10 เม.ย. เวลา 05:00 • ความคิดเห็น

Arrival Fallacy เมื่อชีวิตตั้งเงื่อนไข "ความสุขมักมาทีหลัง"

หากคุณกำลังไม่มีความสุขกับสิ่งที่ทำอยู่ ลองมาทำความเข้าใจกับ Arrival Fallacy เมื่อความสุขมักมาทีหลัง
ขอเกริ่นก่อนว่า ได้รู้จักคำนี้จากเพจหนึ่งในเฟสบุ๊คที่กล่าวถึงซีรีย์เกาหลีที่มีชื่อว่า Doctor Slump นำแสดงโดย พัก-ฮยองชิก (Park-Hyung Sik) และ พัก ชิน-ฮเย (Park-Shin Hye)
เนื้อเรื่องในซีรี่ส์เป็นเรื่องราวของสองตัวละคร พระเอกและนางเอกที่มีความฝันคือการเป็นแพทย์ ซึ่งในตอนมัธยมปลายทั้งคู่ก็เป็นคู่ปรับกันมาตลอด แต่เมื่อโตขึ้นทั้งคู่ก็ได้เป็นแพทย์ตามที่หวัง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พระเอกผ่าตัดผิดพลาดคนไข้เสียชีวิต ทำให้ตัวเองมีภาวะ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) ส่วนนางเอกก็เป็นโรคซึมเศร้า
ซีรีส์เกาหลี Doctor Slump หัวใจหมอไม่มอดไหม้
คำว่า Arrival Fallacy เกี่ยวอะไรยังไงกับซีรีย์เรื่องนี้?
ถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นว่านางเอกตั้งใจเรียนมากเพื่อที่จะทำเป้าหมายของตัวเองให้สำเร็จนั่นก็คือ การเป็นแพทย์ซึ่งนางเอกก็สามารถทำมันได้ และเมื่อเป็นแพทย์เธอก็มีเป้าหมายต่อไปอีกก็คือการเป็นอาจารย์ แต่ระหว่างทางเธอกลับเป็นซึมเศร้า เพราะเจอกับสภาพแวดล้อมที่หัวหน้าไม่เห็นค่าและด้อยค่าเธอ
การมีเป้าหมายใหม่อยู่เสมอเป็นเรื่องที่ดี แต่หากเราเอาความสุขไปผูกกับความสำเร็จ เมื่อนั้นเราก็จะมีความสุขยากขึ้น เพราะเมื่อเราทำเป้าหมายไม่สำเร็จสักที เราก็ไม่สามารถมีความสุขได้เลยหรือ?
Arrival Fallacy เป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่งที่ Dr. Tal Ben-Shahar ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเชิงบวก จบจากมหาวิทยาลัย Harvard ได้กล่าวไว้ว่า เป็นความเข้าใจผิดที่ผู้คนคิดว่าความสำเร็จหรือการบรรลุเป้าหมายจะทำให้พวกเขามีความสุข หรือพูดให้ง่ายคือ เอาความสุขผูกไว้กับความสำเร็จ ทั้ง ๆที่ความจริงแล้วเราสามารถมีความสุขได้ตลอดเวลา
ผลของความเข้าใจผิด
1. เครียด เพราะในบางครั้งเป้าหมายของเราในครั้งนั้นยากหรือเป็นเป้าหมายที่ใหญ่มาก เมื่อการจะไปถึงเป้าหมายล่าช้า ตัวเราก็เริ่มเกิดความเครียดและกดดันตัวเอง
2. Burn out หลังจากเราเกิดความเครียดสะสมเป็นเวลานาน เราก็เริ่มเข้าสู่ภาวะหมดไฟ ไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ ไม่อยากทำในสิ่งที่เคยตั้งใจเอาไว้ จนในที่สุดก็ไม่บรรลุเป้าหมาย
วิธีแก้ไข
1. สำรวจภายใน ตั้งคำถามทำไป ทำไม? ทุกครั้งที่มีเป้าหมายเราต้องรู้ว่าเป้าหมายนี้ส่งผลลัพธ์อะไรกับเรา เหมาะสมกับเราจริงหรือไม่
2.ให้ความสำคัญกับกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์หรือการมีความสุขระหว่างทาง รวมไปถึงชื่นชมในความสำเร็จที่ผ่านมา
3. วางแผนเพื่อบรรลุเป้าหมาย เพื่อกำหนดว่าจุดที่จะทำให้เราหยุดหรือพอ คือจุดไหน
4. มีการยืดหยุ่นและการยอมรับตนเอง เพราะในบางเป้าหมายเราไม่สามารถทำได้เหมือนครั้งก่อน เช่น ร่างกายของเราที่จะเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ทำให้การทำงานประสิทธิภาพอาจจะลดลง
Arrival Fallacy เป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่งที่ว่าด้วย ความเข้าใจผิดที่ว่าเอาความสุขผูกไว้กับความสำเร็จ หากปล่อยไว้เป็นเวลานานย่อมส่งผลต่อสุขภาพจิตทำให้เหนื่อยล้าและหมดไฟได้ในที่สุด สำหรับการแก้ไขก็คือปรับความคิดใหม่ด้วยการไม่คิดว่าเมื่อบรรลุเป้าหมายแล้วจะมีความสุข เพราะความสุขสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
โฆษณา