24 มี.ค. เวลา 07:27 • ประวัติศาสตร์

• โชกุนของญี่ปุ่นมีที่มาจากไหน?

หลายคนน่าจะรู้จักโชกุน (Shogun) ในประวัติศาสตร์ ภาพยนตร์หรือซีรีส์ของญี่ปุ่น แต่อาจสงสัยว่า โชกุนมีที่มาจากอะไร แล้วเหตุใดโชกุนถึงมีอำนาจจนถึงขั้นปกครองญี่ปุ่นได้
ย้อนกลับไปปลายยุคอะสึกะ (Asuka Period 538-710) จนถึงยุคเฮอัน (Heian Period 794-1185) ญี่ปุ่นได้บุกเบิกดินแดนตอนเหนือของเกาะฮนชู ในขณะน้้นชาวญี่ปุ่นเรียกดินแดนแห่งนี้ว่า มิชิ โนะ โอกุ (Michi No Oku) ที่แปลว่า จุดสิ้นสุดของแผ่นดินหรือดินแดนลับแลสุดขอบทวีป หรือปัจจุบันคือภูมิภาคโทโฮคุ (Tohoku region)
ความพยายามในการบุกเบิกดินแดนแห่งนี้ ทำให้ชาวญี่ปุ่นต้องเผชิญหน้ากับชนพื้นเมืองที่เรียกว่า ชาวเอโซะหรือเอมิชิ (Ezo, Emichi) ที่เล่าขานกันว่า เป็นนักรบที่ดุร้ายป่าเถื่อน สัณนิษฐานว่าชาวเอโซะอาจจะเป็นเครือญาติหรือบรรพบุรุษของชาวไอนุ (Ainu) บนเกาะฮอกไกโดในปัจจุบัน
1
การเผชิญหน้ากับชาวเอโซะนำไปสู่สงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในปี 794 จักรพรรดิของญี่ปุ่นจึงแต่งตั้งขุนศึกให้ทำหน้าที่ต่อสู้กับชาวเอโซะ โดยเป็นตำแหน่งที่เรียกว่า เซอิไทโชกุน (seii taishōgun) ที่แปลว่า จอมทัพผู้ปราบคนเถื่อน ซึ่งก็คือที่มาของตำแหน่งโชกุนที่รู้จักกันในเวลาต่อมา
ท้ายที่สุดญี่ปุ่นสามารถบุกเบิกภูมิภาคโทโฮคุและปราบปรามชาวเอโซะได้สำเร็จ อย่างไรก็ตามปลายยุคเฮอัน การแย่งชิงอำนาจภายในราชสำนัก เปิดโอกาสให้ขุนศึกตามหัวเมืองต่าง ๆ สะสมกำลังและอิทธิพล
จนกระทั่งในปี 1185 ขุนศึกจากตระกูลมินาโมโตะ (Minamoto) เอาชนะตระกูลไทระ (Taira) ที่กุมอำนาจในราชสำนักตอนนั้นได้ มินาโมโตะ โยริโตโมะ (Minamoto Yoritomo) ผู้นำตระกูลมินาโมโตะได้กลายเป็นโชกุน และสถาปนารัฐบาลของโชกุนหรือบะคุฟุ (bakufu) ที่เมืองคามาคุระ
1
ในทางนิตินัย โชกุนเป็นตำแหน่งที่ถูกแต่งตั้งโดยจักรพรรดิ และอยู่ภายใต้ราชสำนัก แต่ด้วยความอ่อนแอของราชสำนัก จึงเปิดโอกาสโชกุนเป็นผู้กุมอำนาจปกครองญี่ปุ่นแทน จักรพรรดิกลายเป็นเพียงประมุขหรือสัญลักษณ์ของญี่ปุ่น และเปรียบเสมือนผู้รับรองสถานะอำนาจให้กับโชกุน
รัฐบาลโชกุนปกครองญี่ปุ่นยาวนานเกือบ 700 ปี โดยแบ่งออกเป็นสามยุคใหญ่ ๆ คือโชกุนคามาคุระ (Kamakura Shogunate 1185-1333) โชกุนอะชิกางะในยุคมุโรมาจิ (Ashikaga Shogunate 1338-1573) และโชกุนโตคุงาวะในยุคเอโดะ (Tokugawa Shogunate 1603-1868) ก่อนที่รัฐบาลโชกุนจะสิ้นสุดลงจากการปฏิรูปเมจิในศตวรรษที่ 19
อ้างอิง
• ภาสพันธ์ ปานสีดา. (2023) Barbarian Conquests ประวัติศาสตร์คนเถื่อน. สำนักพิมพ์ยิปซี
2
#HistofunDeluxe
โฆษณา