3 มี.ค. เวลา 03:56 • ธุรกิจ

เคล็ดลับ 4+5 สร้างความสำเร็จของธุรกิจครอบครัว

การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับการทำธุรกิจมาโดยตลอดอยู่แล้ว แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนั้น ธุรกิจครอบครัวหลายแห่งทั่วโลกสามารถอยู่รอดมาได้ บางธุรกิจมีอายุกิจการเกินร้อยปี พวกเขามีเคล็ดลับอะไร บทความนี้ได้นำเสนอการวิจัยล่าสุดโดยบริษัท McKinsey ถึงเคล็ดลับที่ธุรกิจครอบครัวถือปฎิบัติกันมา ที่ทำให้พวกเขาสามารถสืบทอดและรักษาธุรกิจได้อย่างยาวนาน
ธุรกิจครอบครัวมีบทบาทอย่างมากมาเป็นเวลานานแล้ว และเป็นบทบาทที่มักไม่มีใครสังเกตเห็น หรือถูกประเมินต่ำเกินไป และไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น บริษัทเหล่านี้หลายแห่งสามารถอยู่รอดและเจริญรุ่งเรืองมาได้ตลอดหลายทศวรรษ ดังเช่น กางเกงยีนส์ ลีวายส์ หรือ เครื่องสำอางลอรีอัล อย่างไรก็ตาม อาจมีความเข้าใจไม่แน่ชัดนักว่า อะไรทำให้ธุรกิจครอบครัว สามารถทำหน้าที่ได้ดีกว่าและคงอยู่ได้ยาวนานกว่า
การวิจัยล่าสุดโดยบริษัท McKinsey โดยทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบผลการดำเนินงานของธุรกิจครอบครัวจำนวน 600 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กับบริษัทที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว 600 แห่ง ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งสำรวจธุรกิจส่วนตัวทั่วไปอีก 600 แห่งทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีการสัมภาษณ์ผู้นำของธุรกิจครอบครัวกว่า 20 แห่งทั่วโลก
ข้อมูลแสดงให้เห็นกรอบความคิด (Mindset) 4 ประการที่เหมือนกันในทุกธุรกิจครอบครัว และจะเด่นชัดในกลุ่มที่มีประสิทธิภาพสูงร่วมกับการที่มีการดำเนินการเชิงกลยุทธ์ 5 ประการ หรือสูตร 4+5 ซึ่งเป็นประโยชน์และสามารถนำไปใช้ได้กับบริษัททั่วไป กรอบความคิด 4 ประการนั้นประกอบด้วย
1. การมุ่งเน้นที่เจตนารมณ์เหนือกว่าตัวเลขผลประกอบการ
โดยสะท้อนผ่านการแสดงออกในหลายรูปแบบ เช่น การรักษาชื่อเสียงและปกป้องภาพลักษณ์ของแบรนด์ การรักษาวัฒนธรรมองค์กรอย่างเข้มแข็ง การมุ่งให้มูลค่าสูงสุดแก่ลูกค้า หรือการสร้างผลกระทบเชิงบวกในชุมชนของธุรกิจของตน
ทัศนคติการขับเคลื่อนด้วยเจตนารมณ์ยังสะท้อนให้เห็นผ่านการจ้างงาน การเลื่อนตำแหน่ง และการรักษาบุคลากร ความภักดีเป็นค่านิยมหลักในบริษัทเหล่านี้ หรือการที่มักจะหลีกเลี่ยงการเลิกจ้างในช่วงวิกฤต
2. การมีมุมมองในระยะยาวและนำเงินไปลงทุนต่อในธุรกิจ
ผู้นำธุรกิจครอบครัวที่มีผลประกอบการดีเยี่ยมสะท้อนว่า มุมมองระยะยาวเป็นหนึ่งในสามเหตุผลหลักที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ควบคู่ไปกับความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และขยายไปสู่ตลาดและภูมิภาคใหม่ๆ ด้วยโครงสร้างความเป็นเจ้าของนี่เอง ทำให้มีบทบาทสำคัญในการรักษามุมมองในระยะยาว และโดยทั่วไปธุรกิจครอบครัวมีแนวโน้มที่จะนำเงินไปลงทุนต่อในธุรกิจมากกว่าการนำเงินออกผ่านการจ่ายเงินปันผล การลงทุนอย่างต่อเนื่องในธุรกิจเป็นการส่งเสริมวัตถุประสงค์ระยะยาวได้เป็นอย่างดี
3. ความระมัดระวังทางการเงิน หนี้สินและการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง
ส่วนมากธุรกิจครอบครัวจะมีทัศนคติที่อนุรักษ์นิยมและระมัดระวังในด้านการเงิน ทำให้บริษัทมีสถานะเงินสดที่ดี ซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงหรือรอดพ้นจากสถานะล้มลาย หรือภาวะวิกฤติได้ ในขณะที่บริษัทอื่นๆ อยู่ในฐานะลำบากจากการหดตัวของอุตสาหกรรม
4. การตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การตัดสินใจในเรื่องสำคัญของธุรกิจครอบครัว มักจะดำเนินการได้อย่างเด็ดขาดและรวดเร็วมากกว่าผู้นำในธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว เนื่องจากจะต้องอาศัยกระบวนการหลายขั้นตอนและหลายฝ่าย ซึ่งอาจเป็นเรื่องยากและใช้เวลานาน
สิ่งที่น่าสนใจคือ ธุรกิจครอบครัวที่มีผลการดำเนินงานที่ดี จะแยกแยะระหว่างการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพและการตัดสินใจที่รวดเร็ว เมื่อสมาชิกในครอบครัวเห็นด้วย พวกเขาจะตัดสินใจเลือกอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อสมาชิกในครอบครัวไม่เห็นด้วย กลุ่มที่มีผลดำเนินงานที่ดีจะใช้ประโยชน์จากโครงสร้างและกระบวนการที่ยืดหยุ่นของตน เพื่อพิจารณามุมมองที่แตกต่างกันทั้งหมด พวกเขาเข้าใจดีว่าการตัดสินใจสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและรอบคอบ และความสามารถในการปรับเปลี่ยนตามความจำเป็นคือตัวสร้างความแตกต่างของผลการดำเนินงานที่แท้จริง
เมื่อธุรกิจครอบครัวใช้กรอบความคิดทั้งสี่ ผสมผสานกับการดำเนินกลยุทธ์ 5 ประการ ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างอย่างแท้จริง
กลยุทธ์ทั้ง 5 ประกอบด้วย
1. การกระจายพอร์ตการลงทุน (Diversification Portfolio)
ธุรกิจครอบครัวโดยมากไม่จำกัดตัวเองอยู่แค่ในธุรกิจหลักเท่านั้น แต่จะขยายไปสูธุรกิจในอุตสาหกรรมใหม่ๆ หรือภูมิภาคใหม่ๆ หรือการมุ่งเป้าในธุรกิจที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง (Disruptive Business) ไม่ว่าจะผ่านการควบรวมกิจการ การลงทุนโดยตรง การกระจายความหลากหลายนี้เป็นการเสริมความเข้มแข็งในการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ เข้าสู่ตลาดใหม่ และเพิ่มความสามารถของธุรกิจ
2. มีการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่หยุดนิ่ง (Dynamic Resource Allocation)
การจัดสรรทรัพยาการอย่างไม่หยุดนิ่ง เป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการบรรลุเป้าหมายขององค์กร บริษัทที่ปรับเปลี่ยนการจัดสรรทรัพยากรใหม่บ่อยกว่าได้แสดงให้เห็นถึงการสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นให้กับผู้ถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ มีความผันผวนของผลตอบแทนในระยะยาวน้อยลง และมีโอกาสสูงที่จะหลีกเลี่ยงการถูกซื้อกิจการหรือการล้มละลาย
3. เป็นทั้งผู้ลงทุนและผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพ (Efficient Investors and Operators)
การลงทุนและผลการดำเนินงานที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยถูกขับเคลื่อนจากปัจจัยสามประการ ประการแรกคือ DNA การดำเนินงานที่ส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น รูปแบบการดำเนินธุรกิจ ซึ่งรวมถึงการตัดสินใจ วิธีการบริการลูกค้า การบริหารจัดการบุคลากรที่มีความสามารถ และการพัฒนาความเชี่ยวชาญในด้านการทำงาน การมีส่วนร่วมโดยตรงของผู้ก่อตั้งบริษัทในการบริหารงานร่วมกับพนักงาน ได้สร้างความรู้สึกภักดีและความเป็นเจ้าของให้กับพนักงาน
ประการที่สอง คือ การใช้ชุดข้อมูลที่กว้างกว่าเพื่อประเมินผลการดำเนินงานขององค์กร ธุรกิจครอบครัวที่มีผลการดำเนินงานที่ดี ใช้ตัวบ่งชี้ผลการดำเนินงาน (Key Performance Indicator) หลายตัว ในการวัดผลการปฏิบัติงาน ทั้งรายได้/ยอดขาย กำไร/ขาดทุน หรือตัวชี้วัดการประเมินมูลค่า
