23 มี.ค. เวลา 09:17 • ท่องเที่ยว

"โขง" คืออะไร? รู้จักองค์ประกอบสำคัญของสถาปัตยกรรมล้านนา

บนตราสัญลักษณ์จังหวัดลำปาง เราจะเห็นสิ่งสำคัญก็คือไก่กับซุ้มประตูวัดพระธาตุลำปางหลวง แน่นอนว่าไก่เผือกคือสิ่งที่ถูกใช้ในฐานะสัญลักษณ์ประจำลำปางมาตั้งแต่สมัยกุกกุฏนคร แต่ซุ้มนี่สิ มันมีความสำคัญและน่าภาคภูมิใจเพียงใดถึงได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดกันนะ?
ซุ้มประตูแบบที่วัดพระธาตุลำปางหลวงนั้น มีศัพท์เรียกว่า “ประตูโขง” โดยที่มาของคำว่า “โขง” นี้ไม่มีปรากฏแน่ชัดว่ามาจากคำว่าอะไร ในแง่ของภาษาถิ่นล้านนาอาจจะมองว่ามาจาก “โขลง” ที่แปลว่ากลวง เหมือนช่องประตูที่ทะลุผ่านไปได้ ในขณะที่แง่ของภาษาและวรรณกรรมมองว่ามันเป็นคำที่มาคู่กับ “เขตโขง” ดังที่ปรากฏในนิราศหริภุญชัย ซึ่งตีความว่าหมายถึงเขตศาสนสถาน อย่างไรก็ดียังคงหาข้อสรุปแบบฟันธงไม่ได้จริง ๆ
ในแง่ของรูปแบบการมีซุ้มโขงนี้ สันนิษฐานว่าเป็นสิ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากโคปุระ ซึ่งพบในศาสนสถานฮินดูทั้งในอินเดียและขอม มีลักษณะยอดเป็นทรงปราสาท สื่อถึงความเกี่ยวข้องกับความสูงส่งเป็นที่อยู่ของพระเจ้า โดยเป็นคติเกี่ยวข้องกับเขาพระสุเมรุที่บนยอดเป็นวิมานพระอินทร์ หรือคติเขาไกรลาสที่บนยอดเป็นวิมานของพระอิศวร ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่รูปแบบทางสถาปัตยกรรมฮินดูนี้ได้เผยแพร่เข้ามาในสถาปัตยกรรมพุทธ โดยในล้านนานี้สันนิษฐานว่าซุ้มโขงแรกอยู่ที่พระธาตุหริภุญชัย
อย่างไรก็ดี พอโขงแบบหริภุญชัยเผยแพร่เข้ามาในเขลางค์นคร ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนให้เป็นงานสกุลช่างลำปางผ่านการยืดโขงสูงซ้อนชั้นหลายชั้น มีการย่อมุมให้เป็นย่อมุมไม้สิบสอง สถูปิกะหายไป มีการตกแต่งปูนปั้นในส่วนของผนัง, เสาขอมปากนกแล, และซุ้มโค้งอย่างวิจิตรพิศดาร ใต้ซุ้มโค้ง มีการทำเป็นรูปวงกลมมีรัศมีรายรอบ หมายถึงจักรวาลสะท้อนล้อกันไปกับคติของเขาพระสุเมรุในฐานะศูนย์กลางจักรวาล การข้ามผ่านซุ้มโขงนี้ไปก็เปรียบเสมือนกับการก้าวข้ามจากโลกภายนอก(ทางโลก)เข้าไปยังโลกภายในซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์(ทางธรรม)
คามงามของโขงศิลปะล้านนาสกุลช่างลำปางนับว่ามีความสวยงามมาก โดยที่วัดพระธาตุลำปางหลวงได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีคู่กับลำปางสืบมา และมีคุณค่าทั้งในด้านของความงาม และประวัติศาสตร์ไม่แพ้กับตัวพระธาตุลำปางหลวงเลยทีเดียว จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ซุ้มโขงดังกล่าวจะถูกยกให้เป็นของดีของสำคัญประจำจังหวัด และได้ไปอยู่บนตราประจำจังหวัดไป
#ที่โปรด #ถาปัตย์น่ารู้ #ลำปาง #ท่องเที่ยว
อ้างอิง:
อุมาพร เสริฐพรรณึก, การศึกษาประตูโขงแบบล้านนาในจังหวัดลำปาง, วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2540 เข้าถึงได้จาก https://sure.su.ac.th/xmlui/handle/123456789/2732
โฆษณา