21 มี.ค. เวลา 02:53 • ความคิดเห็น

มรณานุสติ

เรื่องที่มนุษย์กลัวที่สุดตั้งแต่ไหนแต่ไรมาก็คือความตาย นับตั้งแต่มีบันทึกสมัยโบราณหลายพันปีก่อน กิลกาเมซ (gilgamesh) กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ก็พยายามหนีความตายด้วยการหาวิธีที่จะเป็นอมตะทุกรูปแบบ จิ๋นซีฮ่องเต้ก็ใช้แสนยานุภาพที่มีแสวงหายาอายุวัฒนะอย่างบ้าคลั่งเพราะไม่ต้องการเผชิญหน้ากับความตาย
แม้กระทั่งยุคสมัยนี้ biohacking ทางเทคโนโลยีก็เป็นความพยายามล่าสุดของมนุษย์ที่จะยืดอายุให้ใกล้ความเป็นอมตะให้มากที่สุดเพราะความกลัวตายนั่นเอง
ทำไมคนเรา (รวมถึงผมด้วย) ถึงกลัวตาย นอกจากจะเสียดายสิ่งที่มีในชีวิตหรือห่วงหาสิ่งที่คั่งค้างอยู่แล้ว ส่วนหลักๆส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นเพราะเราไม่รู้ว่าก่อนตายหรือก่อนสิ้นลมหายใจนั้นมันจะมีความเจ็บปวดทรมานแค่ไหน ในช่วงเวลาก่อนตายนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง พอไม่รู้และกลัวความทรมาน ความตายจึงน่ากลัว
1
การยื้อชีวิตไว้จึงเป็นเรื่องที่เราและคนที่เรารักจะต่อสู้อย่างเต็มที่ถึงแม้จะรู้ว่าเป็นวาระสุดท้ายของชีวิตก็ตาม ถ้ามีสตางค์ก็ต้องให้หมอพยายามอย่างถึงที่สุด หมอเองก็ถูกฝึกมาให้ต่อสู้กับความตาย การที่เห็นคนไข้สิ้นชีวิตต่อหน้านั้นคือความพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงของหมอ
ความคิดว่าคนไข้เสียชีวิตคือความพ่ายแพ้ของหมอนั้น ผมฟังจากคุณหมอแคทลีน แมนนิกซ์ (Cathryn Mannix) ใน ted talk ที่เล่าถึงประสบการณ์ของคุณหมอที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายและเห็นคนไข้เสียชีวิตต่อหน้าต่อตามานับพันคน คุณหมอเล่าว่าแพทย์อย่างคุณหมอนั้นถูกเทรนให้ต่อสู้กับความตาย และเมื่อความตายมาถึงโดยที่คุณหมอยื้อไม่ได้ มันเป็นเรื่องของความพ่ายแพ้ ความน่าอับอายและไม่มีใครอยากพูดถึง
คุณหมอแคทลีนเห็นคนเสียชีวิตจากหน้าที่ที่คุณหมอทำมาหลายปี มีคนเสียชีวิตทีไรก็จะหดหู่ทุกครั้ง แต่มีเหตุการณ์หนึ่งที่เปลี่ยนมุมคิดคุณหมอในเรื่องของความตายระยะสุดท้ายไปอย่างสิ้นเชิง คุณหมอเล่าว่ามีคุณยายชรามากคนหนึ่งที่มารักษาตัวที่โรงพยาบาล แล้วมีความวิตกอย่างมาก ปรับทุกข์กับพยาบาลว่ากลัวตัวเองจะตายด้วยความทุกข์ทรมาน และถ้าตัวเองตายแบบทรมาน ด้วยความเชื่อทางศาสนาของคุณยายก็จะไม่ได้ไปสวรรค์ซึ่งก็จะไม่ได้เจอสามีผู้ล่วงลับไปแล้วที่รออยู่ที่สวรรค์ คุณยายเลยเครียดและกังวลอย่างรุนแรง
