15 มี.ค. เวลา 01:00 • ข่าวรอบโลก

ตายปีละแสนตัว ประมง มลพิษ ถูกใช้เป็นเหยื่อ ภัยคุกคามโลมาและวาฬขนาดเล็ก

การล่าสัตว์ทะเลอย่างพวกโลมา พอร์พอยส์ หรือวาฬขนาดเล็ก (ขนาดไม่เกิน 4 เมตร) อาจเป็นที่รู้จักกันในฐานะแหล่งอาหารของชนพื้นเมืองหลายแห่ง
ปัจจุบันยังปรากฏพบอยู่ในแคนาดา เดนมาร์ก หมู่เกาะแฟโร กรีนแลนด์ ญี่ปุ่น นอร์เวย์ และสหรัฐอเมริกา
และล่าได้เพียงตามจำนวนที่กำหนด
หากแต่ในความเป็นจริง นอกจากการล่าเพื่อยังชีพแล้ว สัตว์น้ำกลุ่มนี้ยังเผชิญกับภัยคุกคามอื่นๆ อีกหลายอย่าง
ที่สามารถสรุปตัวเลขได้เร็วๆ ว่าอาจมีสัตว์น้ำกลุ่มนี้ตายสูงถึงหนึ่งแสนตัวต่อปี
โดยพบการจับสัตว์กลุ่มนี้เพิ่มขึ้นในบราซิล แคนาดา หมู่เกาะแฟโร กานา กรีนแลนด์ อินโดนีเซีย ไนจีเรีย หมู่เกาะโซโลมอน ศรีลังกา ไต้หวัน และเวเนซุเอลา
สาเหตุหนึ่งแน่นอนว่าย่อมหนีไม่พ้นการทำประมงที่อาจบังเอิญจับสัตว์กลุ่มนี้ขึ้นมาระหว่างลากอวนจับปลาชนิดอื่นๆ
ชาวประมงบางรายอาจใจดีปล่อยพวกมันให้กลับไปใช้ชีวิต
แต่ไม่ทุกคนที่คิดอย่างนั้น
กฎหมายบางประเทศยังอนุโลมให้ใช้ประโยชน์จากสัตว์ที่จับมาโดยไม่ตั้งใจ (หากไม่ได้จับในพื้นที่คุ้มครอง) สัตว์น้ำหลายตัวจึงมีชะตากรรมสุดท้ายจบลงที่ตลาดสด
แต่ที่น่ากังวลกว่าคือการจงใจล่า
ในเวเนซุเอลา พบว่า ปัญหาวิกฤตเศรษกิจทำให้คนหันไปกินเนื้อโลมากันมากขึ้น จากการลักลอบล่าและขายกันในราคาถูก
ขณะที่ในแอฟริกาตะวันตก ปัญหาการทำประมงเกินขนาดจนทำให้สัตว์น้ำลดน้อยลง ชาวประมงจึงหันมาล่าโลมาเป็นการทดแทนกันมากขึ้น
นอกจากล่าเพื่อกิน ในรายงานกล่าวว่ามีเรือประมงจำนวนไม่น้อยตั้งใจจับสัตว์กลุ่มนี้ เพื่อใช้ทำเหยื่อจับปลาชนิดอื่นๆ แทน
ซึ่งพบเห็นเด่นชัดในแอฟริกาตะวันตกและเอเชีย ที่มีการใช้เนื้อโลมาเป็นเหยื่อตกปลาฉลามเพิ่มสูงขึ้น เพราะเนื้อโลมาจะทนเป็นพิเศษในน้ำเค็ม ทำให้เหมาะสำหรับการลากเป็นเหยื่อล่อ
เรื่องนี้อ้างอิงจากการให้ปากคำของคนบนเรือล่าฉลามของไต้หวันและเกาหลีใต้ สามารถอ่านได้ที่ https://shorturl.asia/hD14b
อีกสาเหตุหนึ่งที่พรากชีวิตพวกโลมา พอร์พอยส์ หรือวาฬขนาดเล็ก (ขนาดไม่เกิน 4 เมตร) คือมลพิษในทะเล ที่พบสารปรอทปนเปื้อนอยู่ในตัวสัตว์
 
สารพิษเหล่านี้ อาจไม่ฆ่าชีวิตในทันที แต่เมื่อถูกสะสมไปมากๆ ก็ย่อมปรากฏผลในวันหนึ่ง
และปัญหาสารพิษที่ยังเชื่อมโยงมาถึงเรื่องการกินของคน
ซึ่งกำลังมีการสืบสวนอยู่ว่า เด็กๆ ในหมู่เกาะแฟโรมีปัญหาเรื่องพัฒนาการ ที่อาจเกิดมาจากการกินสัตว์ที่มีสารพิษของแม่ที่กำลังตั้งครรภ์
ในประเทศไทยก็เคยมีการเตือนถึงเรื่องนี้ ตามที่พบว่าฉลามในน่านไทย มีสารปรอท แคดเมียม สารหนู
ซึ่งถ้าหากเราทานจนสะสมในร่างกายมากๆ อาจส่งผลต่อโรคมะเร็ง โรคเกี่ยวกับหัวใจ หลอดเลือด และโรคเกี่ยวกับระบบประสาทได้
ในแง่ของมลพิษยังหมายถึงการทำให้ถิ่นที่อยู่อาศัยเสื่อมโทรมลงจนอยู่ไม่ได้ ดังที่ปรากฏในกรณีโลมาอิรวดีในแม่น้ำโขง
การควบคุมและพัฒนากฎหมายให้เข้มแข็งคือปัจจัยสำคัญที่จะลดภัยคุกคามการล่าสัตว์กลุ่มนี้ลงได้
แต่จะเกิดและปฏิบัติจริงได้เมื่อไหร่ไม่มีใครรู้
ตามที่บางประเทศอนุโลมให้ใช้ประโยชน์จากสัตว์น้ำที่ไม่ตั้งใจจับได้ แต่ในความเป็นจริง น้อยนักที่เรือประมงจะรายงานว่าจับสัตว์แบบผิดกฎหมายได้
คาดว่าส่วนมากมักปกปิด หมกเม็ด ลักลอบ หลบซ่อน
ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลที่ว่า “มีสัตว์น้ำกลุ่มนี้ตายสูงถึงหนึ่งแสนตัวต่อปี” อาจเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง เป็นประมาณการที่ต่ำ
มันอาจมีมากกว่าหนึ่งแสน เป็นสองแสนหรือสามแสนก็เป็นได้
และในรายงานยังไม่ได้กล่าวถึงปัญหาโลกเดือด หรือมลพิษพลาสติกในทะเล ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำร้ายสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ให้วายชนม์เพิ่มมากขึ้น
ในช่วงทศวรรษ 1970 โลกได้เห็นการล่มสลายของวาฬขนาดใหญ่เนื่องจากการล่าวาฬในภาคอุตสาหกรรม
แต่ในทศวรรษที่ 2020 เราอาจได้เห็นการล่มสลายของสายพันธุ์ขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น
อ้างอิง
Small Cetaceans - Even Bigger Problems An updated global reviews of directed hunt on small whales, dolphins and porpoises https://shorturl.asia/qFwaN
“กรมทะเลและชายฝั่ง” สั่งตรวจสอบกรณีโพสต์ขายปลาฉลามหนาม-ปลานกแก้ว วอนหยุดสนับสนุน ซื้อ-ขาย เพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล https://shorturl.asia/PE2M7
โฆษณา