8 มี.ค. เวลา 01:00 • สิ่งแวดล้อม

วันสตรีสากลตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี

ชวนทำความรู้จัก ‘ฮิลดา ฟลาเวีย นาคาบูเย’ จากเด็กสาวขี้อายชาวยูกันดา สู่การเป็นนักเคลื่อนไหวปัญหาโลกเดือด
...
“คุณจะเจรจาต่อไปอีกนานแค่ไหน? คุณเจรจามา 25 ปีแล้ว ทำมาก่อนที่ฉันจะเกิดเสียอีก”
ย้อนเวลากลับไปในการประชุม COP25
‘ฮิลดา ฟลาเวีย นาคาบูเย’ นักเคลื่อนไหวเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชาวยูกันดา ได้พาตัวเองขึ้นสู่เวทีปราศรัยระดับชาติเป็นครั้งแรก
หญิงสาววัย 22 ปี จากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อนอย่างรุนแรง กล่าวในที่ประชุมว่า
“ฉันมาที่นี่เพื่อเป็นตัวแทนของคนหนุ่มสาวชาวแอฟริกันหลายล้านคนที่กำลังเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง - ในขณะที่ฉันกำลังพูดกับคุณอยู่ตอนนี้ เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วกำลังคร่าชีวิตผู้คนในประเทศของฉัน”
ในฐานะนักเคลื่อนไหวที่เป็นคนรุ่นใหม่ และมักถูกละเลยทางสิทธิและเสียง เธอมิได้แลกเปลี่ยนความเห็นมากมายนัก นอกจากการตั้งคำถามถึงผู้นำประเทศต่างๆ ในเวที
“คุณจะเจรจาต่อไปอีกนานแค่ไหน? คุณเจรจามา 25 ปีแล้ว ทำมาก่อนที่ฉันจะเกิดเสียอีก”
หลังพูดจบ นาคาบูเย ได้รับเสียงตบมือเป็นรางวัล ส่วนปัญหาที่เธอเรียกร้องนั้นยังคงต้องรออย่างคลุมเครือต่อไป...
น่าเสียดายที่การประชุม COP ในปีต่อมา นาคาบูเย ไม่สามารถเดินทางไปร่วมประชุมหรือประท้วงเหมือนอย่างเยาวชนในประเทศอื่นๆ เนื่องจากข้อจำกัดด้านการเดินทางจากโควิด-19
และปัญหาความไม่เท่าเทียมของการแจกจ่ายวัคซีนในประเทศแถบแอฟริกา
ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่เธอเคยพูดไว้ในการประชุม COP25 เช่นกัน - “ฉันไม่เข้าใจว่าทำไมคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจึงมักไม่ได้รับบทบาท”
นาคาบูเย สารภาพว่าจริงๆ แล้วตัวเธอเป็นคนขี้อาย ไม่ค่อยกล้าแสดงออกในชั้นเรียน การต้องออกไปพูดบนเวทีที่มีคนฟังถึง 100 ชีวิต คงไม่มีทางเป็นไปได้แน่ๆ
แต่มันก็เกิดขึ้น - เพราะเธอเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับตัวเองโดยตรง
“ฉันตกเป็นเหยื่อของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และฉันไม่ละอายที่จะพูดเช่นนั้น”
นาคาบูเย เกิดในครอบครัวชาวไร่ เพาะปลูกกล้วย ข้าวโพด มันสำปะหลังหาหาเลี้ยงชีพ
ตอนเธออายุ 10 ขวบ ยูกันดามีฝนตกชุกผิดปกติ พืชผลทางการเกษตรของครอบครัวถูกน้ำท่วมทำลาย
เมื่อไม่มีผลผลิตก็ไม่มีรายได้ ทำให้เธอต้องขาดเรียนเป็นเวลาสามเดือน
ในขณะที่อีก 2 ปีต่อมา สวนมันสำปะหลังและมันฝรั่งของย่าของเธอเผชิญกับภัยแล้ง ปศุสัตว์ที่เลี้ยงไว้อดตาย - ฤดูแล้งที่ควรจะเป็นเพียงช่วงระยะหนึ่งของปีกลับกินเวลาเกือบครบ 365 วัน
เหตุการณ์เช่นนั้นยังเกิดวนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนครอบครัวตัดสินใจขายที่ดินทำกินและปศุสัตว์เป็นจำนวนมาก ส่วนพ่อของเธอต้องออกไปหางานทำในกัมปาลา เมืองหลวงของยูกันดา หาเลี้ยงชีพแทนการทำไร่
นาคาบูเย เพิ่งมาทราบว่าความยากลำบากในวัยเยาว์เกิดขึ้นเพราะชั้นบรรยากาศของโลกมีก๊าซเรือนกระจกปกคลุมและสะสมอยู่ เมื่อตอนได้เรียนเรื่องนี้ในชั้นมหาวิทยาลัย
ความรู้ที่ได้รับทำให้เธอเกิดปณิธานในใจ - ต้องไม่มีใครได้สัมผัสกับประสบการณ์แบบเดียวกับเธออีก - นับแต่นั้น นาคาบูเย ทิ้งความอายไว้ข้างหลัง พาตัวเองออกมาลุยอยู่ในแถวหน้าเสมอๆ
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เธอ ‘กล้า’ เกิดขึ้นเพราะเกรต้า ธุนเบิร์ก
วันหนึ่งในปี 2018 - นาคาบูเย ได้ชมคลิปของเกรต้าผ่านโซเชียลมีเดีย - ในสำนึกเธอรู้สึกว่าเด็กผู้หญิงคนนี้อายุน้อยกว่าเธอตั้งหลายปี แต่สามารถสร้างแคมเปญที่ทำให้คนหนุ่มสาวทั่วโลกขานรับได้อย่างน่ามหัศจรรย์
“ฉันต้องทำอะไรบางอย่าง พวกเรา - เยาวชนในยูกันดาและแอฟริกา - ต้องทำอะไรบางอย่าง”
เธอตัดสินใจหยุดเรียนในวันศุกร์ และออกมายืนถือป้ายที่เขียนว่า “ฉันเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศที่อายุน้อย ฉันต้องการให้เห็นการแก้ไขปัญหาสภาพอากาศ”
จากอิทธิพลของเกต้าที่ทำให้เธอกล้า ยังถูกส่งต่อไปยังเพื่อนๆ ของเธออีกหลายคน
ทุกๆ วันศุกร์ ผู้คนที่สัญจรผ่านหน้ามหาวิทยาลัยกัมปาลา จะเห็นคนหนุ่มสาวออกมายืนถือป้ายที่เขียนข้อความว่า “Climate Jusctice” “Save Environment” “Take Climate Action” “School Strile For Climate” ฯลฯ
จนในที่สุดในปี 2019 เธอช่วยก่อตั้ง Fridays for Future Uganda ซึ่งเป็นเครือข่ายประท้วงด้านสภาพภูมิอากาศระดับโลก แน่นอนว่านี่คืออีกหนึ่งแรงบันดาลใจจากการหยุดเรียนของเกรต้าเช่นกัน
แต่การเคลื่อนไหวประเด็นสิ่งแวดล้อมในประเทศที่ผู้คนต้องดิ้นรนเอาตัวรอดให้พ้นวันมันไม่ใช่เรื่องง่าย คนส่วนใหญ่ยังคิดว่าเรื่องโลกร้อนเป็นปัญหาไกลตัว
"คนส่วนใหญ่ได้ยินเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นครั้งแรก"
เมื่อตอนปี 2020 ฝนที่ตกอย่างหนักทำให้พื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลสาบวิกตอเรีย (ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกา) เอ่อล้นท่วมบ้านเรือนเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้คนหลายแสนคนต้องพลัดถิ่น
ชาวยูกันดาหลายล้านคนยังต้องพึ่งพาอาชีพเพาะปลูกเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ดังนั้น น้ำท่วมและภัยแล้ง สามารถทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาได้ - นี่คือสิ่งที่เธอพยายามอธิบายให้คนในประเทศได้เข้าใจ
นอกจากจะเคลื่อนไหวในประเด็นใหญ่ๆ นาคาบูเย ยังตั้งใจเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมในระดับชุมชน เช่น ปัญหาการทิ้งขยะลงแม่น้ำ
กลุ่มของเธอจะพบปะกันเป็นประจำเพื่อเก็บขยะรอบๆ ทะเลสาบวิกตอเรีย พร้อมๆ กับให้ความรู้แก่คนในพื้นที่เกี่ยวกับอันตรายของการทิ้งขยะ
“ขยะจะทำให้ทางน้ำอุดตัน ทำให้คนในท้องถิ่นตกปลาได้ยาก และยังทำให้เกิดน้ำเสีย พอน้ำเสียปลาจะผสมพันธุ์ได้ยาก คุณต้องทิ้งขยะลงในถังขยะนะ”
ในอีกด้าน เธอกับเพื่อนๆ ยังเดินสายให้ความรู้กับเด็กนักเรียนเกี่ยวกับปัญหาเรื่องโลกร้อนตามโรงเรียนต่างๆ ในทุกๆ วันศุกร์ เพราะอยากให้เยาวชนในประเทศได้ตระหนักรู้ถึงปัญหา ไม่โง่เขลาดังเธอในอดีต
และทุกวันศุกร์สิ้นเดือน เธอจะชวนเด็กจากแต่ละโรงเรียนออกมาร่วมประท้วงถือป้าย เรียกร้องให้ผู้ใหญ่ และผู้นำประเทศลงมือแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
นาคาบูเย เชื่อว่าวิกฤตโลกร้อนเป็นปัญหาของทุกคน ผลกระทบมันไม่ได้เกิดขึ้นแต่กับเธอ หรือคนประเทศของเธอ แต่มันเกิดขึ้นทั่วโลก แม้แต่คนในประเทศที่ร่ำรวยก็ต้องเผชิญปัญหานี้
“เตียงของคุณอาจจะสบายในตอนนี้ แต่อีกไม่นาน คุณจะรู้สึกร้อนแบบเดียวกับที่เรารู้สึกอยู่ทุกวัน”
ปัจจุบัน Fridays for Future Uganda มีสมาชิกมากกว่า 53,000 คน และตัวแทนของกลุ่มเริ่มออกมามีส่วนร่วมในระดับนานาชาติอย่างการประชุม COP
ปัจจุบัน นอกจากเป็นนักเคลื่อนไหวแล้ว นาคาบูเย ยังขยับบทบาทตัวเองมาเป็นนักสื่อสาร เริ่มทยอยมีผลงานปรากฏตามสื่อต่างๆ ด้วยชื่อของเธอในฐานะผู้เขียนบทความ
“ฉันถูกจับกุม ข่มขู่ และเรียกผู้ทรยศต่อประเทศของฉันที่ต่อสู้เพื่ออนาคตร่วมกันของเรา”
“แต่ฉันจะไม่หยุดเพราะฉันรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากเราไม่ชนะ”
“ครอบครัวของฉันไม่ได้เป็นเจ้าของฟาร์มอีกต่อไป และฉันไม่ได้เล่นเป็นชาวนาอีกต่อไป”
“แต่ฉันปลูกเมล็ดพันธุ์ด้วยวิธีอื่นแทน”
“ฉันภูมิใจที่ได้เป็นนักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศ ฉันเชื่อว่างานที่เราทำตอนนี้จะเติบโตไปสู่วันพรุ่งนี้ที่สดใสยิ่งขึ้น”
อ้างอิง
A climate change disaster led this shy 24-year-old from Uganda into activism https://shorturl.asia/9umZi
‘Climate crisis is not for whites only’--Ugandan youth activist https://shorturl.asia/JT7zq
‘You Will Soon Feel the Same Heat We Feel Every Day.’ Watch This Powerful Speech From a Young Ugandan Climate Activist https://shorturl.asia/nAkqs
Climate change activist Hilda Nakabuye mobilizing Africa’s youth https://shorturl.asia/zGm89
Insurance Industry Villains That Could be Heroes https://shorturl.asia/Tj5Hd
เผยแพร่ครั้งแรก 21 พฤศจิกายน 2021 แก้ไขเรียบเรียงเพิ่มเติม มีนาคม 2024
โฆษณา