18 มี.ค. เวลา 03:23 • ประวัติศาสตร์

ประชาชนส่วนใหญ่พร้อมหรือไม่สำหรับประชาธิปไตย ในปี 2475

.
ประเด็นนี้เป็นหนึ่งในประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก บางฝ่ายก็ว่าพร้อม บางฝ่ายก็ว่าไม่ ต่างยกเหตุผลด้านต่าง ๆ ไม่ว่า จะการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ ขึ้นมาโต้แย้ง
เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีการสำรวจความคิดเห็น หรือ Poll ที่ชัดเจน เราคงต้องหาหลักฐานมาอนุมานเอา
หลักฐานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งที่จะตอบคำถามนี้ได้คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475
เพราะฉบับนี้เป็นฉบับที่ทางคณะราษฎรซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่พร้อมสำหรับประชาธิปไตยที่สุดกลุ่มหนึ่งร่างเอาไว้ก่อนทำการปฏิวัติ ฉะนั้นจึงไม่มีการประนีประนอมกับฝ่ายอื่น เรียกได้ว่า เป็นเป้าหมายของคณะราษฎรที่แท้จริง
.
"มาตรา ๑๐ สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นไปตามกาลสมัยดั่งนี้
สมัยที่ ๑
นับแต่วันใช้ธรรมนูญนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะถึงเวลาที่สมาชิกในสมัยที่ ๒ จะเข้ารับตำแหน่ง ให้คณะราษฎร ซึ่งมีคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้อำนาจแทน จัดตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราวขึ้นเป็นจำนวน ๗๐ นายเป็นสมาชิกในสภา
สมัยที่ ๒
ภายในเวลา ๖ เดือน หรือจนกว่าการจัดประเทศเป็นปกติเรียบร้อย สมาชิกในสภาจะต้องมีบุคคล ๒ ประเภททำกิจการร่วมกัน คือ
ประเภทที่ ๑ ผู้แทนซึ่งราษฎรจะได้เลือกขึ้นจังหวัดละ ๑ นาย ถ้าจังหวัดใดมีสมาชิกเกินกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน ให้จังหวัดนั้นเลือกผู้แทนเพิ่มขึ้นอีก ๑ นายทุก ๆ ๑๐๐,๐๐๐ นั้น เศษของ ๑๐๐,๐๐๐ ถ้าเกินกว่าครึ่ง ให้นับเพิ่มขึ้นอีก ๑
ประเภทที่ ๒ ผู้เป็นสมาชิกอยู่แล้วในสมัยที่ ๑ มีจำนวนเท่ากับสมาชิกประเภทที่ ๑ ถ้าจำนวนเกิน ให้เลือกกันเองว่า ผู้ใดจะคงเป็นสมาชิกต่อไป ถ้าจำนวนขาด ให้ผู้ที่มีตัวอยู่เลือกบุคคลใด ๆ เข้าแทนจนครบ
สมัยที่ ๓
เมื่อจำนวนราษฎรทั่วพระราชอาณาเขตต์ได้สอบไล่วิชชาปถมศึกษาได้เป็นจำนวนเกินกว่าครึ่ง และอย่างช้าต้องไม่เกิน ๑๐ ปีนับแต่วันใช้ธรรมนูญนี้ สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นผู้ที่ราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นเองทั้งสิ้น สมาชิกประเภทที่ ๒ เป็นอันไม่มีอีกต่อไป"
.
จะเห็นได้ว่าที่ระบุในมาตรา 10 นั้น
สมัยที่ 1 คือช่วงที่สถานการณ์ยังไม่ปกติดี
สมัยที่ 2 คือช่วงที่สถานการณ์เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ
สมัยที่ 3 คือช่วงที่ระบอบใหม่มั่นคงแล้ว
ถ้าเราจะเอาแต่เฉพาะสมัยที่ 3 มาวิเคราะห์มุมมองของคณะราษฎร จะได้ออกมาดังนี้
1.สภาที่คณะราษฎร ต้องการคือ สภาที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
2.ประชาชนต้องผ่านระดับประถมศึกษาครึ่งหนึ่งของทั้งหมด อย่างต่ำไม่เกิน 10 ปีหลังวันประกาศใช้
จากสองข้อที่กล่าวมาข้างต้นแสดงว่า แม้แต่มุมมองของคณะราษฎรผู้ร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 ก็เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย
จึงไม่กล้าเสี่ยงที่จะให้คนที่ยังมีความรู้ไม่ถึงเกณฑ์แบบที่ประชาชนในประเทศประชาธิปไตยในยุโรปกำหนดชะตาด้วยการเลือกตั้ง
เพราะสมาชิกคณะราษฎรต่างเคยใกล้ชิดกับประเทศประชาธิปไตย คงพอคาดการณ์ได้ว่า ถ้าฝืนทำจะเกิดผลเสียอะไรตามมา
หากว่าประชาชนไทยส่วนใหญ่พร้อมจริง ทำไมไม่บัญญัติให้เลือกตั้งสมาชิกสภาทั้งหมดทันทีที่ทำได้ ต้องรออะไรอีกหลายปี
อ้างอิง
ภาพปก พระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านคำประกาศคณะราษฎร ที่มา Wikimedia Commons
โฆษณา