26 มี.ค. เวลา 05:30

ฝึกงาน ≠ แรงงานฟรี แล้วบริษัทควรตอบแทน อย่างไร ให้วิน-วินกับการฝึกงาน

ในช่วงวันที่ผ่านมา หลายคนคงจะเห็นกระแสดราม่าเกี่ยวกับเด็กฝึกงาน ที่ต้องทำงานให้กับบริษัทแห่งหนึ่งอย่างหนักและมีการทำงานล่วงเวลา แต่ไม่ได้รับเงินใดๆ ซึ่งประเด็นนี้ก็ทำให้มีผู้ที่แสดงความคิดเห็นมากมาย ว่าท้ายที่สุดแล้วบริษัทสมควรจ่ายค่าตอบแทน หรือมีสวัสดิการใดๆ ให้กับนักศึกษาฝึกงานหรือไม่?
ซึ่งสำหรับประเด็นนี้ ก็เป็นประเด็นที่ร้อนแรงจนเจ้าหน้าที่จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ต้องออกมาชี้แจงว่า “การที่บริษัทขนาดเล็กรับฝึกงานถึง 30 คนถือว่าไม่ปกติ และต้องมีการดูวัตถุประสงค์ให้แน่ชัด ทั้งนี้การจ่ายหรือไม่จ่ายค่าแรงไม่ใช่เรื่องผิด เพราะไม่ได้อยู่ในหลักเกณฑ์ของนายจ้าง ลูกจ้าง ตามสัญญาการจ้างงาน
ซึ่งทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ก็เคยมีหนังสือไปกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อขอความร่วมมือให้นายจ้างจ่ายค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หากมีการปฏิบัติงานเหมือนลูกจ้างทั่วไป และมีวันหยุดที่ชัดเจน”
เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงประเด็นร้อนที่ถูกพูดคุยกันในประเทศไทยเท่านั้น เพราะถ้าลองมองดูสถานการณ์การฝึกงานทั่วโลกจะพบว่ามีการถกเถียงเรื่องของการฝึกงานแบบมีค่าจ้าง (Paid Internship) และการฝึกงานแบบไม่มีค่าจ้าง (Unpaid Internship) กันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
การให้ค่าตอบแทนฝึกงาน เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าของบริษัท
ที่น่าสนใจคือ Nathan Parcells, CMO จาก InternMatch บริษัทที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อระหว่างนักศึกษาที่ต้องการฝึกงาน บัณฑิตจบใหม่ที่ต้องการทำงาน และบริษัทที่มองหาคนทำงานเข้าด้วยกัน ซึ่งบริษัทนี้ก็มีการร่วมงานในการค้นหานักศึกษาฝึกงานให้กับบริษัทมากมาย ทั้งบริษัทที่ให้ค่าตอบแทนและบริษัทที่ไม่ให้ค่าตอบแทน
จากการร่วมงานที่นับไม่ถ้วนนั้น InternMatch ก็ทำการเก็บข้อมูลของการฝึกงานไว้ด้วยกัน และพบว่าบริษัทที่จ่ายค่าตอบแทนให้กับนักศึกษาฝึกงาน มักจะได้รับประโยชน์กลับมาให้กับธุรกิจและได้รับผลกำไรที่เติบโตมากกว่าบริษัทที่ไม่ให้
[  ] อย่างแรกคือ บริษัทนั้นมักจะได้รับใบสมัครงานจากนักศึกษามากเป็น 3 เท่าของบริษัทที่ไม่ให้ค่าตอบแทน และมีโอกาสในการร่วมงานกับนักศึกษาที่มีศักยภาพในการทำงาน มีความเหมาะสมกับองค์กร และมีโอกาสทำงานกับองค์กรต่อมากกว่า
[  ] เมื่อนักศึกษาฝึกงานมีอัตราในการทำงานต่อกับองค์กรมากขึ้น นั่นหมายความว่าบริษัทจะไม่ต้องเสียต้นทุนในการค้นหาพนักงานระดับปฏิบัติการ (Junior Officer) เลย เพราะนักศึกษาฝึกงานส่วนใหญ่ที่มีคุณภาพและเข้ากับองค์กรได้ดี จะสามารถทำงานต่อในฐานะของพนักงานได้
[  ] นักศึกษาฝึกงานที่ได้รับค่าตอบแทน นอกจากจะมีคุณภาพที่มากขึ้นแล้ว ยังมีความกระตือรือร้นในการทำงานมากขึ้นด้วย ทำให้บริษัทได้งานที่มีคุณภาพมากกว่าปกติ ซึ่งคุณภาพของงานเหล่านี้ก็สามารถใช้งานจริงได้เทียบเท่ากับพนักงานประจำ
[  ] นอกจากนี้ยังมีเรื่องภาพลักษณ์ของบริษัทที่บอกต่อกันแบบปากต่อปาก เพราะเป็นที่รู้กันว่าเมื่อนักศึกษาฝึกงานจนจบแล้ว ก็จะมีการแนะนำและบอกเล่าประสบการณ์ในมหาวิทยาลัย บริษัทที่ให้ค่าตอบแทนอย่างเหมาะสมก็จะสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีกับคนรุ่นใหม่ได้ในระยะยาว
แต่ในปัจจุบัน สัดส่วนของบริษัทที่มีความสามารถในการจ่ายค่าตอบแทนให้กับนักศึกษาฝึกงานนั้นยังมีน้อยกว่าบริษัทที่ไม่สามารถจ่ายค่าตอบแทนได้ แล้วบริษัทควรให้สิ่งตอบแทนอื่นๆ ที่นอกเหนือจากค่าตอบแทนอย่างไร เพื่อให้นักศึกษารู้สึกพอใจ ไม่ถูกเอาเปรียบ และสามารถทุ่มเทเพื่อทำงานให้กับบริษัทได้อย่างเต็มที่?
ถ้าไม่มีค่าตอบแทน บริษัทควรตอบแทนอย่างไรให้ วิน-วิน
คำตอบสำหรับคำถามนี้ก็คงต้องย้อนกลับไปดูที่จุดประสงค์ของการฝึกงานใหม่อีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการทดลองทำงานก้าวแรกของนักศึกษา ก่อนที่จะออกมาสู่การทำงานจริง ซึ่งแม้ว่านักศึกษาจะไม่ได้รับทำงานต่อในสถานที่ฝึกงานแล้วก็ตาม แต่นายจ้างรายอื่นๆ ก็ต้องการดูประสบการณ์การฝึกงานในเรซูเม่ เพื่อทราบถึงศักยภาพของพนักงาน ดังนั้น นอกเหนือจากเรื่องของค่าตอบแทน นายจ้างจึงต้องมอบการฝึกงานที่มีคุณค่า ให้กับนักศึกษาเพื่อเปิดทางไปสู่การทำงานในอนาคตและทำให้การฝึกงานนี้ไม่เสียเปล่า
[  ] การสอนงานอย่างเป็นระบบ การมอบหมายงานที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมนั้นๆ เพื่อให้นักศึกษาได้ทดลองงานก่อนทำงานจริงอย่างมีประสิทธิภาพ
[  ] การเปิดโอกาสในการนำความรู้ของนักศึกษามาใช้ในการทำงานจริง ไม่ว่าจะเป็นความรู้ในชั้นเรียน หรือความรู้ที่ได้ขวนขวายเอง ซึ่งนักศึกษาควรได้สร้างผลงานจากการฝึกงานเพื่อให้สามารถนำไปใช้สมัครงานต่อไป
[  ] การเปิดโอกาสในการพบปะและสร้างเครือข่ายกับผู้เชี่ยวชาญในสายงาน
[  ] การเรียนรู้ทักษะเฉพาะด้านในสายงานและทักษะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานจริง
[  ] และรวมถึงสวัสดิการอื่นๆ ในการทำงาน เช่น อาหารและขนมฟรี ค่าเดินทาง ค่าตอบแทนเมื่อออกนอกสถานที่ คอร์สเรียนฟรี คำแนะนำเรื่องการทำงาน สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี สังคมของรุ่นพี่ในที่ทำงานที่ดี เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ควรตระหนักถึงความเหมาะสมในการมอบหมายงาน คำนึงถึงการพัฒนาบุคลากรอย่างนักศึกษาเป็นหลัก รู้จักที่จะให้และรับ ไม่หาช่องทางในการเอารัดเอาเปรียบหรือลดต้นทุนจากการรับนักศึกษาฝึกงาน ซึ่งเป็นช่องว่างทางกฎหมาย เพราะในที่สุดแล้วแม้ว่านักศึกษาจะฝึกงานในช่วงสั้นๆ แต่ชื่อเสียงของบริษัท และคุณภาพของงานที่ได้จากการฝึกงานนั้นจะยังคงอยู่ตลอดไป
อ้างอิง
แรงงานฟรี ทำล่วงเวลา? ดราม่า นศ.ฝึกงาน เทียบ ก.ม. กับความไม่ปกติ? : ไทยรัฐออนไลน์ - https://bit.ly/43AcTpN 
Paid Internships Are Vital To Student And Employer Success : Shawn VanDerziel, FORBES - https://bit.ly/49aCfM4 
A Strong Case for Why You Should Pay Your Interns : SUZANNE LUCAS, INC. - https://bit.ly/3vnQxLN
#trend
#internship
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา