29 ก.พ. เวลา 12:00 • ครอบครัว & เด็ก

Willowbrook ฝันร้ายของสถานรับเลี้ยงเด็กพิเศษ

จากข่าวที่คุณกันจอมพลังได้เข้าไปตรวจสอบสถานรับเลี้ยงเด็กออทิสติก ที่มีการทารุณกรรม โดยอวดอ้างว่าเป็นสถานรับเลี้ยงเด็กที่มีความต้องการพิเศษโดยมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแล
การเอาเปรียบผู้ที่มีความต้องการพิเศษแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก วันนี้ Psycholism อยากพาย้อนกลับไปในอีก 1 เหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนเรื่องกฎหมายสิทธิของผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาในสหรัฐอเมริกากับ Willowbrook State School และบทเรียนที่เราได้จาก 2 เหตุการณ์นี้
ย้อนกลับไปในช่วงปี 1965 Willowbrook เป็นสถานรับเลี้ยงเด็กที่มีความบกพร่องด้านพัฒนาการแบบ 24/7 ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งขึ้นในปี 1948 ที่ Staten Island รัฐ New York สหรัฐอเมริกา Willowbrook ถูกนำเสนอในหนังสือพิมพ์และสื่อต่าง ๆ ว่าเป็น ‘สถานที่ในอุดมคติสำหรับผู้มีความบกพร่อง’ เด็ก ๆ ในสถานรับเลี้ยงได้รับการดูแลจากหมอ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง มีกิจกรรมมากมายเพื่อส่งเสริมดูแลเด็ก ๆ ตั้งแต่การบำบัดไปจนถึงการฝึกอาชีพ แต่นี่เป็นเพียงฉากหน้าของเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายใน Willowbrook
ปัญหาเริ่มขึ้นจากจำนวนเด็กที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะในยุคนั้นเด็กที่มีปัญหาด้านพัฒนาการจะไม่ได้รับโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนและไม่มีความช่วยเหลืออื่น ๆ ทำให้หลายครอบครัวมองว่าการให้เด็กมาอยู่ที่ Willowbrook จะเป็นทางออกของสำหรับพวกเขา ยิ่งไปกว่านั้นจากภาวะสงครามทำให้สถานรับเลี้ยงถูกตัดงบ และต้องลดจำนวนเจ้าหน้าที่ลงสวนทางกับจำนวนเด็ก ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น
ในช่วงปี 1965 มีเด็กอาศัยอยู่ที่ Willowbrook มากถึง 6000 คน โดยมีข้อมูลจากพยาบาลในภายหลังว่าพยาบาลและเจ้าหน้าที่บางคนต้องรับหน้าที่ดูแลเด็กเกือบ 100 คน จนทำให้การดูแลอย่างทั่วถึงแทบเป็นไปไม่ได้ เด็กหลายคนถูกให้นอนกองในรถเข็นไม้ทั้งวัน เด็กเกือบทั้งหมดขาดโอกาสในการถูกกระตุ้นพัฒนาการ และถูกละเลยให้อยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะสม จนเกิดเป็นกระแสเรียกร้องจากทั้งผู้ปกครอง และเจ้าหน้าที่ภายใน
มีเรื่องเล่าจากปากของคนที่เคยอยู่ที่นั่นว่า พวกเขาต้องนอนบนเตียงที่ไม่มีฟูก บางครั้งก็ต้องนอนบนพื้นกระเบื้องพร้อมผ้าห่มฝืนเล็ก ๆ ในช่วงฤดูหนาวของ New York นอกจากนั้นหากไม่ทานข้าวหรือทำอะไรผิดใจ อาจจะถูกเจ้าหน้าที่จับยกขา ห้อยหัวลง และทุบหัวพวกเขากับโต๊ะ พื้น เก้าอี้
แต่กว่าเสียงของผู้ปกครอง และเจ้าหน้าที่จะมาถึงสาธารณชนกลับต้องใช้เวลากว่า 6 ปี ในปี 1971 นักข่าวชื่อ Jane Kurtin ได้มีการนำภาพด้านในโรงนอนมาเปิดโปงทำให้หลายคนได้เห็นสภาพที่แท้จริงที่เด็กเหล่านี้ได้รับ นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยว่าที่ปัญหาถูกปล่อยปละละเลย และใช้เวลาเป็นปี ๆ กว่าจะได้รับการเปิดเผยมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากการที่ผู้มีอำนาจข่มขู่เจ้าหน้าที่ หมอ พยาบาลหากพวกเขาไม่เห็นด้วย หรือตั้งคำถามกับวิธีการของ Willowbrook จะถูกทำให้ออกจากงานทันที
ในสถานการณ์สงคราม ความยากลำบากและเรื่องปากท้อง ทำให้แม้แต่หมอ พยาบาล ยอมปิดตาข้างหนึ่งเลือกที่จะไม่รับรู้ด้านเลวร้ายของสถานที่ทำงานของตน
การเปิดโปงของ Kurtin เป็นแรงกระเพื่อมลูกใหญ่ที่ทำให้สาธารณชนได้หันมาฟังเสียงครอบครัวและเจ้าหน้าที่ของ Willowbrook จนในที่สุดทางการได้ตระหนักว่าสถานรับเลี้ยงแบบนี้ไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม และเริ่มมีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เกิดการแก้กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของผู้ที่มีความบกพร่องด้านสติปัญญา เพิ่มเติมกระบวนการหลายอย่างและการ deinstitutionalization คือไม่นำคนแยกไปเข้าสถานรับเลี้ยงแบบ 24/7 อีก ทำให้ Willowbrook เริ่มทยอยนำคนออกตั้งแต่ปี 1981 จาก 6000 เหลือ 250 คนและในที่สุดปิดตัวไปในปี 1987
ในปัจจุบันเกือบทั้งสหรัฐ ใช้ระบบการฟื้นฟูในโรงเรียนสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษและส่งเสริมให้เกิด community-based service คือการให้เด็กได้อยู่บ้านแต่มีพื้นที่ให้พวกเขาได้เรียนรู้และรับการกระตุ้นพัฒนาการ ให้พวกเขาได้อยู่ในชุมชน
เรื่องนี้เป็นบทเรียนสำคัญที่บอกว่าการล่วงละเมิดกลุ่มคนเปราะบางเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่าย เด็ก คนแก่ คนที่มีภาวะบกพร่อง คนที่มีโรคทางจิตเวช ล้วนแล้วแต่ควรได้รับการใส่ใจ รับฟัง และการนิ่งเฉยไม่พูดอะไรมีแต่จะทำให้สถานการณ์แย่ลง ถ้าเหตุการณ์ที่ Willowbrook ไม่ได้รับการตีแผ่ หรือเหตุการณ์ในประเทศของเรา ถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่ภายในออกมาแจ้ง เรื่องราวแบบนี้อาจยังคงดำเนินต่อไป
พบเห็นการทารุณกรรมในเด็ก แจ้งได้ที่
• มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 0 2412 1196
• ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
• สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำจังหวัด
#psycholsim
#mentalhealth
#childabuse
โฆษณา