20 มี.ค. เวลา 11:12 • หุ้น & เศรษฐกิจ

📌INTERVIEW: เปิดใจเลขา ก.ล.ต. EP 2 : อย่าล้อเล่นกับระบบ!! Program Trade-Short Sell

🔹ในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเด็นการขายชอร์ต (Short Selling) และการใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขาย (Program Trading) ถูกหยิบยกกันมาถกเถียงกันว่ามีส่วนทำให้ตลาดหุ้นไทยร่วงลงอย่างต่อเนื่อง และเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างนักลงทุนหรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนรายย่อย จนเป็นเหตุให้ ก.ล.ต.ได้ปรับปรุงมาตรการกำกับดูแลทั้ง Short Selling และ Program Trading วางไทม์ไลน์เปิดรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในไตรมาส 2/67 ก่อนประกาศใช้ในไตรมาส 3/67
🔹นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า มาตรการควบคุมการซื้อขาย Short selling และ Program trading เป็น 2 เรื่องที่วงการตลาดทุนติดตามอยู่ และบั่นทอนความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุนไทย โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย
🔹ก.ล.ต. มองภาพการควบคุมทั้ง 2 เรื่องใน 2 มิติ ได้แก่
1. การปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเป็นการมองตามมิติ Compliance ทั้งการ Short selling ที่มีการทำ Naked short หรือไม่ แล้ว Naked short นำพาสู่ไปการที่บางคนทำได้แล้วไม่ผิดกฎหมายหรือไม่
2. การมี Short selling และ Program trading กระทบกับความเรียบร้อยของตลาดทุนหรือไม่ ส่งผลกระทบทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ได้เปรียบ-เสียเปรียบของนักลงทุนแต่ละกลุ่มหรือไม่
🔹จากการมองใน 2 มิติ ส่งผ่านมาถึงแนวทางในการกำหนดมาตรการที่ตอบทั้ง 2 มิติว่าจะต้องเกิดการปฏิบัติตามเกณฑ์ ตามกฎหมาย และเมื่อเกิดแล้วมีการควบคุมคุณภาพของตลาดทุน
🔹มาตรการของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ออกมาในการควบคุม Short selling และ Program trading เป็นสิ่งที่ทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ และก.ล.ต. มีการหารือกัน และได้พูดคุยกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ (ASCO) รวมถึงตลาดหลักทรัพย์ก็มีผลการศึกษาโดยที่ปรึกษาจากต่างประเทศที่ได้ศึกษาดูข้อมูล ดูจากข้อเท็จจริง และเปรียบเทียบกับมาตรการสากล
🔹มาตรการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯเผยแพร่ออกมา และเป็นมาตรการที่ก.ล.ต. เห็นตรงกันที่จะต้องวางแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นอย่างเหมาะสม อย่างกรณีที่มีการเรียกร้องจากให้แบน Program trading แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และก.ล.ต. มองตรงกันว่าสิ่งที่ควรแบน คือ พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
ก.ล.ต. มีภาพที่ชัดเจนว่า ไม่ว่าคนทำหรือเครื่องทำ ถ้าไม่เหมาะสมก็ควรต้องโดนแบน ถ้าเกิดขึ้นก็ควรโดนลงโทษ ฉะนั้นก็ควรมีเครื่องมือในการป้องกันเพื่อไม่ให้พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้น
🔹เห็นได้จากตัวอย่างแนวทางที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศออกมา เช่น Resting time เมื่อใส่คำสั่งเข้าไปแล้ว ก็ต้องมีระยะเวลากำหนด ไม่ใช่ใส่แล้วถอน ใส่แล้วถอน ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่สะท้อนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น
🔹นอกจากนี้ ยังมองเรื่องของการส่งออเดอร์ เช่นกรณีของ Short selling เป็นสิ่งที่ให้ซื้อได้-ขายได้ ไม่มีหุ้นก็ยืมหุ้นมา ก็มีการกังวลว่าขายโดยไม่มีของส่งมอบ จะทำอย่างไรให้มั่นใจว่ามีของส่งมอบตามเกณฑ์ แต่ถ้าทำ Short selling มากจนกระทบต่อราคา ก็จะเป็นแนวทางที่ตลาดหลักทรัพย์และก.ล.ต. เห็นชอบตรงกันในเรื่องการใช้ Price rule กับหุ้นรายตัว
🔹จากเดิมที่ใช้ Price Rule เป็นกำหนดการทำชอร์ตเซลด้วยราคาสูงกว่าราคาครั้งสุดท้าย (Uptick Rule) ซึ่งเป็นการมอง Systemics เป็นหลัก แต่ตอนนี้เมื่อกระทบราคา จึงได้เพิ่มเกณฑ์ Market Cap เข้ามาใช้กับหุ้นรายตัว เพื่อป้องกันการทำ Short selling หุ้นขนาดเล็ก พร้อมนำเกณฑ์สภาพคล่องมาพิจารณา ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหา Program trading ได้เช่นกัน เพราะ Program trading ใช้ Algorithm ซื้อได้ขายได้ ซึ่งมาตรการควบคุมใหม่ที่ออกมาจะทำให้การใช้โปรแกรมเหล่านี้มีข้อจำกัดมากขึ้น
เรามอง Program trading เป็นรถสปอร์ต ขณะที่นักลงทุนรายย่อยเป็นรถที่เครื่องยนต์ต่ำกว่า เราออกแนวทาง และรับผิดชอบแนวทาง เราคงไม่ดึงรถสปอร์ตมาเป็นรถที่เครื่องยนต์ต่ำลง แต่ทำอย่างไรให้ไม่ว่าจะเป็นรถสปอร์ต รถเครื่องยนต์ต่ำ ถ้าทำผิดเราต้องจับได้ เอ๊ะได้ เราต้องป้องกันได้ ส่วนรายละเอียดที่ออกมาก็ได้หารือ กำลังดูกันสุดท้าย และจะมีของ ก.ล.ต.ออนท็อปเข้าไป กำกับเพิ่มเติม และ Empower นักลงทุน
พรอนงค์ บุษราตระกูล
🔹อย่างไรก็ตาม มาตรการควบคุม Program trading ให้มีข้อจำกัดมากขึ้น อาจส่งผลต่อสภาพคล่องของตลาดหุ้นไทยที่ลดลงไปบ้าง แต่อยากให้มองการลงทุนในตลาดทุนเป็นการลงทุนระยะยาว ปรับพอร์ตเมื่อ Value เปลี่ยน และสร้างความยั่งยืน ซึ่งมูลค่าการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยมาจากนักลงทุนหลากหลายกลุ่ม ทั้งต่างชาติ สถาบัน และรายย่อย ก.ล.ต.ยังเชื่อว่ามาตรการเหล่านี้จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้ง 3 กลุ่ม
🖥️ชมคลิปวิดีโอ : https://youtu.be/dVWJAY5gW2s
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์
โฆษณา