พยาบาลเห็นท่าไม่ดีก็เลยมาปรึกษาหัวหน้าของคุณหมอแคทลีน หัวหน้าเลยชวนคุณหมอไปคุยกับคุณยายคนไข้กัน ในตอนนั้นคุณหมอยังอายุแค่ 26 และยังห้าวหาญอยู่มาก แต่บทสนทนาของหัวหน้าคุณหมอกับคุณยายนั้นเปลี่ยนชีวิตคุณหมอไปตลอดกาล
หัวหน้าคุณหมอเริ่มบทสนทนาถึงความกลัวตายของคุณยาย ซึ่งคุณยายที่เชื่อในตัวหมอใหญ่อยู่แล้วก็พยายามเล่าถึงความกลัวที่จะตายอย่างทุกข์ทรมาน หัวหน้าหมอก็เลยถามคุณยายว่าอยากฟังถึงวาระสุดท้ายของคนใกล้ตายหรือไม่ เผื่อฟังแล้วอาจจะสบายใจขึ้นเพราะคุณหมอเห็นความตายมาเยอะ คุณยายก็อยากฟัง
หัวหน้าหมอเล่าว่า สิ่งที่น่าสนใจอย่างแรกก็คือว่าเวลาคนใกล้ตายนั้น ไม่ว่าจะตายเพราะสาเหตุอะไร ลักษณะอาการจะเหมือนกันหมด พอใกล้วาระสุดท้าย ผู้ป่วยจะเหนื่อยหมดแรงมากขึ้นเรื่อยๆ แทบจะไม่มีพลังในการทำอะไร
1
คนใกล้ตายดูจะมีพลังงานที่เพิ่มขึ้น (recharge energy) จากการนอนมากกว่าการกิน และยิ่งเวลาผ่านไปเรื่อยๆก็จะยิ่งนอนมาก ยิ่งตื่นน้อย จะใช้แรงทำอะไรก็จะต้องงีบก่อน จนนอนยาวแทบจะไม่ค่อยมีช่วงตื่นเท่าไหร่ และพอมีคนมาเยี่ยม เราก็จะต้องปลุกผู้ป่วยที่ยิ่งทียิ่งหลับยาวขึ้นเรื่อยๆ และเอาจริงๆแล้วก็ไม่ใช่เป็นการปลุกจากการหลับด้วยซ้ำ แต่ผู้ป่วยเริ่มไม่มีสติ (unconscious) เสียมากกว่า
ยิ่งใกล้วาระสุดท้ายเท่าไหร่ มนุษย์ก็ยิ่งแทบไม่มีสติลึกมากขึ้นเท่านั้น สมองแทบไม่ทำงานแล้วยกเว้นส่วนที่ควบคุมลมหายใจ ฟังถึงตรงนี้ คุณยายก็ยิ่งฟังด้วยความสนใจ หัวหน้าคุณหมอเล่าต่ออีกว่า พอสมองไม่ทำงานยกเว้นส่วนที่ยังคุมลมหายใจ การหายใจก็จะเปลี่ยนไปมากขึ้น จากการหายใจลึกก็จะตื้นขึ้นเรื่อยๆ หายใจเร็วก็จะช้าลง มีหยุดบ้าง
ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกอะไรที่ลำคอที่หายใจออกอีกและจะมีเสียงกรนหรือเสียงที่คนที่ไม่เข้าใจจะรู้สึกว่าผู้ป่วยรำคาญ เสลดหรือน้ำลายก็จะไม่ได้ระคายเคืองอะไร จะไม่มีการไอจากผู้ป่วยเลย ลมหายใจก็จะผ่านของเหลวเหล่านี้ที่ฟังแล้วอาจจะเข้าใจผิดว่าผู้ป่วยกำลังสำลัก แต่จริงๆไม่ใช่ ผู้ป่วยไม่มีความรู้สึกมากกว่า
หัวหน้าหมอเล่าถึงวาระใกล้ลมหายใจสุดท้ายว่า พอถึงใกล้เวลานั้นจะมีลมหายใจออกแต่เริ่มจะไม่มีการหายใจเข้าอีก ไม่มีอะไรพิเศษ ไม่มีดราม่าใดๆของลมหายใจสุดท้าย ไม่เหมือนในหนังฮอลลีวู้ด ไม่มีความเจ็บปวด ไม่มีการตกใจ ไม่มีความรู้สึกที่เหมือนกำลังจะจากโลกไป ไม่มีความรู้สึกอะไรเลย คุณหมอเองก็สังเกตว่าหลายครั้งที่คุณหมอเดินไปดูผู้ป่วยที่จากไปแล้ว ครอบครัวที่นั่งเฝ้าอยู่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำ
ฟังถึงตรงนี้ คุณยายกุมมือหัวหน้าหมอแล้วยกขึ้นมาจูบเบาๆด้วยความขอบคุณ และค่อยๆหลับตาล้มตัวลงพิงหมอนด้วยความสงบและสบายใจ…
1
