13 มี.ค. 2024 เวลา 06:00 • ธุรกิจ

ธุรกิจ 'ขนมญี่ปุ่น' ไปไม่รอด ปิดกิจการต่อเนื่อง 3 ราย ไม่ปรับตัว ไม่เข้าใจคนไทย?

เกิดอะไรขึ้นกับเบเกอรีญี่ปุ่น ที่เคยสร้างปรากฏการณ์ห้างแตก “Gram Pancakes-Pablo Cheesetart” นักวิชาการ ชี้ เป็นกระแสหวือหวา-ประคองตัวยาก คนไทยไม่นิยมกินขนมมื้อหนัก ยก “After You” แบรนด์ไทยปรับตัวไว มีสีสัน ทำลูกค้าสนุก-ตื่นเต้นมากขึ้น
7
ปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 “ฟาร์ม ดีไซน์” (Farm Design) คาเฟ่สไตล์ญี่ปุ่น ที่เข้ามาเปิดกิจการในไทยตั้งแต่ปี 2552 ภายใต้การบริหารในเครือ “บุญรอดบริวเวอรี่” ประกาศปิดให้บริการสาขาสุดท้ายไปเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 เป็นอันสิ้นสุดการมาถึงของคาเฟ่จากเกาะฮอกไกโดในไทย ด้วยระยะเวลา 14 ปี
1
หลังจากนั้นเพียงสองเดือนเศษๆ ก็มีร้านขนมส่งตรงจากแดนอาทิตย์อุทัยประกาศปิดกิจการลงเช่นกัน โดยพบว่า เป็นร้านเบเกอรีที่เคยสร้างปรากฏการณ์ “ห้างแตก” มาแล้ว อย่าง “แกรม แพนเค้ก” (Gram Pancakes) และ “พาโบล ชีสทาร์ต” (Pablo Cheesetart) โดย “วีรันดา รีสอร์ท” บริษัทแม่ที่เข้าซื้อกิจการตั้งแต่ปี 2562 ร่อนจดหมายชี้แจงทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2567 ว่า บริษัทได้หยุดการรับรู้ส่วนแบ่งตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2566 และจะยุติกิจการทั้งสองแห่งภายในปี 2567 นี้
1
การโบกมือลาของเบเกอรีญี่ปุ่น 3 แห่ง ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญเป็นแน่ แต่เพราะเหตุใด ร้านที่เคยโด่งดัง มีกระแส และได้รับความนิยมเช่นนี้ จึงค่อยๆ เบาบางจางหายไปตามกาลเวลา เป็นเพราะรสชาติที่ไม่ถูกปากคนไทย ราคาที่สูงกว่าท้องตลาด หรือขนมเหล่านี้เป็นเพียงกระแสฉาบฉวย และไม่สามารถยืนระยะสร้างฐานลูกค้าจนเป็น “Top of mind” ในใจของลูกค้าได้
“กรุงเทพธุรกิจ” สอบถามเรื่องนี้ไปยัง “กฤตินี พงษ์ธนเลิศ” อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดญี่ปุ่น อาจารย์ระบุว่า หากสังเกตดีๆ ทั้ง “แกรม แพนเค้ก” และ “พาโบล ชีสทาร์ต” มีลักษณะคล้ายคลึงกันที่ลักษณะตัวขนม “แพนเค้ก” มีปริมาณแป้งค่อนข้างเยอะ
1
ส่วน “ชีสทาร์ต” ก็มีทั้งสัดส่วนของแป้งและชีสมากขึ้นไปอีก ขนมทั้งสองแบบจึงอาจจะหนักเกินไปสำหรับคนไทย ยิ่งประเทศไทยเป็นเมืองร้อน ความรู้สึกที่ผู้บริโภคต้องการรับประทานขนมที่มีส่วนประกอบของแป้ง นม และชีส จึงค่อนข้างน้อย
