16 มี.ค. เวลา 02:23 • การศึกษา

“แก้หนี้ครู..แก้กันมาชั่วชีวิต”

----------------------
       ครู 900,000คน(ในราชการและบำนาญ) มีหนี้ 1.4 ล้านล้านบาท ในจำนวนคนเหล่านี้ 70% เป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู  จึงตกกระไดพลอยโจนเป็นจำเลยถูกหาว่า “ครูเป็นหนี้สหกรณ์ฯ“เยอะ
หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ส่วนใหญ่มีเป้าหมายเวลาชำระหมด มีจำนวนเงินผ่อนชำระได้ตามกำลังไม่ค่อยเสี่ยงกับการหนี้สูญ ชำระหนี้กันไปจนกว่าจะตายจากกันไป หากตายก็จะหักเงินสวัสดิการยามตาย เงินหุ้น เงินฝากเงินประกันต่างๆ ชำระหนี้กันไป ซึ่งก็มีพอให้ทายาทได้รับอานิสงส์จากเงินคงเหลือไว้กินไว้ใช้มั่ง คงมีบางส่วน(ไม่มากนัก) ที่คนหนี้สินจนปริ่มน้ำหรือกำลังจะจมน้ำตาย ซึ่งก็ต้องจัดการกันเป็นรายๆไปตามสาเหตุที่มี
1
สาเหตุสำคัญของการเป็นหนี้สหกรณ์ก็เป็นที่รู้ๆกันอยู่ เช่น
           1.มีความจนยาวเป็นกรรมพันธ์ุมาตั้งแต่เกิด บวชตัวเอง/บวชลูกชาย ส่งลูกเรียน แต่งงานลูกเต้า สร้างบ้าน คำเดียวที่(ไม่ค่อย)ปรารถนาอย่างจำใจคือ “กู้(สหกรณ์)แล้วกู้อีก” ชีวิตนี้หากไม่มีสหกรณ์ก็ไร้ความหมายทีเดียว
2.เพื่อนสมาชิกสหกรณ์ด้วยกันให้เซ็นค้ำประกันให้(นับล้าน-หลายล้าน)เกรงจะเสียเหลี่ยมลูกกำนัน เลยต้องกู้มั่ง ค้ำประกันกันเป็นหลายเส้า เป็นเหรียญ 2 ด้าน
             2.1 บ้างก็ราบรื่นเรียบร้อยปลอดการเบี้ยวหนี้
            2.2 บ้างก็ถูกเบี้ยวหนี้ คู่ค้ำประกันทิ้งหนี้ไว้ให้ จะต่อสู้เป็นความขึ้นโรงขึ้นศาลก็เกียจคร้านรำคาญจึงยอมผ่อนชดใช้น้ำตารินรดหัวใจที่คั่งแค้น ถือว่าเป็นคราวซวยไป ชาติก่อนคงเอาของเขามา ชาตินี้จึงถูกเอาคืน ปลอบใจตัวเองเพื่อความสบายใจ
3.ถูกปลอมลายมือชื่อไปทำสัญญากู้ จัดเป็นคนซวยประจำแผ่นดิน ส่วนใหญ่จะมีคนรู้เห็นเป็นใจมีเอี่ยวด้วย
       4.ใช้วิชามาร รู้เห็นเป็นใจกันหลายฝ่าย “ไม่ระบุรายการหักเงินในสลิปเงินเดือน” เพื่อให้ตัวเลขมีเงินเหลือเยอะสักสองสามเดือน พอมีเงินเหลือเยอะก็มีสิทธิ์กู้เงินได้เยอะ  ยิ่งถ้ามีโปรโมชั่นให้กู้ได้หลายสัญญาเพื่อการโน่นนี่นั่นยิ่งสบายโก๋ ขอให้กู้ได้เหอะเป็นเอาทั้งนั้น
5.กู้เพราะ want(อยาก)
มากกว่าเพราะ needs(จำเป็น)
กู้เพราะ want ส่วนใหญ่เพื่อการบริโภค เช่น เที่ยวเตร่ ซื้อของกินของใช้และของโชว์ ใช้แล้วก็หมดไป ไม่มีรายได้เพิ่มเติมต่อยอด ผ่อนชำระหมดแล้วก็วนกลับมากู้อีก  แต่ถ้ากู้เพราะ needs ส่วนใหญ่จะเพื่อการลงทุน เช่น การศึกษา ซื้อที่ดิน ซื้อ/สร้างบ้าน เครื่องจักร ทำธุรกิจ/กิจการ กู้แบบนี้จะมีเงินงอกงามเพิ่มขึ้น แต่กู้ทั้งสองอย่างหนี้มันมี “ความคาราคาซัง”ในการผ่อนชำระ
6.กู้ผลิตภัณฑ์อื่นเพิ่มเติมนอกเหนือการกู้สหกรณ์ ได้แก่
             6.1 กู้ธนาคาร ทำให้หนี้เพิ่มขึ้น รายได้ไม่พอหักชำระ
             6.2 กู้สวัสดิการสงเคราะห์ศพ เช่น ช.พ.ค. มีกู้กันเยอะเหมือนกัน จนมีเรื่องเล่าเป็นตำนานชนิดอภิมหากาพย์ทีเดียว
6.3 กู้เงินบำเหน็จตกทอด มีคนกู้กันตามจำเป็นสำหรับผู้ได้รับรองสิทธิ์ในการได้รับบำเหน็จตกทอด เหมาะสำหรับคนไม่มีคู่สมรสหรือทายาทตามกฎหมาย
             6.4 กู้เงินนอกระบบ เสีย
ดอกเบี้ยเยอะ  คนกู้มักจนแต้มถึงทางตัน ไม่มีทางเลือกอื่น หากเอาตัวไม่รอดก็ชิ่งหลบลี้หนีหน้าไปเลย ขืนอยู่ก็จมปลักระทมนาน
รัฐบาลหลายคณะพยายามทำโครงการแก้หนี้ครูมาตลอด บางคณะก็จัดโรดโชว์กันบะละฮึ่ม แต่สุดท้ายก็ได้ไม่เป็นเนื้อเป็นหนัง วิธีการที่ทำกันมา เช่น
          1.หาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้  หาได้มั่งไม่ได้มั่ง เพราะดอกเบี้ยมันไม่เข้าใครออกใคร สถาบันการเงินหากได้ดอกเบี้ยต่ำเกินก็คงอยู่ยาก สภาพจึงเป็น “อยากได้ ไม่ค่อยมีใครอยากให้”
2.นายทะเบียนสหกรณ์
(อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์)ทำหนังสือถึงสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ ขอให้ลดดอกเบี้ยเงินกู้เป็นร้อยละ 4.75  สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นนิติบุคคล จะมีสักกี่แห่งที่ทำตามคำขอ เพราะสหกรณ์มีคณะกรรมการดำเนินการมีความเป็นอิสระในการตัดสินใจ ตามกรอบกฎหมาย ต่างก็ตั้งเป้าหมาย “กำไรสุทธิ”แต่ละปีที่มียอดสวยสดงดงามด้วยกันทั้งนั้น
3.สั่งให้เขตพื้นที่การศึกษาประสานความร่วมมือกับฝ่ายต่างๆให้มีการเคลียร์หนี้ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ มีการปรับสัญญาใหม่ให้ลูกหนี้มียอดเงินชำระน้อยลงมีระยะเวลาหายใจยาวขึ้น แข็งขันเอาจริงเอาจังมากโดยให้มีการรายงานทุกเดือน  ซึ่งเป็นที่น่าเห็นใจผู้ปฏิบัติเพราะ “พูดง่าย ทำยาก”
ครูที่เป็นหนี้มิได้หมายว่าจะให้ใครมาแก้ปัญหาหนี้สินให้ทุกคนไป ส่วนใหญ่เป็นหนี้แต่มีศักยภาพในการชำระหนี้พอมีพอเป็น การประกาศเป็นโครงการใหญ่ยักษ์จับมาเป็นปัญหาเพื่อแก้ไข หัวอกครูที่เขามิได้เรียกร้องให้ทำก็ต้องคำนึงให้มาก เพราะ
“เกียรติยศและศักดิ์ศรีของครู”ไม่มีใครอยากให้มัวหมอง สำหรับครูที่เป็นหนี้เกินกำลังแม้จะน่าเห็นใจ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเหตุที่เป็นเช่นนั้นเกิดจากตนเองเป็นสำคัญ ปรับพฤติกรรมการใช้เงิน ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ เป็นหนี้ก็ต้องรับผิดชอบชดใช้ จะให้ใครมาแบกรับก็ยากอยู่ มิฉะนั้นระบบสังคมก็พัง
ยังมีความเชื่อมั่นว่า “ครูที่เป็นหนี้มิได้สิ้นไร้ไม้ตอกจนต้องผลักหนี้ออกจากอกให้คนอื่นต้องมาแบกรับ”หรอก
      ใครๆมาเป็นใหญ่พอบริหารก็เยิ้วๆอยู่กับเรื่องหนี้สินครู ไม่รู้ว่ามีเสน่ห์อะไรนักหนา แก้กันมาชั่วชีวิต..ยิ่งแก้ยิ่งยุ่งเป็นลิงแก้แห หนี้ก็ยังไม่หมดสักที เพราะ“มัวไปแก้ในสิ่งที่ไม่ต้องแก้”
------------------
ภิรมย์ นันทวงค์ ..เขียน
(ขอบคุณภาพประกอบจากกูเกิล)
โฆษณา