29 ก.พ. เวลา 10:41 • หนังสือ

ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก

"หนังสือเล่มใดเขียนด้วยความรัก​ หนังสือเล่มนั้นเป็นนิยายรัก"
มีหนังสือนิยายไทยที่พล็อตเรื่องกล่าวถึงร้านหนังสือหรือตัวละครที่มีความเกี่ยวข้องกับหนังสือไม่มากนัก เล่มหนึ่งที่แอดอ่านแล้วประทับใจมากคือเรื่อง “ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก” ของประชาคม ลุนาชัย ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕ โดยแพรวสำนักพิมพ์ เรื่องนี้เป็นนิยายรักที่งดงามและมีเรื่องรักซ้อนอยู่อีกด้วย ผู้อ่านจะได้ร่วมหวนรำลึกถึงวรรณกรรมที่เอ่ยถึงความรักอีกหลายเล่มขณะอ่าน
.
เรืีองเปิดฉากที่นลิดา ครูสอนภาษาไทยคนใหม่ในโรงเรียนชนบทแห่งหนึ่ง เธอพักอยู่กับครอบครัวพี่ชายซึ่งเป็นครูเหมือนกัน เธอไม่ค่อยมั่นใจและสนใจอยากเป็นครูมากนัก ในวันเพียงยี่สิบห้า​ เธอชอบอ่านนิยายรักหวานแหววแนวเกาหลี ไม่สนใจแนวอื่น และไม่เคยอ่านเล่มไหนซ้ำสอง
.
แต่ในต่างจังหวัดเธอหาหนังสือที่ชอบอ่านไม่ได้ วันหนึ่งเธอปั่นจักรยานไปจนพบร้านหนังสือเล็ก ๆ แห่งหนึ่งโดยบังเอิญชื่อ “ร้านหนังสือแบ่งปันกันอ่าน” ของภูดิน เจ้าของร้านหนังสือทำมือและนักวาดภาพประกอบ
.
ที่นี่มีหนังสือมากมาย แต่นลิดาไม่เคยอ่านและเมื่อดูชื่อนักเขียนต่างก็เป็นคนที่เธอไม่รู้จักบ้าง ไม่ชอบบ้าง ภูดินลองเสนอให้เธออ่านหนังสือวรรณกรรมเก่าของไทยบางเรื่อง​ เช่นโศกนาฎกรรมรักของตัวละครใน ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’ ของ มาลัย ชูพินิจ แรก ๆ นลิดาไม่ชอบใจเลย แต่พอได้อ่านรสนิยมในการอ่านของเธอก็ค่อยๆ​ เปลี่ยนไป เธอเริ่มซาบซึ้งและเข้าใจชีวิตตัวละคร
.
นลิดาเป็นนักอ่านคนหนึ่ง​ และชอบอ่านนิยายเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก แต่เมื่อได้ลองอ่านหนังสือเก่า ๆ ในร้านของภูดิน ความสนใจของเธอเปลี่ยนไปและเธอก็ได้หนังสือเล่มใหม่ ๆ ติดมือกลับไปอ่านซึ่งค่อย ๆ เปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองชีวิตแก่เธอโดยไม่รู้ตัว
.
ผู้เขียนเลือกใช้ถ้อยคำบรรยายให้เราเห็นภาพความผูกพันที่มีต่อหนังสือของคนรักการอ่านและการเลือกหาเรื่องที่อยากอ่าน เช่นเมื่อนลิดาค้นหาหนังสือในร้านของภูดิน “...เธอเอื้อมดึงเล่มใหม่ลงมา แล้วพินิจใคร่ครวญว่าเธอจะได้รับอะไรจากการอ่าน ไล่ตามหาหนังสือที่เธอเลือก และรู้สึกว่าหนังสือบางเล่มก็จงใจเลือกเธอ” (น.๑๒๔)
.
