจากการสูญเสียก็จะยังคงไม่หายไปง่ายๆ อยู่ดี แต่ถ้าเราเข้าใจสัจธรรมของชีวิต เราจะผ่านมันไปได้อย่างรวดเร็ว ไม่ผุพัง ไม่ดับสลาย และเมื่อไรที่คิดถึงสัตว์เลี้ยง ก็ยังคงยิ้มได้ แม้จะมีน้ำตาซึมบ้างในบางครั้งก็ตาม
นอกจากนี้ เหล่า Pet Parents ทั้งหลายยังมั่นใจได้ด้วยว่า การจากลาตลอดกาลที่เกิดขึ้นนั้นน่าเศร้าก็จริง แต่การที่เจ้าหมาเจ้าแมวได้มาเจอกับเรานั้นทำให้ทั้งวัยเด็ก ช่วงที่โตเต็มวัย จนไปถึงวาระสุดท้าย ไม่ว่าจะตอนที่ป่วยหรือสุขภาพแข็งแรง ทุกช่วงชีวิตของมันมีแต่เจ้าของมาโดยตลอด แม้จะจากโลกนี้ไปด้วยความทรมาน แต่ก็เทียบไม่ได้กับความรักที่มันได้รับจากเจ้าของของมันเลยแม้แต่นิดเดียว
อ้างอิง
- What is the rainbow bridge and why do we think dead pets cross it? : Ann Marie Gardner, The Washington Post - https://wapo.st/48rk1FZ
- The Rainbow Bridge Poem Offers a Path To Pets’ Afterlife. Does It Help Us Grieve? : Austin Cannon, Daily Paws - https://bit.ly/49HLkgg
#petparents
#relationship
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา