10 มี.ค. เวลา 11:34 • ประวัติศาสตร์

ทำไมแรงของม้าถึงถูกใช้เพื่อบอกความแรงรถ?

ทุกวันนี้ตัวเลขของแรงม้า คือหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้เราตัดสินใจได้ว่า เราจะซื้อรถคันนี้หรือไม่ซื้อ
1
เพราะแน่นอนว่าเครื่องยนต์ขนาด 300 แรงม้า ยังไงตัวรถย่อมต้องแรงกว่าขนาด 200 แรงม้าอยู่แล้ว แต่จุดน่าสนใจไม่ได้อยู่ที่ใครแรงกว่าใคร หากแต่เป็นทำไมถึงต้องใช้คำนี้
1
ทำไมคนสมัยก่อนเลือกใช้ "แรงของม้า" ทั้งๆ ที่สัตว์ที่มีกำลังมากกว่า มีให้เลือกใช้ตั้งเยอะแยะ
ทำไมเขาไม่ใช้แรงของวัว แรงของช้าง หรือแรงของกระทิง?
บทความนี้ WDYMean จะเล่าให้ฟัง
ถ้าลองค้นในวิกิพีเดีย เพื่อหาว่าแรงม้าถูกใช้มาตั้งแต่สมัยไหน คำตอบที่จะได้ก็คือราวๆ ปี 1782 ที่ประเทศอังกฤษ
ส่วนคนที่คิดค้นคำๆ นี้ก็ไม่ใช่ใคร เขาคือวิศวกรชาวสกอตฯ คนหนึ่งที่กำลังจะผันตัวไปเป็นนักการตลาด ชื่อของเขาคือ เจมส์ วัตต์ (James Watt)
ขอแนะนำให้รู้จักกับเจมส์ วัตต์ ครับ
เจมส์ วัตต์ (James Watt)
เจมส์ วัตต์ คือหนึ่งในบุคคลที่สำคัญที่สุดคนหนึ่ง ในช่วงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม เขาต่อยอดเครื่องจักรไอน้ำของโทมัส นิวคอเมน (Thomas Newcomen) ให้ใช้ได้จริง
จนมันสามารถเข้าไปตั้งอยู่ในโรงงาน อยู่ในหัวรถจักร และในเรือกลไฟ ผลที่ตามมาคือทวีปยุโรปทั้งทวีป พลิกชนิดจากหน้ามือเป็นหลังมือ
การมาถึงของเครื่องจักร ทำให้อาวุธจำนวนมากถูกผลิตได้ง่ายดายราวกับร่ายมนต์ สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นจึงเป็นการล่าอาณานิคมอย่างบ้าคลั่งของมหาอำนาจตะวันตก
2
แต่ก่อนที่สิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้น เจมส์ วัตต์ยังเป็นแค่ช่างซ่อมอุปกรณ์การเรียนในมหาวิทยาลัยอยู่เลย
เขาไม่ได้คิดที่จะเปลี่ยนโลก เขาไม่เคยคิดถึงแรงม้า เขาแค่ลองปรับแต่งเครื่องจักรไอน้ำขึ้นมา แล้วกำลังหาวิธีอยู่ว่า จะทำเงินจากมันได้ยังไง
ย้อนกลับไปในปี 1774 ที่เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ
เจมส์ วัตต์ หนุ่มใหญ่วัยสี่สิบต้นๆ กำลังง่วนอยู่กับการปรับแต่งเครื่องจักรไอน้ำในโรงงานของตัวเอง
เดิมทีแล้ววัตต์เป็นคนสกอตแลนด์ครับ แต่เหตุผลที่เขามาอาศัยอยู่บนแผ่นดินใหญ่ มาจากคำชักชวนจากนายทุนชาวอังกฤษคนหนึ่งที่ชื่อ แมทธิว โบลตัน (Matthew Boulton) ซึ่งโบลตันคนนี้ สนใจในเครื่องจักรของวัตต์เอามากๆ
แมทธิว โบลตัน (Matthew Boulton)
แต่เครื่องจักรที่ว่านี้ วัตต์ไม่ได้เป็นคนคิดขึ้นมาเองหรอกนะครับ เมื่อสิบปีก่อนตอนที่เขาทำงานเป็นช่างซ่อมอุปกรณ์การเรียนในมหา‘ลัย เขามีโอกาสได้ซ่อมเจ้าเครื่องจักรไอน้ำชนิดนี้ ก่อนที่จะรู้สึกถูกชะตากับมันโดยไม่รู้ตัว
เขารู้สึกหงุดหงิด ในขณะเดียวกันก็เกิดแรงบันดาลใจ
ที่หงุดหงิดเป็นเพราะเจ้าเครื่องจักรที่ว่านี้ ใช้ถ่านหินเยอะจนเกินเหตุ ถ้าคุณใส่ถ่านลงไปสี่ก้อน ถ่านสามก้อนจะถูกใช้ไปกับการอุ่นเครื่องจักรให้ร้อนขึ้นมาใหม่
3
แต่เจ้าของไอเดียนี้อย่างโทมัส นิวคอเมน (ซึ่งสร้างไว้เกือบ 50 ปีมาแล้ว) ไม่ได้ซีเรียสอะไร ถ้ามันยังตักน้ำออกจากเหมืองได้ เขาก็ถือว่าโอเค
แต่กับวัตต์ไม่ใช่อย่างนั้น เขามองว่าจริงๆ แล้วมันทำให้ดีกว่านี้ได้ ถ้าเขาสามารถลดการใช้ถ่านหินลงได้ แล้วนำไปขาย เมืองที่มีถ่านหินน้อยๆ ก็จะได้ประโยชน์ และเมื่อนั้นเอง เม็ดเงินมหาศาลก็จะหลั่งไหลเข้ามา โดยที่เขาไม่ต้องไปเรียกหามัน
3
นับแต่นั้นมา วัตต์ก็หมกมุ่นอยู่แต่กับการปรับแต่งเครื่องจักรไอน้ำ จนเมื่อผ่านไปสิบปีเขาย้ายมาอยู่อังกฤษและมีนายทุนสนับสนุน
เครื่องจักรของเขาก็เสร็จสมบูรณ์ พร้อมที่จะให้ชาวโลกได้ยลโฉมเสียที
เครื่องจักรไอน้ำของวัตต์
สิ่งที่วัตต์ทำกับเครื่องจักรรุ่นปรับปรุง คือการเพิ่มเครื่องควบแน่นแยก หรือ Separate condenser เข้าไป
ซึ่งเจ้าเครื่องควบแน่นแยกนี้ จะแยกไอน้ำที่เย็นตัวลงแล้วไปอยู่อีกกระบอกหนึ่ง ทำให้กระบอกหลักซึ่งมีลูกสูบทำงานอยู่ ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องถูกรบกวนจากอุณหภูมิของไอน้ำที่เย็นลงแต่อย่างใด
เครื่องจักรของวัตต์ จึงไม่ต้องใช้ถ่านหินในการอุ่นกระบอกให้ร้อนใหม่ ผลคือมันประหยัดถ่านหินที่ใช้ลงไปเกือบครึ่ง โดยที่ประสิทธิภาพยังคงเท่าเดิม
เปรียบเทียบเหมือนมีรถยนต์สองคัน แต่อีกคันกินน้ำมันน้อยกว่า ลูกค้าที่ไหนจะไม่ชอบล่ะ จริงไหม?
วัตต์เองก็คิดแบบนั้น
และทันทีที่ทุกอย่างเข้าที่ โรงงานพร้อมผลิต ก็ได้เวลาที่เขาจะเปิดตัว
(ยกที่หนึ่ง วัตต์ ปะทะ นิวคอเมน)
1
เขตคอร์นวอล (Cornwall) ทางตอนใต้
เครื่องจักรของวัตต์เปิดตัวเป็นครั้งแรกที่เหมืองถ่านหินและดีบุก ในปี 1776
เพียงห้าปีหลักจากนั้น เขาทำยอดได้เกือบทุกเหมืองในเขตคอร์นวอล ทางตอนใต้ แน่นอนว่าภูมิประเทศก็มีส่วนกับยอดขาย
เพราะเขตคอร์นวอลนั้นเป็นพื้นที่ติดทะเล แถมถ่านหินยังมีน้อย ทำให้ต้องนำเข้าถ่านหินจากทางตอนเหนือซึ่งมีราคาแพงหูฉี่ ลูกค้าเดิมของนิวคอเมน จึงเทใจไปให้กับวัตต์แบบไม่ต้องแข่งกับใคร
แต่นั่นแค่ด่านแรก ของจริงมันอยู่ที่ด่านถัดไปต่างหาก
เมื่อนายทุนอย่างโบลตัน เห็นยอดขายของบริษัท เขาก็รู้ได้ทันทีเลยว่าแค่นี้มันยังไม่พอ เพราะตอนนี้เครื่องจักรเราออกสู่ตลาดแล้ว อีกไม่นานก็จะมีคนแห่มาทำตาม เราต้องรีบยึดตลาดอื่นให้ได้ ก่อนที่คู่แข่งหัวใสจะตามทัน
1
คำถามคือ แล้วตลาดไหนล่ะที่เจมส์ วัตต์ จะไปได้?
ถ้าลองไล่เรียงออกมาดูก็น่าจะมี ตลาดทอผ้า ตลาดโม่แป้ง และตลาดไร่ข้าวโพด แต่ทั้งสามตลาดนี้ต้องใช้เครื่องจักรที่ต่างออกไป
คือเดิมทีเครื่องจักรของวัตต์ จะมีลักษณะการเคลื่อนที่ของลูกสูบเป็นแบบ ขึ้นและลง ซึ่งเหมาะกับการวิดน้ำออกจากเหมือง
แต่กับตลาดที่เขาต้องการจะไป ส่วนใหญ่จะเป็นการเคลื่อนที่แบบวนรอบ (Rotary motion) เช่น เครื่องโม่แป้ง หรือเครื่องโม่ข้าว
ที่สำคัญคือ ตัวลูกค้าเอง เขาก็มีเครื่องจักรส่วนตัวที่ใช้การได้ดีอยู่แล้ว เขาจะผสมพันธุ์ หรือจะฝึกมันให้อึดกว่านี้อีกเท่าไหร่ก็ได้
และเครื่องจักรที่ว่านั้นก็คือ “ม้า” นั่นล่ะครับ
และม้านี่เอง คือกำแพงหินผาของวัตต์ในด่านถัดไป
(ยกที่สอง วัตต์ ปะทะ ม้า)
ม้าถูกใช้ไปกับทุกวงการในศตวรรษที่ 18 ด้วยความอึดที่ขึ้นชื่อ แถมยังเลี้ยงง่ายกว่าสัตว์สี่ขาทั่วๆ ไป (ที่อังกฤษไม่มีกระทิง)
1
คนจึงนิยมเลี้ยงม้าไว้ทำไร่ ทำเหมือง ก่อสร้าง เดินทาง ลงแข่ง โม่แป้ง ส่งของ นวดข้าว หรือแม้แต่ตัดยอดหญ้า คือมองยังไงก็รู้ว่าม้าสำคัญกับทุกวงการจริงๆ
วัตต์เองก็รู้
แต่ที่วัตต์ยังไม่รู้ก็คือ แล้วเขาจะทำให้ลูกค้าที่มี “ม้า” เป็นของตัวเองอยู่แล้ว หันมาซื้อเครื่องจักรของเขายังไงดีล่ะ
โชคดีที่ระหว่างกำลังปรับแต่งเครื่องจักร (รอบที่สอง) อยู่นี้เอง ก็มีลูกค้าหลายรายเข้ามาเยี่ยมเยียนเขาถึงโรงงาน เพื่อจะขอซื้อเครื่องจักรไปแทนม้าสักสองสามตัว
คำถามคือ แล้วเครื่องจักรของวัตต์นี่มันแทนม้าได้กี่ตัว?
ไม่รู้
3
คำตอบคือ ไม่รู้
และด้วยความไม่รู้นี้เอง จุดประกายให้เขาต้องค้นหาคำตอบ
1
หลังจากโดนคำถามเหล่านั้นไป เขาตรงไปที่เหมืองเพื่อจะขอยืมม้าสักหนึ่งตัว จากนั้นก็หายไปเป็นชั่วโมง ก่อนจะกลับออกมาพร้อมกับกระดาษใบหนึ่ง
ในกระดาษใบนั้นวัตต์ลองคำนวณเล่นๆ ว่า "ถ้าม้าหนึ่งตัว สามารถหมุนเฟืองยักษ์ที่มีรัศมี 12 ฟุต ได้ 144 ครั้งภายในหนึ่งชั่วโมง (ซึ่งก็คือ 2.4 ครั้งในหนึ่งนาที) โดยที่มีของหนัก 180 ปอนด์ถ่วงอยู่ ถ้าคูณเลขเพื่อหากำลังออกมา ม้าตัวนี้จะใช้กำลังไปราวๆ 33,000 ฟุต-ปอนด์ ต่อนาที"
1
ซึ่งไอ่เลขสามหมื่นกว่าตรงนี้มันคือ แรงของม้า วัตต์เลยตั้งชื่อนี้เป็นหน่วยของเขาเองว่า "แรงม้า" (Horsepower) ในปี 1782
1
และคำว่าแรงม้านี้เอง กลายมาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ให้กับธุรกิจของวัตต์กับโบลตันอย่างแท้จริง
แต่ไม่ใช่เพราะคำนี้มันโก้เก๋ หรืออะไรหรอกนะครับ
แต่เป็นเพราะเมื่อคำนวณออกมาแล้ว เครื่องจักรของวัตต์ทำกำลังได้มากถึงหลักสิบแรงม้า หมายความว่าเครื่องจักรของวัตต์ตัวเดียว แทนม้าได้เกือบสิบตัว!