อาจารย์ระบุว่า แม้แต่ใน “ญี่ปุ่น” ซึ่งเป็นประเทศต้นกำเนิดของทั้งแบรนด์ ก็มียอดขายขนมจำพวกช็อกโกแลต ชีส และขนมปังน้อยลงในช่วงฤดูร้อนเช่นกัน ฉะนั้น สำหรับเมืองไทยในช่วงแรกที่ผู้บริโภคให้ความสนใจอาจเกิดจากกระแสหวือหวา เพราะเป็นแบรนด์อิมพอร์ตจากญี่ปุ่น แต่นานวันเข้าด้วยพฤติกรรมการกินของคนไทย ทำให้ไม่ได้เกิดความต้องการอยากทานอีกเรื่อยๆ กลายเป็น “กระแส” ที่ต้องประคองกันไป ยิ่งในช่วงโควิด-19 คนอยู่บ้านมากขึ้น ไม่ได้นึกถึงขนมเหล่านี้เท่าไรก็ทำให้แบรนด์อยู่ยากมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่า ร้านขนมจะแผ่วปลายเสียทุกราย อาจารย์ยกตัวอย่าง “อาฟเตอร์ ยู” (After You) ว่า เป็นร้านขนมที่ปรับตัวได้ดี สามารถเลี้ยงกระแสให้อยู่ในความสนใจได้ตลอด เนื่องจากมีสามปัจจัยหลักที่ทำให้ร้านเติบโตต่อเนื่อง ไม่จม ไม่หายไปกับกาลเวลา นั่นคือ มี “ซิกเนเจอร์ เมนู” เป็นภาพจำที่ทุกคนนึกถึง มีการปรับรสชาติไปตามความชอบของคนในพื้นที่นั้นๆ และมีเมนูออกใหม่ให้ผู้บริโภครู้สึกตื่นเต้น-สนุกมากขึ้น
“ร้านที่ประสบความสำเร็จ ต้องมี “ซิกเนเจอร์ เมนู” ที่อร่อยจริงๆ และเมนูนั้นควรเป็นเมนูที่เข้ากับสภาพอากาศ และความชอบของคนไทย คนไทยชอบอะไรที่รสชาติหวาน หรือเบาๆ ทานแล้วสดชื่น เพราะอากาศบ้านเราร้อน ควรมีการปรับเมนูให้เข้ากับคนไทยเหมือนกัน และอีกส่วน คือเมนูหลากหลาย สร้างสีสันให้คนรู้สึกว่า ร้านมีอะไรใหม่ๆ ไม่น่าเบื่อเลย
ตัวอย่างร้านที่ทำได้ดีมากๆ คือ “อาฟเตอร์ ยู” ตอนแรกก็จะมี “ชิบูย่า ฮันนี่โทสต์” มีขนมเค้กต่างๆ แต่พอผ่านไปก็เริ่มมี “คากิโกริ” (Kakigori) ออกมา พอประสบความสำเร็จก็มีเมนูตามซีซั่น เช่น “คากิโกริ มะยงชิด” ล่าสุดมี “คากิโกริ กระท้อนลอยแก้ว” ทำให้คนรู้สึกว่า อยากลองชิมจัง เราชินกับเมนูเดิมแล้ว แต่เมนูใหม่เป็นอย่างไรนะ ทำให้คนรู้สึกตื่นเต้นแล้วก็สนุกมากขึ้น”
อาจารย์กฤตินีระบุว่า แบรนด์ญี่ปุ่นที่เข้ามาเจาะตลาดในไทย อาจจะไม่สามารถรังสรรค์เมนู “Seasonal” ได้เหมือนกับร้านไทย เนื่องจากต้นทุนในส่วนต่างๆ ที่สูงขึ้น วัตถุดิบบางอย่างที่ต้องนำเข้าอาจทำให้ต้นทุนปรับตัวจนกระทบกับราคาขายหน้าร้าน รวมถึงบางแบรนด์เองก็ประสบปัญหาเรื่องกระแสเงินสดในประเทศต้นกำเนิดด้วย ทำให้แบรนด์ไม่มีกระแส ไม่สามารถสร้างความตื่นเต้น-แปลกใหม่ให้กับคนไทยได้
โฆษณา