29 ก.พ. เวลา 13:00 • ข่าวรอบโลก
เกาหลีใต้

เปิดคุณภาพชีวิตหมอในเกาหลีใต้ เครียดหนัก ทำงาน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

เกาหลีใต้กำลังเจอวิกฤติขาดแคลนบุคลากรในอาชีพแพทย์อย่างหนัก หลังจากเมื่อกลางกุมภาพันธ์ 2024 มีทั้งหมออินเทิร์น และหมอประจำบ้าน ตบเท้ากันลาออกจากงานกว่า 10,000 คน จนโรงพยาบาลหลายแห่งในเกาหลีใต้ไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ และจำเป็นต้องปฏิเสธคนไข้ไปหลายเคส
ความเลวร้ายมันไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เพราะกระแสปฏิเสธงานนี้กำลังลุกลามไปถึงในระดับมหาวิทยาลัยแพทย์ทั่วประเทศ โดยวันจันทร์ที่ผ่านมามีนักศึกษาแพทย์ เกือบ 70% จากจำนวนทั้งหมดประมาณ 20,000 คน ใน 40 วิทยาลัยฯ นัดกันโดดเรียน
สาเหตุที่นักศึกษาแพทย์ และหมอหลายๆคนในเกาหลีใต้ต้องนัดกันลาออกประท้วงนี้ ก็เป็นผลมาจากกรณีที่รัฐบาลประเทศเขาประกาศขยายจำนวนการรับนักศึกษาแพทย์เพิ่มขึ้นจากเดิมปีละ 3,000 คนไปเป็น 5,000 คน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานสายสุขภาพ
ซึ่งถือเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ และทิ้งปัญหาเดิม คือ เรื่องอัตราเงินเดือนของบุคลากรทางการแพทย์ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน (แบบไม่สมเหตุสมผลกับปริมาณงานที่ได้รับมอบหมาย) เอาไว้ให้อยู่ใต้พรมไปเรื่อยๆ หมอในเกาหลีใต้เคยออกมาให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ว่าพวกเขาไม่ต้องการทำงานในระบบอีกต่อไป เพราะ workload สูงเกินจนเกิดความตึงเครียด อาจทำให้งานไม่มีประสิทธิภาพ
พองานไม่มีประสิทธิภาพ คนไข้ก็อาจจะหาเรื่องมาฟ้องร้องเอาผิดที่ตัวหมอในภายหลังได้ หากการรักษาผิดพลาด ตอนนี้หมอหลายๆคนที่ลาออกไปจึงหนีไปเปิดคลีนิครักษาโรคผิวหนัง คลีนิคความงาม เสริมสวยแทน เพราะเงินดีกว่าแถมไม่ค่อยเครียดด้วย
ตรงนี้เผื่อใครยังไม่ทราบ หมอในเกาหลีใต้เขาเงินเดือนสตาร์ทที่ประมาณ 90,000 กว่าบาท เฉลี่ยแล้วเท่าๆกับพนักงานออฟฟิศทั่วๆไป แต่ต้องวิ่งงานกันเกิน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (ถ้าทำงานกันสัปดาห์ละ 5 วัน ก็เท่ากับทำกันวันละ 16 ชั่วโมงน่ะ) ประเด็นนี้รัฐบาลเกาหลีใต้ยังไม่มีท่าทีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันว่าจะแก้ไขยังไง
แต่เหมือนจะมีเอากฎหมายมาขู่ว่าถ้าบุคลากรทางการแพทย์(ที่ยังไม่ลาออก)ยังประท้วงหยุดงานต่อไป จะให้มีความผิดทางอาญาแล้ว และยังไม่มีนโยบายใดๆจะเพิ่มสวัสดิการ หรือเพิ่มเงินเดือนให้คนทำอาชีพหมอสาขาต่างๆเลย
จุดนี้ทำให้รัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมเกาหลีใต้ได้รับคำชื่นชมจากประชาชนมากขึ้นที่กล้าชนกับอาชีพหมอ พวกสื่อในเกาหลีใต้ก็เริ่มวิพากษ์วิจารณ์คนอาชีพหมอกันแล้วว่าเรื่องมาก เลือกงาน และโลภ โดยสรุปแล้วมีแนวโน้มสูงมากที่ปัญหานี้จะไม่ได้รับการแก้ไขในมิติที่ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์เกาหลีใต้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเลย
ปัญหาระบบสาธารณสุขเกาหลีใต้ก็จะยังอยู่ใต้พรมเช่นเดิม
Source: South China Morning Post และ Bloomberg
โฆษณา