17 มี.ค. เวลา 15:40 • ความคิดเห็น

Prejudice. ความอคติ หรือ ความลำเอียง

ในวัยเด็กของตัวผู้เขียนเองไม่ค่อยได้พบเจอกับความอคติ ลำเอียง มากเท่าที่ควร แต่ก็จะมีเรื่องที่เจอในสังคมโรงเรียนทั่วๆไป อย่างการคบเพื่อนแบบเป็นกลุ่มก้อน มองคนกลุ่มอื่นว่าต่างจากกลุ่มตัวเอง การแบ่งประเภทเด็กเรียน เด็กไม่เรียนออกจากกัน ซึ่งถือว่าเป็นการอคติ ลำเอียง ในรูปแบบกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่ร้ายแรงมากนัก แต่ก็เป็นเรื่องที่พบเจอได้มากมายเช่นกันในวัยสังคมเริ่มต้น ความหนักเบาของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน แต่ด้วยความเป็นเด็กอาจจะทำให้เราไม่ได้คิดถึงมันมากจนเกินไป
เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่และช่วงทำงาน เรื่องของความอคติ ลำเอียง กลับเป็นเรื่องที่สามารถสร้างบาดแผลให้กับจิตใจของเราได้มากขึ้น อันเนื่องมาจากความชัดเจน ความเข้มข้น และความรุนแรงของความอคติ ลำเอียง ที่มีมากขึ้นตามช่วงอายุ เรียกว่าในสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำ มีคนมีอำนาจ และบางเรื่องที่ผิดสามารถกลับกลายเป็นเรื่องที่ถูกได้
สิ่งเหล่านี้สร้างความแตกแยกในสังคม สร้างแผลใจ โดยลืมตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ของเราทุกคน ความไม่รู้เท่าทันว่าแต่ละคนมีเบื้องหลัง พื้นฐานชีวิต และประสบการณ์ที่พบเจอมาว่าแตกต่างกันอย่างไร
ความอคติ ลำเอียง (Prejudice) คือ การใช้ประสบการณ์ และความคิดเห็นส่วนตัวของเราในการประมวลผลว่าคนแบบไหนที่พอจะเหมือนกับเรา พอจะคบกันได้ คนแบบนั้นที่ต่างจากเรา หรือไม่เข้าพวก โดยที่ไม่ได้ใช้เหตุผลในการตัดสินใจเป็นหลัก แต่ใช้ความเชื่อส่วนตัวทั้งในเรื่องของรูปลักษณ์ภายนอก สีผิว ฐานะ ระดับการศึกษา เพศ เชื้อชาติ ตำแหน่งหน้าที่การงาน อาชีพที่ทำ และอื่นๆ มาจำแนกเป็นคนแต่ละกลุ่ม แต่ละประเภทตามความคิดและสิ่งที่พบเจอมาของตัวเอง หรือเรียกง่ายๆว่าเป็นการเหมารวมนั่นเอง
ซึ่งความอคติ ลำเอียง นั้น เป็นธรรมชาติของมนุษย์ เพื่อเอาตัวรอดในสังคม โดยคนอย่างเราๆอาจจะมีการอคติ ลำเอียง โดยทั้งที่ตัวเองรู้ตัว หรือไม่รู้ตัว ก็ได้
อย่างการเข้าข้างเพื่อนของเราเมื่อเพื่อนของเราโดนรังแกกลับเป็นสิ่งที่ดีกว่าที่เราควรทำ แต่ถ้าเพื่อนทำผิดแล้วเรากลับไปปกป้องเพื่อน และโยนความผิดให้เหยื่อหรือคนที่เราไม่ชอบ อิจฉา หรือต่างจากเรา กลับเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเลยจะดีกว่า เพราะทำให้สังคมบิดเบือน สิ่งที่ควรผิดกลับไม่ผิด สิ่งที่ควรถูกกลับไม่ถูก และอาจทำให้คนที่ผิดกล้าที่จะทำผิดต่อไปเรื่อยๆ และเป็นการสร้างแผลทางจิตใจให้กับผู้ที่เป็นแพะรับบาปได้
หรือแม้กระทั่งในเรื่องของ Omission ซึ่งหมายถึง การกระทำของคนที่มีอำนาจ หรือกลุ่มคนที่มีอำนาจในสังคมนั้นๆ กีดกีนคนที่ด้อยกว่า หรือต่างจากพวกให้อยู่คนเดียว หรือให้ถูกมองว่าไม่มีใครให้ค่า ไม่สนใจคนคนนั้น ละเลย หรือไม่ให้ความสำคัญ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่พบได้มากมายโดยเฉพาะในที่ทำงาน และสังคมหลายๆภาคส่วน
ไม่ว่าจะเป็น Prejudice หรือ Omission ทั้งสองอย่างต่างก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีทั้งนั้น เพราะถือว่าเป็นการแบ่งแยก ตัดสินคนเหล่านั้นล่วงหน้า (Prejudgement) โดยที่ยังไม่รู้จักเค้าดีพอ และเมื่อมาอยู่ร่วมกันก็อาจจะไม่ลงรอย ไม่สามัคคีกัน ทำให้เป้าหมายบางเรื่องที่คนในทีมหรือคนในสังคมนั้นๆตั้งไว้อาจจะไม่บรรลุผลสำเร็จได้อย่างที่ควรจะเป็น เพียงเพราะมีเรื่องของอคติที่เป็นเส้นบางๆกั้นอยู่
ดังนั้นเราควรละวางอคติลง โดยฝึกให้ใจของเราเป็นกลาง มีความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจในสถานการณ์ของคนที่ต่างจากเรา โดยไม่ตัดสิน แต่ควรให้โอกาสในการได้เปิดใจ สื่อสารกัน เพื่อทำความเข้าใจแต่ละฝ่ายกันมากขึ้น โดยให้ทำเท่าที่จะทำได้ เคารพความแตกต่างในหลายๆด้านหลายๆแง่มุม ให้ฟังสิ่งที่อีกฝ่ายพูด และลดความเชื่อในสิ่งที่เราเชื่อหรือคิดเอง ก็อาจจะทำให้บางเรื่องดีขึ้นได้
โฆษณา