นั่นทำให้ตลาดอื่นๆ เริ่มหันมาสนใจเครื่องจักรไอน้ำกันมากขึ้น เพราะมันหมายถึงการไม่ต้องเลี้ยงม้าเป็นคอกๆ อีกต่อไป
พาให้เครื่องจักรเข้าไปอยู่ในการทำไร่ อยู่ในการเดินทาง อยู่ในโรงทอผ้า นำมาซึ่งการกำเนิดหัวรถจักร เรือกลไฟ และที่สำคัญที่สุดอย่าง การปฏิวัติอุตสาหกรรม
ทั้งหมดนี้จึงส่งผลให้ "เจมส์ วัตต์" กลายเป็นเศรษฐีเงินล้านในบั้นปลายของชีวิตในที่สุด
แต่ไม่ใข่แค่นั้น
เมื่อเครื่องจักรของเขา เข้าไปแทรกซึมอยู่ในทุกวงการ นั่นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทางที่ดีขึ้น
วัตต์จึงได้รับเกียรติยศมากมายจากคุณประโยชน์ที่เขาทำ ทั้งจากสถาบันในอังกฤษและสกอตแลนด์
1
มีการสร้างรูปปั้นเพื่อรำลึกถึง เมื่อเขาจากไปแล้ว และใช้นามสกุลของเขาอย่าง "วัตต์" เป็นหน่วยในการวัดกำลังทั้งทางกล และทางไฟฟ้า ในวิชาวิศวกรรม
หนึ่งร้อยปีผ่านไป แม้เจมส์ วัตต์ จะจากไปแล้ว แต่หนึ่งในมรดกที่เขาทิ้งไว้อย่างคำว่า "แรงม้า" ยังคงถูกใช้กันอยู่
2
ในวันที่รถยนต์คันแรกถือกำเนิดขึ้นที่ประเทศเยอรมนี แรงม้าจึงถูกใช้วัดกำลังลูกสูบของเครื่องยนต์ แม้เชื้อเพลิงจะไม่ใช่ถ่านหินเหมือนร้อยกว่าปีก่อนแล้วก็ตาม
ปัจจุบันนอกจากคำว่าแรงม้า เรายังมีหน่วยอื่นๆ ที่วัดกำลังของเครื่องยนต์ได้อีก ไม่จะเป็นกิโลวัตต์ (kW) หรือ Pferdestärke (PS, ผมเองก็อ่านไม่ถูก) ที่แปลว่าแรงม้าในภาษาเยอรมัน
แต่ด้วยความที่ตัวเลขของแรงม้า ไม่ได้ถูกคำนวณอย่างละเอียดตั้งแต่แรก ถ้าเราบอกว่ารถคันนี้แรง 400 แรงม้า มันจึงเป็นเหมือน "การตลาด" ที่พอจะให้ผู้บริโภคเห็นภาพ มากกว่าที่จะบอกความแรงของรถจริงๆ
แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การใส่คำว่าแรงม้าเข้ามาอยู่ในการขับขี่ ทำให้นี่กลายเป็นอีกหนึ่งตัวแปร ที่ช่วยให้เราตัดสินใจว่าจะซื้อ หรือไม่ซื้อรถคันนี้ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
1
ขอบคุณเจมส์ วัตต์ นะครับ
ยังไงถ้าหลังจากนี้ได้เห็นคำว่าแรงม้า ก็อย่าลืมนึกถึงชายอายุสี่สิบกว่า ที่กำลังง่วนอยู่กับการหาวิธีขายเครื่องจักรไอน้ำนะครับ
แล้วเจอกันใหม่บทความหน้าครับ
#WDYMean
อ้างอิงจาก
เจมส์ วัตต์ กับเครื่องจักรไอน้ำยอดฮิต
ใครหว่า โทมัส นิวคอเมน?
เล็กๆ น้อยๆ กับแมทธิว โบลตัน
เครื่องจักรไอน้ำมันหน้าตาเป็นยังไง?
อ้างอิงรูปภาพจาก getty images, pixabay, science photo library, google image
โฆษณา