ประการสุดท้ายที่สร้างความแตกต่างที่มากที่สุดก็คือ นวัตกรรม โดยการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา และให้การสนับสนุนด้วยระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการลงทุนทางตรงและทางอ้อมและให้การช่วยเหลือธุรกิจอื่นในระบบนิเวศ
4. ดึงดูดและรักษาผู้ที่มีความสามารถให้อยู่กับองค์กร (Retaining the Best Talent)
ธุรกิจครอบครัวผู้ค้าปลีกสินค้าหรูหราแห่งหนึ่งในยุโรป ใช้แนวทางการจัดการผู้มีความสามารถแบบครบวงจร เพื่อดึงดูดผู้สำเร็จการศึกษา โดยจัดทำโครงการฝึกอบรมทูตภายในองค์กร เพื่อให้ความช่วยเหลือและต้อนรับพนักงานใหม่ กลุ่มบริษัทจึงได้รับการโหวตให้เป็นผู้จ้างงานระดับแถวหน้า ในกลุ่มนักศึกษาด้านธุรกิจเป็นเวลา 18 ปีติดต่อกันในประเทศบ้านเกิดธุรกิจครอบครัวค้าปลีกนั้น
สำหรับผู้นำระดับสูง บริษัทเสนอเงินเดือนที่สามารถแข่งขันได้ และครอบครัวผู้ก่อตั้งยังให้ความใกล้ชิดกับผู้นำระดับสูงเป็นพิเศษ เพื่อสร้างความรู้สึกผูกพันและความรับผิดชอบต่อผลการดำเนินงานของบริษัท
จากความพยายามเหล่านี้ทำให้บริษัทสามารถสรรหาผู้มีความสามารถ และรักษาพวกเขาให้อยู่กับองค์กรในระยะยาว ทำให้บริษัทสามารถสร้างและรักษาวัฒนธรรมที่เข้มแข็งในการเสนอสิ่งแปลกใหม่ด้านศิลปะ มีความใส่ใจในรายละเอียด และมีวิสัยทัศน์ ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จในธุรกิจที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์และการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ
5. มีกระบวนการด้านธรรมาภิบาลที่เข้มแข็ง (Strong Governance Processes)
ธุรกิจครอบครัวที่มีผลประกอบการที่ดี ให้ความสำคัญกับการแยกเรื่องครอบครัวและธุรกิจอย่างจริงจัง มีเอกสารคู่มืออย่างเป็นทางการ ซึ่งระบุแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทและความรับผิดชอบของสมาชิกในครอบครัว มีวาระการประชุมที่เป็นทางการเป็นประจำเพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาครอบครัวและธุรกิจ
การมีหลักเกณฑ์ที่เข้มงวด และการกำกับดูแลครอบครัวเมื่อดำเนินการอย่างดีสามารถเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการสร้างวัฒนธรรมองค์กร และเมื่อต้องมีการใช้ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก การระบุเงื่อนไขที่ชัดเจนและเหมาะสม สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่า
กรอบความคิดสี่ประการ ร่วมกับการดำเนินการเชิงกลยุทธ์ห้าประการนั้น แน่นอนว่าการดำเนินการจะมีลักษณะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กร บริษัทที่เผชิญกับการเปลี่ยนผ่านในระยะอันใกล้ จะให้ความสำคัญกับการกลไกการกำกับดูแลและการวางแผนสืบทอดกิจการก่อนเรื่องอื่น ธุรกิจในอุตสาหกรรมที่ซบเซา หรือเปราะบาง อาจต้องให้ความสำคัญกับการจัดสรรทรัพยากรเงินทุนเป็นอันดับแรก เพื่อเพิ่มการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา การสร้างธุรกิจใหม่ และการควบรวมกิจการ
การจะใช้กลยุทธ์ใดจะต้องพิจารณาอย่างระมัดระวังและรอบคอบ เพื่อให้ได้รับประสิทธิผลสูงสุดภายใต้สถานการณ์ที่มีความเฉพาะ
อ้างอิง:
The secrets of outperforming family-owned businesses: How they create value—and how you can become one, https://www.mckinsey.com/
บทความห้องเรียนผู้ประกอบการ
โดย ปิยารมย์ ปิยะไทยเสรี
โฆษณา