19 มี.ค. เวลา 23:33 • สุขภาพ

เดือนรอมฎอนแบบนี้ ใช้ยาเบาหวานอย่างไรให้ปลอดภัย

ในช่วงเดือนรอมฎอนหรือเดือนบวช ผู้นับถือศาสนาอิสลามจะถือศีลอด งดรับประทานอาหารและเครื่องดื่มตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก ดังนั้นการรับประทานยาหรือการใช้ยาจึงต้องปรับเปลี่ยนเวลารับประทานหรือปรับขนาดยาด้วย โดยเฉพาะยาที่มีการออกฤทธิ์สัมพันธ์กับการรับประทานอาหารหรือระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ยาเบาหวานบางกลุ่มสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น อาการน้ำตาลตก (hypoglycemia) ซึ่งในเดือนรอมฎอนจะมีการปรับเปลี่ยนเวลาการรับประทานอาหาร ทำให้การรับประทานยาต้องมีการปรับเปลี่ยนด้วยเช่นกัน เพื่อให้สอดคล้องกับกิจวัตรของผู้ป่วย และหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้
ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีกลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกัน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการถือศีลอด โดยแพทย์จะประเมินความพร้อมของร่างกาย ความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน อาการข้างเคียงจากยา ขนาดมื้ออาหารที่รับประทาน กิจกรรมระหว่างวัน และให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนการใช้ยาสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยยาลดน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานแบ่งได้เป็นหลายกลุ่ม
โดยเฉพาะ
ยากลุ่ม Sulfonylureas เช่น Glimepiride (ตัวอย่างชื่อการค้า Amaryl®), Gliclazide (ตัวอย่างชื่อการค้า Diamicron MR®), Glipizide (ตัวอย่างชื่อการค้า Minidiab®, Dipazide®), Glibenclamide (ตัวอย่างชื่อการค้า Daonil®, Sugril®)
และ ยากลุ่ม Biguanides ได้แก่ Metformin (ตัวอย่างชื่อการค้า Glucophage® , Metformin®) ที่ต้องระมัดระวังในการใช้ในช่วงเดือนรอมฎอน
สำหรับผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาในระหว่างเดือนรอมฎอน จำเป็นต้องปรับยาบางมื้อให้เข้ากับจำนวนมื้อและเวลาอาหารที่เปลี่ยนไป กล่าวคือ ยาทั่วไปที่รับประทานวันละ 1-2 ครั้ง ในช่วงก่อนหรือหลังอาหารมื้อเช้าให้มากินก่อนหรือหลังอาหารก่อนถือศีลอด ส่วนยาที่รับประทานในช่วงก่อนหรือหลังอาหารมื้อเย็นให้ไปรับประทานหลังละศีลอดโดยยาที่รับประทานก่อนอาหารเย็นสามารถรับประทานร่วมกับการละศีลอดด้วยอินทผลัมและน้ำได้ จากนั้นจึงไปละหมาดแล้วกลับมารับประทานอาหารตามปกติ
ขณะที่ยาที่ต้องรับประทานวันละ 3 ครั้ง หากเป็นยาที่ใช้รักษาโรค ไม่ใช่ยาตามอาการ ไม่ควรหยุดยา หากจำเป็นต้องหยุดจริงๆ ควรปรึกษาแพทย์
นอกจากนี้ การถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอน อาจก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนบางประการได้ เช่น โรคอาหารเป็นพิษ และโรคอุจจาระร่วงอย่างแรง อันเกิดจากการรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่ไม่สะอาด จึงควรระมัดระวังในการรับประทานอาหารให้มากขึ้น ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ไม่ควรรับประทานอาหารหวาน มันมากเกินไป โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน หากมีอาหารที่ทำเก็บไว้ค้างคืนควรเก็บไว้ในตู้เย็นและก่อนกินอาหารควรอุ่นด้วยความร้อนให้เดือด
โดยหากมีอาการถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ 3 ครั้งขึ้นไป ภายใน 24 ชั่วโมง ควรดื่มน้ำผสมน้ำตาลเกลือแร่ หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว
ตามซุนนะฮฺมีการละศีลอดด้วยผลอินทผลัมและน้ำเปล่า มีข้อมูลทางการแพทย์พบว่า อินทผลัม 1 ขีด (100 กรัม) จะให้ใยอาหาร (dietary fiber) ประมาณ 50-100% ของปริมาณที่ควรจะได้รับในแต่ละวันแล้ว นอกจากนี้ในอินทผลัมยังมีน้ำตาลฟรุคโตส ซึ่งดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างช้า ๆ และยังมีค่า glycemic index ต่ำ ทำให้ระดับน้ำตาลไม่ขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินไป
ในระหว่างถือศีลอด ผู้ป่วยเบาหวานอาจจะต้องเพิ่มความถี่ในการตรวจน้ำตาลในเลือด หรือสังเกตอาการของภาวะน้ำตาลตกให้ดียิ่งขึ้น หากมีอาการน้ำตาลตกบ่อยครั้ง อาจต้องพิจารณายกเลิกการถือศีลอดไปชั่วคราว นอกจากนี้อาจจะต้องระวังในเรื่องระยะเวลาและความแรง (intensity) ในการออกแรงทำงาน หรือออกกำลังกายมากกว่าปกติ หลังหมดเดือนรอมฎอนไปแล้ว 2-3 วันยังต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกัน
อ้างอิง
แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2566
Recommendations for management of diabetes during Ramadan
โฆษณา