ภูดิน​ สอนนลิดาให้รู้ว่า​นิยายรักไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องความรักของหนุ่มสาว​ แต่ความรักต่อสิ่งอื่นๆ​ ในโลกก็คือนิยายรักเหมือนกัน​ เธอจึงได้รู้จักฮูยันและมิมปีใน​ 'ผีเสื้อและดอกไม้' ของนิพพานฯ, 'ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ'​ ของ ฌ็อง โดมินิก โบบี้,​ 'ขุนเขาแห่งจิตวิญญาณ'​ ของ รำพรรณ รักศรีอักษร และ 'The English Patient' หรือ ‘ในความทรงจำ...ความรักสถิตย์ชั่วนิรันดร์’ ของไมเคิล ออดาเจต์ ฯลฯ
.
ผู้เขียนเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขียนเรื่อง “ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก” เพื่อสื่อให้เห็นคุณค่าของการอ่านที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงความคิด ทัศนคติ และคนที่อ่านหนังสือแต่ละเล่ม ในเรื่องนี้ไม่เพียงนลิดาเท่านั้นที่ได้รับอิทธิพลที่ดีจากการอ่าน เด็ก ๆ ที่เธอสอนเดิมไม่ค่อยสนใจหนังสือเพราะอ่านไม่ค่อยออก เธอแวะไปหาลูกศิษย์ที่บ้าน และมอบหนังสือให้โดยบอกว่าไม่ต้องรีบอ่าน แต่อยากให้อ่านแล้วมาคุยกัน เช่นสมพลไม่เคยอ่านอะไรจบ หรือปิ้งไก่ และอิ่มอุ่นที่ไม่ค่อยอยากอ่านอะไร
.
แต่ภายหลังเมื่อเด็ก ๆ ได้อ่านและเอาหนังสือมาคืน นลิดาให้แต่ละคนแสดงความเห็นต่อเรื่องที่ได้อ่านว่าคิดอย่างไร เช่น ปิ้งไก่บอกว่า “มันเป็นนิยายชีวิตค่ะครู” ขณะที่อิ่มอุ่นบอกว่า “มันเป็นนิยาตลกค่ะครู” และสมพลบรรยายเล่มของเขาว่า “มันเป็นนิยายรักครับครู” นลิดาเรียนรู้ว่า
“หนังสือเล่มหนึ่งเมื่อเป็นของคนอ่านมันก็ต้องเป็นอย่างที่คนอ่านมองเห็น ....ไม่ควรตีกรอบ และแม้แต่คนแต่งก็เผด็กการให้คนอื่นคิดตามและมองเห็นอย่างที่เขาต้องการสื่อไม่ได้”
(น. ๑๕๕)
.
ภูดินเป็นตัวแทนของนักอ่านที่ไม่จำกัดแนว เขารักและซื้อหนังสือจำนวนมาก และก็สะสมไว้จนเมื่อพี่สาวเสียไปหลายปีก่อน เขาจึงเก็บตัวและกลายเป็นคนที่ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร อยู่แต่ในร้านหนังสือคนเดียว แต่เมื่อนลิดามาเจอเขาเธอมีส่วนทำให้เขากลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง รวมทั้งสนใจจะวาดรูปและสอนเด็ก ๆ วาดรูปด้วย
.
“ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก” ไม่เพียงเอ่ยถึงคุณค่าของการอ่านและพลังของหนังสือ แต่ยังสื่อความหมายและคำจำกัดความของหนังสือนิยายรักให้ผู้อ่านได้เก็บไปคิดต่อด้วย ผู้อ่านหลายคนบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่นิยายรักตามชื่อเรื่อง​ แต่แอดมินเห็นต่างว่า​นี่คือนิยายรักที่มีความอบอุ่นอ่อนโยนและซาบซึ้งกินใจมาก​ ชื่อเรื่องก็มีความหมายที่ลึกซึ้งอย่างที่ผู้อ่านคิดไม่ถึงด้วย​ ขอแนะนำให้ลองอ่านดูค่ะ
.
ผลงานเขียนเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งที่​ ๕​ เมื่อ​ พ.ศ.​๒๕๖๕​ เรื่องนี้ยังได้รับรางวัลชมเชย ประเภทนวนิยาย จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๖
#อ่านอีกครั้งก็ยังชอบ​ #ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก #ประชาคมลุนาชัย​#วรรณกรรม​ #เรื่องสั้น​ #คุณค่าของการอ่านหนังสือ
โฆษณา