หลังจากฟังบทสนทนาของหัวหน้าคุณหมอกับคุณยายเรื่องวาระสุดท้ายก่อนตาย คุณหมอแคทลีนกลับมาทบทวนว่าทำไมตัวเองถึงไม่เคยสังเกตกระบวนการของวาระสุดท้ายอย่างที่หัวหน้าคุณหมอเล่าเลยแม้ว่าจะผ่านความตายมาหลายร้อยเคส
คุณหมอคิดว่าเป็นเพราะมัวแต่พยายามต่อสู้กับความตายและยื้อชีวิตผู้ป่วยจนทำให้คุณหมอไม่ทันสังเกตไป แต่มากไปกว่านั้น การที่ได้เห็นว่าเราสามารถเล่ากระบวนการตายต่อหน้าคนใกล้ตายได้ แล้วทำให้คนใกล้ตายที่กังวล กลัวและมีจินตนาการในทางร้ายนั้นสงบและเตรียมพร้อมกับความตายได้ดีขึ้น เป็นเรื่องที่เปลี่ยนกระบวนการคิดของคุณหมออย่างสิ้นเชิง และหลังจากนั้นคุณหมอก็เลยอุทิศตนทำหน้าที่ในการเล่าและอธิบายขั้นตอนของความตายได้อย่างเรียบง่ายและทำให้ผู้ป่วยใกล้ตายได้เข้าใกล้ความสงบและเตรียมตัวตายได้ดีขึ้นตั้งแต่นั้นมา
หมอเล่าว่า wisdom ของคุณย่าและบรรพบุรุษของเราที่เข้าใจเป็นอย่างดีถึงการมาถึงของความตายและสามารถรับมือกับความตายได้ดีกว่ายุคเรามาก ก็เพราะก่อนที่จะมีโรงพยาบาล ผู้ป่วยระยะสุดท้ายก่อนสิ้นใจจะอยู่ที่บ้านและถูกห้อมล้อมด้วยลูกหลานอันเป็นที่รักจนลมหายใจสุดท้าย ทุกคนที่ยังมีชีวิตจะมีโอกาสได้เห็น ได้เรียนรู้ถึงการจากไปอย่างสงบที่ไม่ได้ดราม่าเหมือนในหนังหรือในทีวี เป็น wisdom ที่ถูกถ่ายทอดมาจนถึงยุคที่มีโรงพยาบาล
1
หลังจากนั้นเราก็จะพยายามยื้อชีวิตของผู้ป่วยแม้กระทั่งถึงวาระที่ไม่มีทางยื้อได้ด้วยการปล่อยให้หมอพยายามจนวินาทีสุดท้ายที่โรงพยาบาล ไม่ใช่ที่บ้านเหมือนก่อน ทำให้ความเข้าใจเรื่องความตายนั้นน่ากลัวเกินจริงไปมาก และทำให้ความตายที่ควรจะสงบและไม่น่ากลัวอย่างที่คิดนั้นกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดไป
1
คุณหมอบอกว่าวาระสุดท้ายของคนเรานั้นไม่ควรเป็นเรื่องของการรักษาแต่เป็นเรื่องของจิตใจที่พร้อมเผชิญความตาย เราควรที่จะเข้าใจกระบวนการที่เกิดขึ้นและช่วยกันเล่า ช่วยกันประคับประคองคนที่เรารักในวาระสุดท้าย ให้เป็นวาระของครอบครัว ของส่วนตัวมากกว่าเป็นวาระของการแพทย์…. คุณหมอแคทลีนมองประเด็นเรื่องความตายในวาระสุดท้ายไว้แบบนั้น
1
วิธีคิดที่คุณหมอพยายามถ่ายทอดในมุมหนึ่งก็คือมรณานุสติหรือการระลึกถึงความตายอย่างที่ควรจะเป็นและเป็นไปตามธรรมชาติในทางพุทธ ซึ่งพอผมได้ฟังกระบวนการของการมาถึงของความตายที่ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่จินตนาการ จิตใจก็พลอยสงบขึ้น รู้สึกกลัวกับความตายน้อยลงจริงๆ อย่างที่คุณหมอแคทลีนตั้งใจจะถ่ายทอดไว้และหวังว่าผู้ที่ได้อ่านเรื่องนี้ก็จะรู้สึกสงบขึ้นกว่าเดิมเช่นเดียวกันนะครับ…
โฆษณา