แร้งทึ้ง…ที่เป็นมากกว่าพฤติกรรมการกินของแร้ง

แร้งเป็นสัตว์กินซาก เนื่องจากวิวัฒนาการทางกายภาพของแร้งมีลักษณะกรงเล็บและจะงอยปากที่ไม่ค่อยแข็งแรงมากนัก เหมาะสำหรับฉีกเนื้อสดเท่านั้น ประกอบกับระบบย่อยอาหารของแร้งมีกรดที่มีฤทธิ์รุนแรง สามารถย่อยเนื้อเน่าเปื่อยและแบคทีเรียที่ปนเปื้อนในซากสัตว์ได้
แร้งทึ้ง คือพฤติกรรมการกินที่แร้งหลายสิบตัวจะมารุมทึ้งกินซากสัตว์ โดยมีพฤติกรรมก่อนหน้าคือ บินวนไปรอบ ๆ ที่มีซากสัตว์ เพื่อรอจังหวะลงมากิน โดยอาศัยสายตาที่ยอดเยี่ยม และระบบประสาทในการดมกลิ่นที่ดี เพื่อใช้ค้นหาซากสัตว์ขณะบิน จากนั้นจะพากันลงมารุมทึ้ง และใช้จะงอยปากฉีกเนื้อออกมา
แต่ในบางสถานการณ์ แร้งอาจล่าสัตว์เอง เช่น ในกรณีที่ไม่มีซากสัตว์ให้กิน ต้องการอาหารสำหรับลูกนก ป่วยหรือบาดเจ็บ แร้งก็สามารถล่าสัตว์เองได้ แต่พฤติกรรมการล่าเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก เพราะแร้งเป็นสัตว์กินซาก จะรอคอยให้สัตว์อื่นล่าเหยื่อแล้วเข้ามากินซาก เพื่อเป็นการลดการแข่งขันและเพิ่มโอกาสในการหาอาหาร
นอกจากแร้งจะมีความสำคัญต่อระบบนิเวศแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการเป็น ‘ผู้ช่วยผู้พิทักษ์ป่า’ แจ้งเหตุการณ์หรือภัยคุกคามที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อสัตว์ป่าและระบบนิเวศในบริเวณนั้น
การที่มีซากสัตว์มากเกินจำนวนที่สัตว์กินซากจะกำจัดได้ จะยิ่งก่อให้เกิดโรคระบาด ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่สังเกตจำนวนและพฤติกรรมของแร้งนั้น จะสามารถค้นหาซากสัตว์ ช่วยควบคุมโรคระบาดได้
และที่สำคัญไปกว่านั้น การสังเกตพบความผิดปกติของจำนวนและพฤติกรรมแร้งในบริเวณหนึ่ง สามารถทำให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพื้นที่ และพบซากสัตว์ที่มนุษย์เข้าไปล่า หรือวางยาเบื่อได้ ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมได้ทันเวลาและยับยั้งการลักลอบล่าสัตว์ป่าตัวอื่นได้
แร้งบางชนิดสามารถกินซากสัตว์ใหญ่อย่าง ช้างป่า เสือ วัว หรือควายได้ การที่แร้งหายไป อาจบ่งบอกได้ว่า จำนวนสัตว์ใหญ่ในป่ากำลังลดลง! อาจเกิดจากการลักลอบล่าสัตว์ป่า การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย หรือการเกิดโรคระบาดได้ การที่สัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งหายไป อาจจะหมายถึงการล้มลงของโดมิโน ที่จะเสียหายกันเป็นทอด ๆ ระบบนิเวศเสียสมดุล และสูญเสียความหลากหลายทางธรรมชาติในที่สุด
การที่เราพบแร้ง เห็นซากสัตว์ และพบเห็นพฤติกรรมอย่าง ‘แร้งทึ้ง’ จึงเป็นมากกว่าพฤติกรรมการกินของแร้ง แต่สามารถบ่งชี้ได้ถึงสถานการณ์ของระบบนิเวศในป่า เป็นผู้ช่วยในการค้นหาภัยคุกคามต่อสัตว์ป่า เป็นผู้ปกป้องป่าและทรัพยากรธรรมชาติ การอนุรักษ์แร้งจึงมีความสำคัญต่อการรักษาสมดุลของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ
อ้างอิง
- Wandering Vultures: Understanding behaviour and space-use for conservation – Biogeography.News : https://bit.ly/42Xs6kM
- โครงการ “การฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย” : https://bit.ly/42RvSvT
โฆษณา